ERRATA สำรวจสะเก็ดประวัติศาสตร์การเมืองหลากสัญชาติ ผ่านบทสนทนาระหว่างผลงานศิลปะสี่พิพิธภัณฑ์ (1) / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ERRATA

สำรวจสะเก็ดประวัติศาสตร์การเมืองหลากสัญชาติ

ผ่านบทสนทนาระหว่างผลงานศิลปะสี่พิพิธภัณฑ์ (1)

 

ในตอนนี้เราขอกลับมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะน่าสนใจที่ได้มีโอกาสไปดูมากันอีกที

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า ERRATA : Collecting Entanglements and Embodied Histories

ซึ่งเป็นการจัดแสดงชุดผลงานศิลปะและชุดข้อมูลบันทึกทางประวัติศาสตร์กว่า 4 แหล่ง ที่คัดสรรจากชุดผลงานสะสมของ 4 สถาบันศิลปะใน 4 ประเทศ อย่าง พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย, พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี, หอศิลป์แห่งชาติ อินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์

โดยการริเริ่มจากสถาบันเกอเธ่ ภายใต้การร่วมมือคัดสรรของ 4 ภัณฑารักษ์ชั้นนำ อย่าง กฤติยา กาวีวงศ์, แอนนา แคทารีน่า เกบเบอร์ส (Anna-Catharina Gebbers), เกรซ แซมโบซ์ (Grace Samboh) และ จุน แยป (June Yap)

เคอิจิ ทานามิ, Oh Yoko!, 1973
คไว สัมนาง Rubber Man, 2014
แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์, Duo Monk, 2003

ในนิทรรศการประกอบด้วยผลงานของศิลปินหลากสัญชาติ ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า (ทั้งที่ยังมีชีวิตและล่วงลับไปแล้ว) อย่างกมล เผ่าสวัสดิ์, กวิตา วัฒนะชยังกูร, โก๊ะ หงวน ฮาว (Koh Nguang How), คไว สัมนาง (Khvay Samnang), เคอิจิ ทานามิ (Keiichi Tanaami), โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys), เชียงใหม่จัดวางสังคม, ณัฐดนัย จิตต์บรรจง, The Propeller Group, แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์, โดโลโรซ่า ซินากา (Dolorosa Sinaga), ถนอม ชาภักดี

โจเซฟ บอยส์ I like America, America Likes Me, 1974
โดโลโรซ่า ซินากา, Solidarity, 2000

ทัศนัย เศรษฐเสรี, ทิสนา ซานจายา (Tisna Sanjaya), นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, ไนซ่า คาน (Naiza Khan), บรูซ นาวมัน (Bruce Nauman), ปพนศักดิ์ ละออ, ประมวญ บุรุษพัฒน์, พิเชษฐ กลั่นชื่น และ เชน บุนนาค,ฟิโอน่า แทน (Fiona Tan), มิตร ใจอินทร์

วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร Ja, Ja, Ja, Ja, Ne, Ne, Ne, Ne, 2016
ส้ม ศุภปริญญา A Separation of Sand and Islands, 2018

เมลาติ ซูร์โยดาร์โม (Melati Suryodarmo), เยอโรน เดอ ไรเกอ (Jeroen De Rijke) และ วิลเลม เดอ รอยจ์ ( Willem De Rooij), เรย์ ลางเกนบาค (Ray Langenbach), ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร, ส้ม ศุภปริญญา, อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล, อริญชย์ รุ่งแจ้ง, ออยวินด์ ฟาห์ลสเตริม (Öyvind Fahlström)

อากุง กูรนิอาวัน Sinta Love Rahwana, and Rama Love Sinta

อากุง กูรนิอาวัน (Agung Kurniawan), อามันดา เฮง (Amanda Heng), อารยา ราษฎร์จําเริญสุข, อาราไมอานี (Arahmaiani), อำพรรณี สะเตาะ, Indonesian New Art Movement, อูลริเก้ โรเซนบาค (Ulrike Rosenbach), เอฟ. เอ็กซ์. ฮาร์โซโน (F. X. Harsono), โฮ ซู เหนียน (Ho Tzu Nyen)

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาและอารมณ์ เราขอเชิญกฤติยา กาวีวงศ์ หนึ่งในสี่ภัณฑารักษ์มาเล่าถึงที่มาที่ไปและนำชมนิทรรศการครั้งนี้ให้อ่านกันแบบเต็มที่ไม่มีกั๊กกันเลยก็แล้วกัน

 

“Errata มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะทำนิทรรศการจากชุดผลงานศิลปะที่แต่ละพิพิธภัณฑ์สะสมเอาไว้ ซึ่งแต่ละชุดก็ไม่เหมือนกันเลย แล้วเราจะเอาอะไรเป็นชุดเชื่อมดี?”

