อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ

“เดิมแผ่นดินเมืองจีนทั้งปวงนั้นเป็นสุขมาช้านานแล้วก็เป็นศึก
ครั้นศึกสงบแล้วก็เป็นสุข”
-สามก๊ก-
ฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน

ช่วงเวลาเกือบห้าสิบปีหลังการปฏิวัติซินไห่ ที่ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบจักรพรรดิสู่การเป็นประเทศภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น (1911-1949) เป็นช่วงเวลาอันน่าตื่นตะลึงที่สุดในความคิดของผม

มีเหตุการณ์จำนวนมากเกิดขึ้นและจบลง
มีตัวละครจำนวนมากปรากฏขึ้นและจากไป
มีเลือดและน้ำตา
มีความอดอยากและความหิวโหย
มีการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกและกองทัพญี่ปุ่น
มีการผูกมิตรและหักหลัง
มีความรักที่ข้ามเพศและเผ่าพันธุ์
มีเสียงดนตรีและเสียงร่ำไห้
มีชัยชนะและความพ่ายแพ้
มีผู้กลับคืนสู่บัลลังก์และจบลงที่เรือนจำ
มีผู้ต้องเดินเท้านับพันกิโลเมตรและกลายเป็นบุคคลในตำนาน
มีผู้ครอบครองเงินตราที่มากมายและกลายเป็นผู้ยากไร้
มีการข่มขืนที่กลายเป็นตราบาป
มีผู้ที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์มและกลายเป็นภาพที่ไม่มีใครลืมเลือน
มีเพลงที่อ่อนหวานและกลายเป็นเพลงเศร้า

เราอาจพูดถึงยุคสมัยที่กินเวลาเพียงห้าสิบปีนี้ได้ร้อยแปดพันเก้า ราวกับสายน้ำย่อยที่แยกออกจากแม่น้ำฮวงโห

เราอาจพูดถึงบุคคลเหล่านี้ได้นับเป็นพันๆ ที่แยกออกจากปานกู่-มนุษย์คนแรกในตำนานปกรณัมบนแผ่นดินจีน

แต่เราก็คงทำได้เพียงจำลองภาพเหตุการณ์เพียงเลาๆ ไม่มีทางใดเลยที่จะเล่าทุกอย่างได้หมดจดครบถ้วน ช่วงเวลาเพียงห้าสิบปีนี้เป็นดังหลุมดำมืดในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ที่กลืนกินทุกอย่างลงไป

และปลดปล่อยออกมาเพียงสิ่งที่เราสัมผัสได้เท่านั้นเอง


กระนั้นการขุดดิ่งลงไปในหลุมดำก็มีอะไรน่าอภิรมย์ไม่น้อย

ผมนั่งทบทวนว่าช่วงเวลาเพียงห้าสิบปีที่ว่ามีหลายสถานที่ได้กลายเป็นตำนาน

นานกิงที่โชกด้วยประวัติศาสตร์เลือด

เกาะฮ่องกงที่กลายเป็นที่ลี้ภัยของเหล่าเศรษฐี

แมนจูเรียที่เป็นดินแดนเชิดสุดท้ายของระบอบจักรพรรดิจีน

หรือปักกิ่งที่กลายเป็นเมืองร้างหลังการล่มสลายของราชวงศ์เช็ง

แต่ในเมืองเหล่านั้น มีหนึ่งเมืองที่โดดเด่นออกมาอย่างชัดเจน ไม่มีหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจีนในช่วงนั้นเล่มใดที่ละเลยชื่อเมืองนี้เสียได้ ไม่มีผู้รอดพ้นจากเหตุการณ์ยุคนั้นคนใดจะหลงลืมชื่อเมืองนี้เสียได้ และไม่มีคนที่ศึกษาเรื่องราวในยุคนั้นคนใดจะไม่เพ้อถึงชื่อของเมืองนี้

 

เซี่ยงไฮ้ หรือ ซานไห่

ทุกครั้งที่ผมหยิบหนังสือหรือชมภาพยนตร์หรือฟังเพลงจากยุคสมัยที่ว่า ผมจะรู้สึกว่ายุคสมัยนั้นยังมิได้จบลง วิธีการร้องเพลงแบบในคลับเซี่ยงไฮ้ยังกลายเป็นต้นแบบของการร้องเพลงจีนในยุคสมัยนี้

