พระถังซำจั๋ง รู้จัก ‘ทวารวดี’ ในเอกสารจีนแพร่หลายสู่สากล | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระถังซำจั๋งผู้บันทึกเอกสารจีนเป็นหลักฐานชุดแรกสุดบอกเรื่อง “โตโลโปตี” ที่ต่อมามีนักค้นคว้าถอดความตรงกับ “ทวารวดี” เป็นชื่อรัฐเก่าแก่แห่งหนึ่งในดินแดนประเทศไทย แล้วถูกเผยแพร่สู่สากล

โตโลโปตีหรือทวารวดีในบันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง โดยสรุปตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับ “อิซางป๋อหลอ” หรือ “อิศานปุระ” ซึ่งเป็นรัฐเก่าแก่ในกัมพูชา ดังนี้เท่ากับโตโลโปตีหรือทวารวดีอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ทิศทางที่ตั้งของโตโลโปตีหรือทวารวดีซึ่งระบุชัดเจนในบันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง เป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งที่นักค้นคว้า, นักวิชาการ, นักโบราณคดี ฯลฯ ต้องรักษาไว้ให้มั่นคงโดยไม่ถอยห่างหรือทิ้งขว้างไป

 

บันทึกของพระถังซำจั๋ง

พระถังซำจั๋งเป็นภิกษุจีนออกจาริกแสวงบุญจากจีนไปอินเดียทางบกตามเส้นทางสายไหมผ่านเอเชียกลาง ระหว่าง พ.ศ.1170-1188 เขียนบันทึกเล่าการเดินทางคราวนี้ว่ามีบ้านเมืองชื่อต่างๆ จำนวนหนึ่งซึ่งรู้จากคำบอกเล่าของคนอื่นโดยพระถังซำจั๋งไม่ได้เห็นด้วยตนเอง

บันทึกพระถังซำจั๋งมีตอนหนึ่งกล่าวถึงบ้านเมืองตามแนวราบ (เส้นแวง) เดียวกัน หรือระนาบใกล้เคียงกันเรียงตามลำดับ เริ่มจากชมพูทวีป (หมายถึงอินเดียและบังกลาเทศ) ไปทางทิศตะวันออก ถึงพม่า, ไทย, กัมพูชา, เวียดนาม สุดฝั่งทะเลสมุทร

ต่อมานักค้นคว้าชาวอังกฤษชื่อ ซามูเอล บีล แปลบันทึกจีนของพระถังซำจั๋งจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะคัดตัดตอนเฉพาะที่กล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆ ดังนี้

“เดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังชายขอบของมหาสมุทร เราจะมาถึงอาณาจักร (kingdom) ศรีเกษตร (ชิลิฉาตาหลอ) ไกลออกไปจากนั้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชายฝั่งของมหาสมุทร เราจะมาถึงประเทศ (country) กามลังกา (เกียโมลังเกีย) ห่างออกไปทางทิศตะวันออกจะเป็นอาณาจักรแห่งทวารวดี (โถโลโปติ) ทางทิศตะวันออกต่อไปเป็นประเทศแห่งอิศานปุระ (อิซางป๋อหลอ) และไกลทางทิศตะวันออกต่อไปจะเป็นประเทศแห่งมหาจามปา (โมโหเฉนโป) ซึ่งก็คือหลินอี้ ถัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นประเทศที่ชื่อว่ายามนทวีป (ยา วนทวีป, เยนเนียวนาฉือ) ทั้ง 6 ประเทศนี้ ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาและแม่น้ำที่ไม่อาจเข้าถึงได้ แต่ขอบเขต, ลักษณะของผู้คน และประเทศสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการสอบถาม”

[ข้อความเกี่ยวกับทวารวดีจากบันทึกของพระถังซำจั๋ง แปลจากภาษาจีนโดย ซามูเอล บีล (Samuel Beal) ใน Si-Yu-ki Buddhist Records of the Western World. Translated from the Chinese of Hiuen Tsiang (A.D, 629) Vol.II หน้า 199-200 พิมพ์โดย Tr?bner & Co., Ludgate Hill กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427) แปลเป็นภาษาไทยโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ]

 

โตโลโปตี คือ ทวารวดี

ซามูเอล บีล นักค้นคว้าชาวอังกฤษ (ผู้แปลบันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง) เสนอความเห็นเมื่อ พ.ศ.2427 (แผ่นดิน ร.5) ว่า “โตโลโปตี” ตรงกับคำในภาษาสันสกฤตว่า “ทวารวดี” ต่อมาเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้


