ผลสะเทือนเลือกตั้งซ่อม พปชร.พ่ายรูด 3 สนาม ฝ่ายค้านตีเหล็กกำลังร้อน กดดันประยุทธ์ ยุบสภา/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ผลสะเทือนเลือกตั้งซ่อม

พปชร.พ่ายรูด 3 สนาม

ฝ่ายค้านตีเหล็กกำลังร้อน

กดดันประยุทธ์ ยุบสภา

 

ความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐในศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 9 หลักสี่-จตุจักร เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ด้วยผลคะแนนรั้งอันดับ 4 เพียง 7,906 คะแนน

ห่างไกลจากพรรคเพื่อไทยผู้ชนะอันดับ 1 ที่ได้จำนวน 29,416 คะแนน ทั้งยังเป็นรองพรรคก้าวไกล และพรรคกล้า อันดับ 2 และ 3 ที่ได้คะแนนทะลุหลัก 20,000 ด้วยกันทั้งสองพรรค

โดยเฉพาะในพื้นที่ทหารหน่วยเลือกตั้งโรงเรียนช่างฝีมือทหาร พรรคก้าวไกลสามารถกวาดคะแนนเสียงมาได้เป็นกอบเป็นกำ ตามด้วยพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคกล้า และพรรคไทยภักดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ประกาศตัวชัดเจนระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ว่าพร้อมสนับสนุนรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับได้รับคะแนนน้อยกว่า 2 พรรคฝ่ายค้านที่มีจุดยืนในเรื่องของการปฏิรูปกองทัพโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล

นอกจากนั้น ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ของพรรคพลังประชารัฐ ยังสะท้อนภาพของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ากำลังเข้าสู่ช่วงขาลงŽ เรื่อยมาจากเหตุการณ์กบฏพลังประชารัฐŽ นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ต่อเนื่องยังผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ชุมพร กับเขต 6 สงขลา จนมาถึงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม. ก็ยิ่งชัดว่าประชาชนเสียงส่วนใหญ่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์อีกแล้ว พรรคการเมืองที่มีความสัมพันธ์ หรือพรรคที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ คือพรรคที่ประชาชนไม่เลือก

ความปราชัยหมดรูปของพรรคพลังประชารัฐใน 3 สนามเลือกตั้งซ่อมล่าสุด เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเสื่อมถอยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มากที่สุดในรอบ 7 ปี

ประกอบกับปัญหารุมเร้าจากภายนอกที่ถาโถมเข้าใส่แบบรัวๆ ทั้งปัญหาโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ข้าวยากหมากแพง หมูแพง ราคาพลังงานพุ่งสูง ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหายาเสพติด ฯลฯ

รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล ตามด้วยแรงกดดันจากพรรคฝ่ายค้านที่เปิดเกมรุกทุกทิศทุกทาง

ทั้งการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ที่จะมีขึ้นวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์นี้ และการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามมาตรา 151 ในช่วงสภาเปิดสมัยประชุมหน้าเดือนพฤษภาคม

ซึ่งจะเป็นช่วงชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม. ว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ประชาชนต้องการแสดงออกว่ารัฐบาลล้มเหลว และต้องการชีวิตที่มีความหวัง มีอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน

ขอฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การพิจารณายุบสภาไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่คือการคืนอำนาจประชาชน ดังนั้น ควรคิดเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่อำนาจ อย่าเห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง

ไม่ต้องอาย ถ้าเป็นฟากฝั่งของประชาธิปไตยจะพูดว่า นี่คืออาณัติสัญญาณของฝั่งประชาธิปไตย แต่คงเอาบรรทัดฐานนี้ไปใช้กับฝ่ายยึดอำนาจได้ยากŽ

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังกล่าวฝากไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังเป็นการลงโทษจากประชาชน

ผลเลือกตั้งสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่ไม่มีแนวทางประชาธิปไตย การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นเพียงจุดเล็ก หากพรรคพลังประชารัฐยังคงดื้อดึงต่อไป อาจกลายเป็นพรรคที่มี ส.ส.ต่ำกว่า 50 คนในอนาคต

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ฝ่ายค้าน มองว่า ผลเลือกตั้งซ่อมสะท้อนชัดเจนว่าประชาชนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลชุดนี้แล้ว

ดังนั้น ควรหาทางลงโดยเร็วที่สุด สถานการณ์บ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไปยากมาก ประชาชนส่งสัญญาณหมดเวลาของรัฐบาลแล้ว และหากคิดจะทำรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองไว้ ก็จงคิดให้ดี

เพราะไม่มีอำนาจอะไรใหญ่เกินกว่าอำนาจประชาชน

ในมุมมองของพรรคเพื่อไทยต่อผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม. คือความเสื่อมถอยของพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์หมดเวลาบริหารประเทศนี้แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้บริหารต่อไป ประชาชนเอือมระอากับความล้มเหลวซ้ำซากตลอด 7 ปี ประชาชนต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาบริหารประเทศ พล.อ.ประยุทธ์อย่าได้ถ่วงการพัฒนาประเทศอีกต่อไปŽ

ควรจะยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วŽ นายพชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหารและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ระบุ

 

อีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนถึงอาการที่ไม่สู้ดีนักของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สืบอำนาจต่อจากรัฐบาลทหาร คสช. คือผลคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตของทหาร

ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร กทม. ชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่มีเหนือพรรคพลังประชารัฐในหน่วยเลือกตั้งโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ความสำเร็จในการเจาะพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อดีตหัวหน้า คสช. ที่สวมหมวกเป็น รมว.กลาโหมอีกตำแหน่ง

ความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐในหน่วยเลือกตั้งโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ถูกตีความว่าเป็นเสียงตอบรับของเจ้าหน้าที่ทหารชั้นผู้น้อย ต่อนโยบายปฏิรูปกองทัพที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล

การที่พรรคก้าวไกลชนะในพื้นที่ทหาร หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนช่างฝีมือทหารอย่างท่วมท้นกว่า 200 คะแนน ซึ่งไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินร้อยคะแนน คือสิ่งพิสูจน์ความเชื่อที่มีมาตลอดว่าเวลานี้มีทหารจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับนโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกล

พวกเขาอยากเห็นกองทัพที่สมาร์ต มีทหารอาชีพประจำการด้วยสวัสดิการที่ดี ไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารไปรับใช้นาย ทหารต้องเป็นนักรบที่มีเกียรติ ปกป้องประชาชนและประชาธิปไตยอย่างถวายดวงใจ Žร.ท.ธนเดช เพ็งสุข ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตลาดพร้าว หนึ่งในทีมหาเสียงของเพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ ระบุ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีมุมมองถึงชัยชนะครั้งนี้ว่า นโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพเป็นที่ตอบรับดีมาก เห็นได้จากคะแนนเสียงในค่ายทหาร

หากเปรียบเทียบการเลือกตั้งปี 2562 หน่วยเลือกตั้งกรมยุทธโยธาทหารบก และหน่วยเลือกตั้งโรงเรียนช่างฝีมือทหาร พรรคได้เพียง 26 เปอร์เซ็นต์ แต่ครั้งนี้เพิ่มเป็น 35 เปอร์เซ็นต์

แสดงให้เห็นว่าทหารเห็นด้วยกับสิ่งที่เราจะทำให้กองทัพทันสมัย เป็นทหารมืออาชีพ ชีวิตทหารชั้นผู้น้อยดีขึ้น

ด้านนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สิ่งที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษคือคะแนนในเขตทหาร ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ผลักดันมาตลอดกำลังพลเห็นด้วย และยอมรับ นี่คือชัยชนะหนึ่งที่กำลังบอกว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามปักธงทางความคิด อย่างน้อยมีกำลังพลให้การสนับสนุน

เชื่อว่าเสียงโหวตในค่ายทหารรอบนี้จะสามารถต่อยอดถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นักวิเคราะห์การเมืองจะมองว่า ความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐในสนามเลือกตั้งซ่อมล่าสุด คือกระจกสะท้อนถึงอาการขาลงของพรรคพลังประชารัฐ รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่บรรดาแกนนำพรรคพลังประชารัฐกลับมองต่างออกไป

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รักษาการเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธว่า ผลเลือกตั้งซ่อมที่พรรคแพ้รวดถึง 3 สนามติดต่อกัน ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นช่วงขาลงของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผอ.การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่-จตุจักร เชื่อว่าสาเหตุความพ่ายแพ้ส่วนหนึ่งมาจากกระแสคนกรุงเทพฯ เบื่อหน่ายความขัดแย้งภายในพรรคที่มีต้นกำเนิดจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ด้านนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยกว่าครั้งที่แล้ว จาก 70 เปอร์เซ็นต์ ลดเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์

ไม่ทราบว่าส่วนที่ขาดหายไปนั้น เป็นคะแนนของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่Ž

ผลเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้นำมาสู่ข้อวิเคราะห์ต่างๆ มากมายถึงจุดอ่อน-จุดเข็ง ข้อเด่น-ข้อด้อยของแต่ละพรรค

อย่างพรรคเพื่อไทยถึงจะชนะ แต่ยังไม่ใช่แลนด์สไลด์Ž ก้าวไกลเริ่มเห็นช่องเจาะคะแนนเสียงในเขตทหาร พรรคกล้าได้เกิน 2 หมื่นคะแนน ถือว่าไม่ธรรมดา ไทยภักดีได้เกือบ 6 พันคะแนน น่าพอใจสำหรับพรรคน้องใหม่ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แต่ละพรรคต้องนำกลับไปศึกษาแก้ไข ปรับปรุง ต่อยอด

แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐดูเหมือนจะยังจับต้นชนปลายไม่ถูก

 

ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศตารางคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วทั้งหมด 400 เขต แยกเป็น กทม.-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก รวม 27 จังหวัด 139 ที่นั่ง ภาคอีสาน 20 จังหวัด 132 ที่นั่ง ภาคเหนือ 16 จังหวัด 71 ที่นั่ง ภาคใต้ 14 จังหวัด 58 ที่นั่ง

จะเหลือก็แต่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ซึ่งตามไทม์ไลน์รัฐบาล จะเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาให้เสร็จสิ้นช่วงเดือนเมษายน 2565 และประกาศใช้ช่วงเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์ดังกล่าวถูกวางไว้ก่อนเกิดกรณีพรรคพลังประชารัฐแพ้เลือกตั้งซ่อมใน 3 เขต ที่ถึงแม้พรรคฝ่ายค้านต้องการตีเหล็กตอนกำลังร้อน ขยายผลกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจยุบสภา เลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากตามปกติคนเป็นนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจยุบสภา ต่อเมื่อประเมินแล้วว่าพรรคที่สนับสนุนตนเองกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นŽ และเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่

ภายใต้รูปเกมเช่นนี้ก็ต้องจับตาว่า ระหว่างฝ่ายหนึ่งเร่งŽ กับฝ่ายหนึ่งยื้อŽ ใครจะอ่อนแรงก่อนกัน