ภาพยนตร์เงียบของเซี่ยงไฮ้ยังคงเป็นแม่แบบของภาพยนตร์รักหักสวาทในยุคนี้

วิธีการดำเนินกิจการใต้ดินของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ยังเป็นแนวปฏิบัติของพวกนอกกฎหมายในปัจจุบัน

ไม่นับวิถีของดนตรีแจ๊ซที่ถูกนำเข้ามาเซี่ยงไฮ้เป็นที่แรกในประเทศจริง

เขตปลอดสงครามสำหรับพลเรือนที่ถูกคิดค้นขึ้นในเซี่ยงไฮ้ยังคงถูกนำไปปฏิบัติหลายแห่งทั่วโลกแม้บัดนี้

สิ่งใดอีกเล่า ปูขนจากแม่น้ำฮวงพู่ยังคงมีขายทั่วโลกเมื่อถึงหน้าของมัน กี่เพ้าหรือฉ่งซำที่ใส่อย่างแพร่หลายในเซี่ยงไฮ้ยังมีให้เห็นเมื่อถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวจีนทั่วโลก เซี่ยงไฮ้ เซี่ยงไฮ้และเซี่ยงไฮ้ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นปารีสตะวันออก เป็นไข่มุกเม็ดงามแห่งเอเชีย

เมืองที่ไม่มีเมืองใดเสมอเหมือน

 

อย่างไรก็ตาม เซี่ยงไฮ้จะเป็นตำนานไม่ได้เลยหากปราศจากคนที่ช่วยสร้างประวัติศาสตร์นั้น

บางคนก็ยังเป็นที่จดจำ อาทิ ดู ยู่ เช็ง เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้แห่งแก๊งเขียวหรือ Green Gang ที่เป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้อันโด่งดัง

หรือ โยชิโกะ ยาวากูจิ ที่เรารู้จักกันในนามของ หลี่ เซียง หลาน นักร้องชาวญี่ปุ่นที่เกิดในประเทศจีนและเป็นเจ้าของเสียงร้องอันอมตะ

หยวน หลิง อี้ ดาราแห่งยุคภาพยนตร์เงียบที่ในงานศพของเธอมีผู้คนเข้าแถวร่วมไว้อาลัยมากมายจนอยู่ในสถิติโลก ไต้ ลี่ จารชนคู่ใจของ เจียง ไค เช็ก ผู้ที่หากเครื่องบินของเขาไม่ตกลงจนเขาต้องจากโลกนี้ไป (ซึ่ง ณ บัดนี้ก็ยังมีการสงสัยถึงที่มาการตายของเขา) การสงครามในจีนอาจพลิกผันเป็นอีกแบบก็เป็นได้ บาทหลวงจาร์คิโน่ต์ ผู้ที่แม้จะไม่สามารถปกป้องแขนของเขาทั้งคู่จนไว้ได้จนเหลือแขนซ้ายเพียงแขนเดียว แต่ท่านกลับปกป้องชีวิตจากสงครามได้นับพันนับหมื่นคน

และอีกหลายต่อหลายคนที่ถูกลืมเลือน เช่น ไวลี่ย์ สมิธ นักดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกันที่เป็นผู้บุกเบิกดนตรีแจ๊ซในเซี่ยงไฮ้ หรือ มู สือ อิง นักเขียนสไตล์สมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากฟิตซ์เจอรัลด์และกำลังโด่งดังก่อนจะถูกฆาตกรรมที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1940 หรือ หยาง เสี่ยง หลง นักว่ายน้ำที่ก้าวไปท้าชิงเหรียญทองที่เยอรมนีโอลิมปิกในปี 1934

บุคคลทั้งหลายเหล่านี้ถักทอเรื่องราวจำนวนมากมายให้แก่เซี่ยงไฮ้ บ้างก็เป็นมิตรสหาย บ้างก็เป็นศัตรู บ้างเป็นคู่รัก บ้างเป็นคู่แค้น การเขียนถึงบุคคลหลังฉากเหล่านี้เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงความเป็นไปของเซี่ยงไฮ้จึงเป็นเรื่องที่ชวนให้ตื่นเต้นและท้าทายอย่างยิ่งยวด