“เราก็เลยเอาช่วงเวลามาเป็นจุดเชื่อม ทีนี้แต่ละที่ก็จะตีความงานสะสมของเขาในแต่ละแบบ อย่างทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ เบอร์ลิน เขาก็แนะนำว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาในยุคสงครามเย็น (Cold war) เพราะเบอร์ลินโดนผลกระทบจากสงครามเย็นอย่างมาก บ้านเมืองเขาโดนแบ่งแยกเมืองออกเป็นสองฝั่ง”

“หรือผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ ก็เป็นอะไรที่เกี่ยวกับประเด็นทางการทูตอย่างมาก”

“ส่วนหอศิลป์แห่งชาติอินโดนีเซียก็เป็นประเด็นเกี่ยวกับ Solidarity (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน) และ Collective (ความเป็นกลุ่มก้อน)”

“นิทรรศการนี้มีชื่อรองว่า ‘Collecting Entanglements and Embodied Histories’ ซึ่งก็คือการพูดถึงการรวบรวมประวัติศาสตร์ที่พัวพันกัน โดยนอกจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก สิ่งที่เราสนใจคือประวัติศาสตร์ทางเลือก หรือประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเล่า”

“เราก็เลยหันกลับมามองผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม ที่ย้อนกลับไปถึงตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ในช่วงยุคล่าอาณานิคม”

“ชื่อหลักของนิทรรศการอย่าง Errata เป็นภาษาละตินที่แปลว่า ‘แก้คำผิด’ เรามองว่าผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมโดยส่วนใหญ่เป็นงานแบบที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจะไม่เก็บสะสม เพราะเป็นงานที่พูดถึงสิ่งที่รัฐไม่อยากได้ยิน ซึ่งก็คืองานที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐมากๆ แล้วในแต่ละพิพิธภัณฑ์ก็จะมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของนิทรรศการเยอะมาก เราก็เลยอยากเล่นกับข้อมูลตรงนี้”

“ซึ่งมีนิทรรศการหนึ่งที่เราชอบมาก เป็นนิทรรศการเล็กๆ ของศิลปินสิงคโปร์ชื่อ โก๊ะ หงวน ฮาว ที่ใช้การจัดเก็บข้อมูลเป็นงาน นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Errata ซึ่งเอาจริงๆ เป็นลักษณะของการลบข้อมูลมากกว่า เพราะเขาไปเห็นสูจิบัตรนิทรรศการครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ ซึ่งเป็นนิทรรศการของศิลปินในกลุ่มที่สำคัญมาก (อารมณ์ประมาณศิลปินแห่งชาติ) ที่มีชื่อว่า Equator Art Society ซึ่งเป็นศิลปินที่อพยพมาจากประเทศจีนเข้ามาอยู่ในช่วงเวลาก่อนที่ประเทศสิงคโปร์จะรวมชาติกับประเทศมาเลเซียจนกลายเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์”

“แต่ในสูจิบัตรดันเขียนชื่อผลงานว่า ‘Attending National Language Class’ และใส่ปีว่า 1950 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด เพราะกว่าที่สิงคโปร์จะกลายประเทศสิงคโปร์คือตอนปี 1959 ต่างหาก โก๊ะ หงวน ฮาว ก็เลยทำนิทรรศการแก้ข้อมูลในสูจิบัตรเล่มนี้ ว่าหน้านี้ผิดอย่างไร ปีไหนผิดบ้าง เหมือนคนพิสูจน์อักษร”

“ถามว่าทำไมการแก้ไขปีในสูจิบัตรถึงได้สำคัญกับเขาขนาดนั้น ก็เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังต้องศึกษาไง ถ้าไปดูสูจิบัตรเล่มจริงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขเลยด้วยซ้ำ”

