ถอดบทเรียน การเลือกตั้งซ่อม เขต 9 จตุจักร หลักสี่/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ถอดบทเรียน

การเลือกตั้งซ่อม เขต 9 จตุจักร หลักสี่

 

ผลการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 9 จตุจักร (เฉพาะแขวงลาดยาว เสนานิคม และจันทรเกษม) และหลักสี่ (ประกอบด้วยแขวงทุ่งสองห้อง และตลาดบางเขน) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ.2565 ที่ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง มีคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยพรรคก้าวไกล พรรคกล้า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยภักดี ได้บ่งบอกอะไรถึงพัฒนาการของพรรคการเมืองและอนาคตทางการเมืองไทยบ้าง

เป็นการแจ้งเกิดของพรรคการเมืองใหม่ 2 พรรค คือ พรรคกล้าและพรรคไทยภักดี ได้หรือไม่

และคะแนนของพรรคพลังประชารัฐที่ตกลงมาเป็นอันดับสี่ ได้คะแนนไม่ถึงหมื่นคะแนนนั้น บอกอะไรในทางการเมืองบ้าง

 

1.คะแนนผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ (ณ เวลา 22.00 น. วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2565)

จากการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏคะแนนของผู้สมัครที่ได้คะแนนเรียงตามอันดับ

ตามตาราง

2.การเพิ่มขึ้นของคะแนนฝ่ายเสรีนิยม

หากนำการเลือกตั้ง 2 ครั้ง คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ กับการเลือกตั้งทั่วไปของเขตเลือกตั้งที่ 9 กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 มาเปรียบเทียบกัน

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อนำคะแนนของพรรคฝ่ายเสรีนิยม คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมารวมกัน จะคิดเป็นร้อยละ 58.92

ในขณะที่หากนำคะแนนของพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม คือพรรคกล้า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยภักดี มารวมกัน คิดเป็นร้อยละ 40.18 หรือคิดเป็นจำนวนง่ายๆ คือ 60 : 40

ในขณะที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 สัดส่วนของฝ่ายเสรีนิยมที่นำคะแนนของพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่มารวมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมที่นำคะแนนจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์มารวมกัน จะมีสัดส่วนคะแนนประมาณ 53 : 47

การเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53 เป็นร้อยละ 60 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนว่า พลังของกระแสเสรีนิยมนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

อาจเป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ (New Voters) ที่มีแนวโน้มเป็นเสรีนิยมในขณะที่ผู้สูงอายุที่เป็นอนุรักษนิยมเริ่มล้มหายตายจาก หรืออายุมากจนไม่อยากออกจากบ้านในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หรืออาจเป็นเพราะการขยายตัวของเมือง ที่ทำให้ชนชั้นกลางเข้าไปมีที่อยู่อาศัยในรูปคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มดังกล่าวจะมีทัศนคติในการเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระ ไม่ผูกติดกับผู้สมัครหน้าเดิม หรือพรรคการเมืองเดิมใดๆ อีก

หรือเป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของทัศนคติที่ไม่พอใจต่อการบริหารประเทศที่ฝ่ายอนุรักษ์เป็นผู้มีอำนาจปกครองประเทศแบบผูกขาดมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เป็นเวลากว่า 7 ปีที่ประชาชนเห็นว่า สมควรมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

 

3.การกำเนิดของพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้

พรรคการเมือง 2 พรรค ที่เพิ่งก่อตั้งและส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกคือ พรรคกล้า ที่มีนายกรณ์ จาติกวณิช ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 และพรรคไทยภักดี ที่มี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นหัวหน้าพรรค ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2564

แม้ว่าจะเป็นพรรคที่ตั้งใหม่ แต่กลับได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่น้อย คือ พรรคกล้าได้คะแนนเป็นอันดับที่สาม ถึง 20,047 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.73 ในขณะที่พรรคไทยภักดี ได้อันดับที่ห้า ด้วยคะแนน 5,987 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.09 น้อยกว่าพรรคดั้งเดิมอย่างพลังประชารัฐเพียงไม่ถึงสองพันคะแนน

หากมองในฐานะพรรคการเมืองตั้งใหม่ แม้ว่าจะไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จไม่น้อย เนื่องจากสามารถทำให้ประชาชนรวมประมาณร้อยละ 30 ตัดสินใจลงคะแนนให้

แต่หากวิเคราะห์ลงในรายละเอียดของจุดยืน อุดมการณ์ แนวทางของพรรค จะเห็นได้ว่าทั้งสองพรรคมีแนวทางอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน โดยพรรคไทยภักดีประกาศจุดยืนเป็นพรรคอนุรักษ์ที่แข็งแกร่ง หรือเรียกได้ว่าเป็นขวาสุดโต่ง ในขณะที่พรรคกล้าแม้มีความเป็นอนุรักษนิยม แต่มีการเจือของบุคลากรพรรคที่เป็นนักธุรกิจสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จ เป็นขวากลางที่มีความทันสมัยและยอมรับการเปลี่ยนแปลงมากกว่า