และทำให้ผมตัดสินใจฝ่าหลุมดำนำผู้คนเหล่านี้ออกจากเงามืดมาเขียนถึง

ลำดับความสำคัญของแต่ละบุคคลต่อไปนี้นั้นไม่ได้เป็นไปตามกาลเวลา หากแต่เป็นไปตามความรู้สึกเชิงโศกนาฏกรรมที่ผมมีต่อแต่ละบุคคลนั่นเอง

เริ่มต้นที่ผู้สูงศักดิ์


อ้ายซิน เจียหลอ เสียนอี๋
หรือ โยชิโกะ คาวาชิม่า (1907-1948)

เช้าวันที่ 25 มีนาคม 1948 อ้ายชิน เจียหลอ เสียนอี๋ เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์เช็ง หรือ โยชิโกะ คาวาชิม่า พลเมืองญี่ปุ่น เดินออกมาจากที่คุมขังของเธอก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เธอร้องขอชุดคลุมสีขาวแบบญี่ปุ่นสำหรับวันสุดท้ายในชีวิตของเธอ

แต่คำร้องขอนั้นได้รับการปฏิเสธ เมื่อเธอถูกนำตัวไปยังลานโล่งในคุกประจำเมืองปักกิ่ง

ข้อหาของเธอก็ถูกสรุปพร้อมทั้งมีการยืนยันความเป็นตัวเธอที่แท้จริง โยชิโกะ คาวาชิม่า คุกเข่าลงอย่างช้า และเพียงครู่กระสุนนัดหนึ่งก็ถูกยิงเข้าที่ท้ายทอยของเธอ รายงานหลังจากนั้นแจ้งว่าเธอสิ้นใจในทันที

แต่นั่นคือรายงาน

จนปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีความเชื่อว่า อ้ายชิง เจียหลอ เสียนอี๋ หรือ โยชิโกะ คาวาชิม่า ไม่ได้จากโลกนี้ไปในวันนั้น ด้วยสถานภาพอันสูงส่งของเธอ รวมถึงสายสัมพันธ์อันดีที่เธอมีต่อทั้งกองทัพจีนและกองทัพญี่ปุ่นทำให้มีการจัดฉากประหารชีวิตนักโทษคนอื่นในชื่อของเธอแทน แม้ว่าโทษของเธอจะหนักหนาสาหัสถึงเพียงใดก็ตามที

โทษของ โยชิโกะ คาวาชิม่า นั้น จากจดหมายที่เธอมีถึงญาติและเพื่อนสนิทก็คือ

“ศาลกล่าวหาว่าฉันเป็นจารชนคนสำคัญ ฉันมีความพยายามจะใช้อำนาจจากกองทัพญี่ปุ่นผลักดันให้ราชวงศ์เช็งฟื้นคืนมาอีกครั้ง ศาลบอกว่าฉันขายประเทศจีนให้กับศัตรู พวกเขาคงสั่งประหารชีวิตฉันแน่ ฉันรู้สึกได้ แต่ฉันก็อยากขอบคุณพวกเขาที่คิดว่าฉันเป็นคนที่มีความสำคัญขนาดนั้น ขอหลักฐานที่ว่าฉันเป็นคนสำคัญแบบนั้นให้ดูหน่อยได้ไหม ซึ่งไม่มี นั่นแหละฉันว่าสิ่งที่ฉันเจอเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อกำจัดฉันเท่านั้นเอง”

เช้าวันนั้นมีนักข่าวต่างชาติสองคนได้รับอนุญาตให้ทำข่าวการประหารชีวิตของเธอ แต่พวกเขาก็ไม่รู้อะไรมากพอจะยืนยันได้ว่าผู้ที่ถูกสังหารคือคาวาชิม่าหรือไม่

นักข่าวจีนถูกห้ามมิให้ทำข่าวซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าหากรัฐบาลในขณะนั้นไม่มีอะไรต้องปกปิด ทำไมจึงไม่ยินยอมให้นักข่าวเข้าไปชันสูตรและเก็บภาพหลังการประหาร

