ธรรมนัส : เจ้าตัวขยับพร้อมแฮชแท็ก #ไปอยู่พรรคไหนดีครับ เปิดปมต่อรองเก้าอี้สู่ขับพ้นพรรค

นับเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐในช่วงดึกของเมื่อคืนที่ผ่านมา (19 มกราคม 2565) เมื่อกรรมการบริหารพรรค พปชร. รวมทั้ง ส.ส.พรรคทั้งหมด 78 เสียง มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และส.ส.ในสังกัดทั้งหมด 21 คน ในกรณีสร้างความขัดแย้งภายในพรรค และจะต้องหาพรรคใหม่ ภายใน 30 วัน นั้น

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ที่กลายเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไปแล้ว ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ผมขอกราบขอบพระคุณทุกกำลังใจและความห่วงใยจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนรวมถึงสมาชิกพรรคพลังประชารัฐทุกท่าน ผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินหน้าทำงานเพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไปอย่างที่ผมตั้งใจไว้และสัญญากับประชาชนทุกคนไว้ตลอดมาครับ พร้อมติดแฮชแท็กว่า #ไปอยู่พรรคไหนดีครับ

โดย 21 ส.ส.ที่อยู่ภายใต้สังกัดของกลุ่มธรรมนัสนั้น นอกจาก ร.อ.ธรรมนัสแล้ว ยังประกอบด้วย 1.นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 2.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส. ตาก 3.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 4.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 5.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 6.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 7.นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 8.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 9.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 10.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 11.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 13.เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

14.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 15.นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 16.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 17.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 19.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา และ 20.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า ทั้งร.อ.ธรรมนัสและส.ส.ทั้งหมดในสังกัดจะไปอยู่กับพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมี พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. เป็นหัวหน้าพรรค

เปิดปมต่อรองเก้าอี้สู่การขาดจากกัน

สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (19 ม.ค.65) หลังการปิดประชุมสภาอันมาจากสภาล่มรับปีใหม่ ในการประชุมที่มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อฯเมื่อช่วงเย็น ร.อ.ธรรมนัส ได้แจ้งต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพปชร. ว่า มีส.ส.ที่พร้อมจะออก พร้อมกับตน จำนวน 21 คน ดังนั้น ถ้าจะไม่ให้กลุ่มนี้ออก ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในส.ส. 21 คน ต้องมี 1 ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ถ้าไม่มีการปรับ ครม. ทันที ส.ส. ทั้ง 21 คน ก็จะไม่เป็นองค์ประชุมในสภาฯ ให้แก่รัฐบาล

โดยมีรายงานว่าร.อ.ธรรมนัส ต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นั้นทำให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา คนนั่งเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงกับออกมาให้ความเห็นต่อกระแสข่าวดังกล่าวว่า ตนยังไม่รับทราบรายงานข่าวดังกล่าว และยังไม่มีใครติดต่อมา ส่วนสิทธิที่จะพูด สิทธิที่จะขอ เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะคิดไป แต่ในความเป็นจริงเป็นอย่างไรคงต้องมาคุยกันอีกที เป็นเรื่องปกติทางการเมือง เบื้องต้นนายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมองหน้าทางกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ได้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ตนทำงานของตนอยู่ เก้าอี้รัฐมนตรีไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อถึงเวลาโอกาสเปลี่ยนแปลงมีเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ว่าขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไรจะต้องมาคุยกัน ไม่ใช่ว่าเรียกร้องอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะเป็นไปได้ตามนั้น ต้องมาคุยกันก่อนในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล

อีกทั้งกระทรวงทส. ยังมีงานคั่งค้าง ตนยังสามารถทำงานได้ แต่อย่างที่บอกไป ทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมานั่งคุยกัน

นับเป็นปมที่ถูกกล่าวถึง นอกเหนือจากกระแสข่าวที่ระบุว่า ร.อ.ธรรมนัสถูกขับออก เพื่อเซ่นกรณีสนามเลือกตั้งซ่อมชุมพรและสงขลาที่พรรคพลังประชารัฐพ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ไปทั้ง 2 เขต เมื่อ 16 มกราคมที่ผ่านมา

หลังการหารือกันในมูลนิธิป่ารอยต่อ นายบุญสิงห์ วรรินทร์รักษ์ นายทะเบียนพรรค พปชร. เปิดเผยภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค ว่า ที่ประชุมมีมติ ขับส.ส.จำนวน 21 คน ออกจากพรรค หลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ได้เรียกมาพูดคุยที่มูลนิธิป่ารอยต่อ โดยกรรมการเห็นว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีเหตุแห่งความร้ายแรงของพรรค ที่เกิดจากคนทั้ง 21 คน

นายบุญสิงห์กล่าวว่า การให้สมาชิกพรรคพ้นตำแหน่งมี 3 สาเหตุ คือ ตัวบุคคลผิดวินัยและผิดจรรยาบรรณร้ายแรง ทำให้พรรคบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ และเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ดีที่สุด

ต่อมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเป็นแกนนำผู้รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ถึงกับกล่าวเกมส์การเมืองของธรรมนัสว่า

เกมชนะของธรรมนัส การถูกขับออกจากพรรค พปชร. ของ 21 ส.ส.ในกลุ่มธรรมนัส เป็นเกมการเมืองที่ล้ำลึก แม้ว่าพรรคใหม่ที่จะไปอยู่ดูคล้ายพรรคสาขาที่มีคนสนิทของพลเอกประวิตรไปตั้งรอไว้ก็ตาม กลุ่มส.ส. 21 คนนี้แม้ไม่ประกาศว่าเป็นฝ่ายค้าน แต่พร้อมคว่ำรัฐบาลได้ทุกนาที หากการต่อรองประโยชน์ไม่ได้ดังใจ และไม่มีคำว่ามติพรรค พปชร.มาเป็นอะไรที่กีดขวางอีก

เสียงสนับสนุนของรัฐบาลที่อยู่ดี ๆ ก็หายไป 21 เสียงจึงเป็นอะไรที่พลเอกประยุทธ์ต้องหวั่นไหว เพราะเมื่อกฎหมายสำคัญเข้าสภา ไม่ใช่แค่การกดดันของกลุ่ม 21 คนนี้ แม้พรรคเล็กพรรคน้อยหนึ่งเสียงสองเสียง จะเรียกร้องอะไรอาจต้องตามใจ

พลเอกประวิตรเอง เมื่อขาดขุนพลคู่ใจ คนใหม่ที่มาจะมีฝีไม้ลายมือ ใจคอกว้างขวาง หล่อเลี้ยงสมาชิกได้เท่าคนเดิมหรือไม่อาจเป็นเครื่องหมายคำถาม และเหล่าคนในอาจเริ่มสอดส่ายสายตาหาที่อยู่ใหม่ แม้กายยังอยู่ แค่สายตามองไปไกลแล้ว

ยิ่งกติกาการเลือกตั้งเปลี่ยน หวังให้ พปชร.ได้เปรียบจากสถานะการเป็นพรรคใหญ่ วันนี้ทุกอย่างบ่งบอกแล้วว่าไม่ใช่ การแก้กติกาจึงเข้าทางเพื่อไทยเต็ม ๆ

นาทีนี้ ต้องบอกว่า ธรรมนัส นายแน่มาก