พระถังซำจั๋งเดินทางจากจีนสู่อินเดีย มือขวาถือแส้ มือซ้ายถือม้วนคัมภีร์ เป้ที่อยู่ข้างหลังเป็นที่เก็บสัมภาระและหนังสือ ที่แขวนอยู่บนเป้คือตะเกียงส่องทาง (ภาพนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานโตเกียวในญี่ปุ่น) [จากหนังสือ ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง แปลเป็นภาษาไทย โดย ซิว ซูหลุน สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2547]

ตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โตโลโปตีหรือทวารวดี ในบันทึกของพระถังซำจั๋งระบุว่าอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ต่อเนื่องรัฐเก่าแก่ในกัมพูชา)

ต่อมานักค้นคว้าชาวฝรั่งเศส คือ พันตรีลูเนต์ เดอ ลาจองกีเยร์ เสนอเมื่อ พ.ศ.2452 (แผ่นดิน ร.5) ว่าโตโลโปตีหรือทวารวดีตั้งอยู่ จ.ลพบุรี (อยู่ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.2000 ของ ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล สมาคมประวัติศาสตร์ฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2535 หน้า 21)

นายมานิต วัลลิโภดม (อดีตข้าราชการกรมศิลปากร) แสดงหลักฐานโบราณคดีสนับสนุนว่าโตโลโปตีหรือทวารวดีอยู่เมืองละโว้ จ.ลพบุรี [พิมพ์ใน (1.) แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี (ปอบ.) ของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี มกราคม พ.ศ.2515 และ (2.) ศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร กรกฎาคม พ.ศ.2515]

นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการกรมศิลปากร) แสดงหลักฐานโบราณคดีและพงศาวดารตำนานว่า นครพระกฤษณ์ คือ ทวารวดี อยู่เมืองละโว้ จ.ลพบุรี (พิมพ์ในศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ฉบับมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 หน้า 49-55)

นายพิริยะ ไกรฤกษ์ (อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แสดงหลักฐานโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะว่าทวารวดีอยู่เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (ในหนังสือ ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม โดย พิริยะ ไกรฤกษ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2564)

นอกจากนั้นนักปราชญ์และนักวิชาการปัจจุบันแนะนำว่ามีนักวิชาการชาวญี่ปุ่นเชี่ยวชาญเอกสารจีนและเคยสำรวจหลักฐานโบราณคดีลุ่มน้ำโขงและอีสาน มีงานค้นคว้าโดยสรุปว่าทวารวดีมีพื้นที่อยู่ทางฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก [บทความเรื่อง Wen Dan and Its Neighbors : The Central Mekong Valley in the Seventh and Eighth Centuries โดย Tatsuo Hoshino ในหนังสือ Breaking New Ground in Lao History. Silkworm Books 2002 (พ.ศ.2545)]

ตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์หนังสือตำนานพุทธเจดีย์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2469) ว่า ทวารวดีมีราชธานีอยู่เมืองนครปฐม ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนามาประดิษฐานบริเวณนี้เป็นแห่งแรกในสยามประเทศ จึงได้รับการยอมรับทั่วไปตั้งแต่บัดนั้นสืบมาจนบัดนี้

หลังจากนั้นนักปราชญ์ฝรั่งเศส ยอร์ช เซเดส์ เสนอความเห็น (เมื่อ พ.ศ.2472 ตรงกับแผ่นดิน ร.7) ว่า โตโลโปตีหรือทวารวดีอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เมืองสุพรรณบุรี, เมืองนครปฐม

 

อภิสิทธิ์ทางวิชาการ

ทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐมโบราณ หมายความว่าทวารวดีอยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขัดกับข้อมูลในเอกสารจีนของพระถังซำจั๋ง แต่มีฐานะพิเศษแสดงลักษณะอภิสิทธิ์ทางวิชาการ ดังนี้

(1.) ได้รับยกย่องจากชนชั้นนำอำนาจรวมศูนย์ว่าทวารวดีอยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาถูกต้องเป็นที่ยุติทางวิชาการโบราณคดี

(2.) ถูกโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวางให้เชื่อตามแนวคิดนี้จากรัฐราชการรวมศูนย์ผ่านระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วประเทศ และระบบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

(3.) กดทับและปกปิดแนวคิดต่างมิให้แบ่งปันในสถานศึกษาทุกระดับ แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยก็ไม่กล่าวถึงแนวคิดต่างและไม่เปิดช่องให้ศึกษาแนวคิดต่างซึ่งเท่ากับสนับสนุนลักษณะอภิสิทธิ์ทางวิชาการ