ทั้งสองพรรคมีผู้นำพรรค แยกตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์เดิม ที่มีฐานะคะแนนเสียงในพื้นที่เขตเลือกตั้งนี้ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นพรรคใหม่เต็มปากเต็มคำนัก โดยเฉพาะพรรคกล้าที่มีผู้สมัครเป็นอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตจตุจักรมาก่อน

แต่คะแนนรวมของสองพรรคนี้ ก็เป็นการสะท้อนการคงอยู่ของฝ่ายอนุรักษ์ ที่เปลี่ยนใจจากการสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และไม่มีตัวเลือกจากพรรคประชาธิปัตย์เนื่องจากไม่ส่งผู้สมัครลง หันมาเลือกพรรคในปีกอนุรักษนิยมสองพรรคนี้แทน

 

4.การเสื่อมถอยของพรรคพลังประชารัฐ?

คะแนน 7,906 คะแนน ที่ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐได้รับในการเลือกตั้งครั้งนี้ เทียบกับ 34,907 คะแนนที่พรรคได้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 เป็นการลดลงเกือบ 5 เท่าตัว อาจไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเสื่อมถอยของความนิยมในพรรคพลังประชารัฐทั้งหมดได้

อาจเป็นเรื่องปัจจัยด้านผู้สมัคร ที่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผู้สมัครของพรรคอื่นแล้วมีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคกล้า ที่ส่งอดีต ส.ส.ที่คุ้นเคยกับพื้นที่ลงสมัคร หรือพรรคก้าวไกลที่ส่งบุคคลสาธารณะที่ประชาชนและสื่อมีความคุ้นเคยลง

อาจเป็นจังหวะเวลาที่พรรคประสบปัญหาภายในจากการแยกตัวของแกนหลักภายในพรรคไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ด้วยกระบวนการใช้มติพรรคขับออก ทำให้พรรคมีความอ่อนแอชั่วขณะ และประชาชนเห็นว่าพรรคมีความไม่ลงรอยกันภายใน

หรืออาจเป็นคะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่พรรคชูในการเลือกตั้งมาโดยตลอดมีความเสื่อมถอยลง จึงทำให้คะแนนของพรรคเป็นคะแนนที่ตกต่ำลงจากเดิมอย่างน่าใจหาย

 

5.บทเรียนสำหรับพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคต

ประการแรก พรรคใหม่ พรรคเก่า พรรคใหญ่ พรรคเล็ก มีโอกาสชนะหรือแพ้ในการเลือกตั้งได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องวางตำแหน่งของพรรค (Position) ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยในเรื่องนโยบายของพรรค กลับมีความสำคัญน้อยกว่าอุดมการณ์ จุดยืนทางการเมืองพรรค เนื่องจากนโยบายแม้จะเขียนให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้ แต่ประชาชนไม่รู้สึกแตกต่าง ในขณะที่อุดมการณ์ จุดยืนพรรคพิสูจน์ได้จากกระทำของพรรคในเวลาที่ผ่านมา

ประการที่สอง การพัฒนาของกระแสเสรีนิยมมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ในแต่ละปี และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกันกระแสความคิดแบบสุดโต่ง เช่น ซ้ายสุดโต่ง หรือขวาสุดโต่ง อาจได้รับความนิยมในกลุ่มพวกเดียวกัน แต่ไม่มากพอที่จะชนะการเลือกตั้ง

ประการที่สาม ตัวบุคคลที่จะชูเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มีความสำคัญยิ่ง ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังเขียนให้พรรคสามารถเสนอบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองให้ประชาชนรู้ก่อนเลือกตั้ง โดยจะมีผลต่อการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

ประการที่สี่ การคัดเลือกตัวผู้สมัครในแต่ละเขตมีความสำคัญ อย่าคิดเพียงหวังกระแสของพรรค ตัวผู้สมัครต้องมีความโดดเด่นในตัวเองด้วย มีความรู้ความสามารถ อย่าคิดเพียงเป็นญาติหรือนามสกุลเดียวกับนักการเมืองเก่า หรือคิดเพียงมีเสื้อคลุมในนามพรรคเท่านั้น

แม้ผลการเลือกตั้งซ่อม ที่เขตเลือกตั้งที่ 9 จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ พื้นที่หนึ่ง เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ แต่สร้างผลสะเทือนทางการเมืองแล้ว