“ที่ตลกก็คือ พอเขาไปแสดงนิทรรศการในหอศิลป์ทางเลือกเล็กๆ ปรากฏว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะอีกสองแห่งในสิงคโปร์ก็เชิญเขาให้เอางานชุดนี้ไปแสดง ซึ่งนอกจากเขาจะอธิบายถึงความจำเป็นในการแก้ไขข้อมูล เขาก็ถือโอกาสในการสอนประวัติศาสตร์ด้วย เพราะกลุ่ม Equator Art Society ที่ถึงจะเป็นศิลปินกลุ่มสำคัญ แต่พอหลังจากช่วงสงครามเย็นปะทุขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เชื่อมโยงกับจีนก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม ด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ศิลปินกลุ่มนี้ที่เป็นคนจีนก็เลยไม่ถูกพูดถึงไปโดยปริยาย”

“หรืออย่างในอินโดนีเซีย ถ้ามีใครเกี่ยวข้องกับจีนก็จะถูกฆ่าเลย คนจีนก็ต้องอพยพลี้ภัยกันหมด ถ้าเป็นบ้านเราก็เป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือ ถังแดง (เหตุการณ์ฆ่าผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ด้วยการเผาในถังน้ำมัน)”

“สิ่งเหล่านี้เป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ เป็น Untold History (ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกพูดถึง) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของนิทรรศการนี้”

 

นิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับนิทรรศการ ที่เอาวัตถุดิบที่เป็นงานศิลปะทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นของสะสมของแต่ละพิพิธภัณฑ์มาเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

โดยส่วนใหญ่เวลาเราทำนิทรรศการ เราจะทำเป็นเส้นเรื่อง เริ่มต้นด้วยส่วนแรกที่ย้อนกลับไปสู่อดีตชาติของแต่ละแห่ง ว่าเขามีปัญหาอย่างไร

งานชิ้นสำคัญในห้องแรกของนิทรรศการ คือภาพถ่ายของรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค (ผู้เป็นที่มาของชื่อพิพิธภัณฑ์) จากสตูดิโอของรัชกาลที่ 5 ที่แสดงในงานวัดเบญจมบพิตร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงได้แรงบันดาลใจจากการเสด็จประพาสยุโรปและได้ร่วมชมงานต่างๆ อย่าง World Expo หรือ Venice Biennale และนำมาดัดแปลงเป็นนิทรรศการในบ้านเรา

ซึ่งการเสด็จประพาสยุโรปก็นำมาสู่หนังสือพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ของรัชกาลที่ 5 ที่เราวางคู่กับหนังสือ “ไกลบ้าน” เวอร์ชั่นของ ปพนศักดิ์ ละออ หนังสือศิลปินที่เป็นภาพเหมือนของนักโทษการเมืองชาวไทยผู้ต้องลี้ภัยจากคดีอาญามาตรา 112

ที่เราวางหนังสือสองเล่มนี้คู่กันก็เพราะต้องการเล่นกับความต่างของเวลาและสิ่งที่เกิดในอดีตกับปัจจุบัน ซึ่งต่างก็เป็นเรื่องของการแสวงหาอิสรภาพเหมือนๆ กัน

งานอีกชิ้นในห้องนี้อย่าง Allegiance IV (2018) เป็นผลงานของ ณัฐดนัย จิตต์บรรจง ผู้เคยเรียนโรงเรียนวชิราวุธ โดยเป็นเสื้อเครื่องแบบนักเรียนที่ปักเนื้อเพลงประจำโรงเรียนที่มาจากพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 6 ผู้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมา โรงเรียนนี้เองก็ถอดแบบมาจากโรงเรียนในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นผลผลิตของวิธีคิดแบบอาณานิคมเช่นกัน

ส่วนงานฝั่งตรงข้ามเป็นไฟล์เสียงบันทึกจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงแกรมโมโฟนที่ได้จากพิพิธภัณฑ์ในเบอร์ลิน เป็นเพลงไทยเดิมชื่อ “ลาวคำหอม” เล่นโดยวงดนตรีปี่พาทย์ ที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ตอนเสด็จประพาสยุโรป

นิทรรศการ ERRATA : COLLECTING ENTANGLEMENTS AND EMBODIED HISTORIES จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2022 นี้, เปิดให้เข้าชมวันศุกร์-จันทร์ เวลา 10.00-18.00 น. (ค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 150 บาท, เด็กและผู้สูงอายุ 100 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.maiiam.com