รวมทั้งหลังจากนั้นไม่นานนักมีหญิงสาวคนหนึ่งให้ข่าวว่าผู้ที่ตายในวันนั้นคือน้องสาวของเธอเอง ครอบครัวของเธอได้รับเงินว่าจ้างจำนวนมากสำหรับการเปลี่ยนตัว

เงินนั้นถูกแบ่งจ่ายเป็นสองส่วนคือก่อนและหลังเหตุการณ์ ทว่า เงินก้อนหลังนั้นไม่มาถึงมือของครอบครัวผู้ตายเลย


โยชิโกะ คาวาชิม่า ที่ได้รับสมญานามว่า มาตา ฮารี แห่งโลกตะวันออก (Mata Hari of the East) หรือ โจน ออฟ อาร์ก แห่งแมนจู (Joan of Arc of the Manchus) จะเสียชีวิตง่ายดายเช่นนี้กระนั้นหรือ ยากจะปักใจเชื่อ ข่าวลือว่ามีคนเห็นเธอควบม้าอยู่ในมองโกเลียและเกาหลี

สำนักข่าวบางสำนักข่าวในปัจจุบันอ้างว่าเธอมีชีวิตอยู่ที่ชางชุน เมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่เธอเคยพำนักมาก่อนจนถึงปี 1978 ด้วยซ้ำไป

แต่ไม่ว่า โยชิโกะ คาวาชิม่า จะเสียชีวิตในวันนั้นหรือหลังจากนั้น ชีวิตของเธอก็คือตำนานอยู่ดี อ้ายชิน เจียหลอ เสียนอี๋ เป็นบุตรีคนที่สิบสี่ในจำนวนสามสิบแปดคนของเจ้าชายซูแห่งราชวงศ์เช็ง หลังการล่มสลายของราชวงศ์เช็งในปี 1912 พ่อของเธอไม่เคยหยุดยั้งการพยายามกอบกู้บัลลังก์คืนมา การมีทายาทจำนวนมากทำให้เขาตัดสินใจใช้ทายาทตนเองให้เป็นประโยชน์ด้วยการยกเป็นบุตรบุญธรรมให้กับผู้ที่คิดว่าจะมีอำนาจต่อไปในอนาคต

ปี 1915 เด็กหญิง อ้ายซิน เจียหลอ เสียนอี๋ ถูกส่งจากลูชุนบ้านเกิดของเธอไปยังโตเกียวให้กับเพื่อนของผู้เป็นบิดานามว่า นานิวะ คาวาชิม่า ครอบครัวของคาวาชิม่าอ้างว่าพวกเขาไม่มีทายาทและทำให้เจ้าชายซูผู้มีทายาทมากเห็นใจ นานิวะเล่าว่าเจ้าชายซูส่งข่าวมาให้เขาว่า “จะส่งของเล่นที่มีชีวิตมาให้”

น้องชายของโยชิโกะเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่เธอถูกส่งตัวไปญี่ปุ่นไว้ว่า

“โยชิโกะขึ้นไปที่ห้องของพ่อเพื่อกล่าวคำอำลา เธอสวมใส่อาภรณ์แบบคนจีนแมนจูและผูกโบเล็กๆ ไว้ที่ศีรษะ ก่อนจะร้องไห้พร้อมกับพูดว่า “พ่อ ฉันไม่อยากไปญี่ปุ่น”

แม่ของโยชิโกะแลเห็นลูกสาวร่ำไห้เช่นนั้นก็ปลอบเพียงว่า “เป็นเด็กดีนะลูก อย่าร้องไห้เลย”

รถม้าและขบวนรถขนสัมภาระมาถึง ทุกคนในครอบครัวมาส่งโยชิโกะ น้องชายของเธอเล่าว่าวันนั้นแม่แสดงความโศกเศร้าอย่างเห็นได้ชัดออกมาตลอดวัน ทว่า สำหรับโยชิโกะแล้ว เธอกลับจำเหตุการณ์วันนั้นไม่ได้เลย

เธอเล่าเพียงว่า

“มีวันหนึ่งที่ฉันหลับไปในบ้านของพ่อที่ลูชุน และพบว่าตนเองตื่นขึ้นที่บ้านอีกหลังในโตเกียว การที่ฉันมาถึงที่นั่นได้อย่างไรนั้น ฉันไม่รู้เลย”