‘ซ่อม’ พลังประชารัฐ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘ซ่อม’

พลังประชารัฐ

 

การเลือกตั้งซ่อมผ่านไปแล้ว 2 สนาม คือที่สงขลาและชุมพร แม้จะเหลือสนาม กทม.

แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ่ายแพ้ทั้ง 2 สนามในภาคใต้

ทำให้จำเป็นต้องกลับมา “ซ่อม” พรรคกันใหม่อีกครั้ง

โดยเฉพาะในฝั่งฟาก “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ คงต้องทบทวนบทบาทครั้งใหญ่

เพราะไม่ใช่แค่พ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เท่านั้น

หากแต่ยังถือว่าพ่ายเกมขับเคลื่อนในพรรคที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น

ในขั้วของฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสที่ชู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้นำ

กับขั้วสายรัฐมนตรีที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นธงนำ

 

ในการเลือกตั้งซ่อมที่สงขลาและชุมพรนั้น ตอนแรกทุกคนเข้าใจว่าฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสจะลอยตัว ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยตรง

สังเกตได้จากการตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้ง ที่ให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง จ.สงขลา ขณะที่ให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง จ.ชุมพร

ดูเหมือนเป็นการทดสอบรัฐมนตรีที่อยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จะมีฝีมือหรือน้ำยาที่จะทำให้พรรคชนะการเลือกตั้งหรือไม่

ซึ่งดูแล้วก็เหมือนผิดฝาผิดตัว เพราะทั้งนายสุชาติและนายสันติไม่ใช่คนในพื้นที่ และไม่มีประสบการณ์ในการเลือกตั้งทั้งสองจังหวัดเลย

เสมือนเป็นการส่งแม่ทัพไปทำการรบเพื่อแพ้

ขณะเดียวกันก็เหมือนจะแสดงให้เห็นว่า ร.อ.ธรรมนัสต่างหากคือจักรกลสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเลือกตั้ง และสามารถทำสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง รวมถึงใน จ.นครศรีธรรมราช หัวใจสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี่กลองเริ่มบรรเลง

การขับเคลื่อนของทัพพลังประชารัฐก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนไป

เปลี่ยนไปในทางที่ต้องการจะได้ชัยชนะอันจะเป็นการหักล้างกระแสขาลงของรัฐบาลและของพรรคอันเนื่องจากวิกฤตต่างๆ ที่รุมเร้า

และที่สำคัญ ต้องการชัยชนะที่จะเป็นผลทางจิตวิทยาในการปักธงเพื่อเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญทางการเมืองอีกก้าวหนึ่ง

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้ของพรรค พปชร.

คือกลายเป็นว่า ร.อ.ธรรมนัสกลับเข้ามาแสดงบทบาท “รุกเอง” อย่างเต็มตัว

เป็นการรุกเองที่มากด้วยความมั่นใจในขุมกำลัง ทรัพยากรอำนาจ และเครือข่าย ในอันที่จะเดินและกำหนดเกมตามรูปแบบที่ถนัด ทำให้แพ้ไม่เป็นในสนามเลือกตั้งซ่อมทุกแห่ง

ด้วยความเชื่อและความมั่นใจนี้ ร.อ.ธรรมนัสจึงเดินหน้าโชว์บทบาทแม่ทัพตัวจริงอย่างเต็มที่

และระดมสรรพกำลังเข้าไปอย่างครบครัน

ที่ถูกจับตามองมาก นั่นก็คือ การที่ ร.อ.ธรรมนัสนำ พล.อ.ประวิตรเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ด้วยตนเองอย่างถี่ยิบ ทั้งในฐานะหัวหน้าพรรค ขณะเดียวกันอีกด้านก็สวมหมวกรองนายกรัฐมนตรีเข้าไปตรวจราชการในพื้นที่เลือกตั้งและใกล้เคียง อย่างมีนัยสำคัญ

สะท้อนให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังของพรรค

พร้อมๆ กับต้องการแสดงบทบาทการเป็นผู้นำของ พล.อ.ประวิตร โดยจงใจที่จะไม่กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์มากนัก

จนเหมือนเป็นการ “ด้อยค่า” นายกรัฐมนตรีลงกลายๆ

ขณะที่ก็เหมือนจะชูให้ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้นำตัวจริงเสียงจริงของพรรค โดยมี ร.อ.ธรรมนัส เลขาธิการพรรคเป็นทหารคู่ใจ

 

แต่ดูเหมือนว่า การกำหนดยุทธวิธีต่อสู้ดังกล่าว จะไม่ได้ผลตามที่หวัง โดยเฉพาะเมื่อต้องต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่ช่ำชองในเกมการเลือกตั้ง ช่ำชองพื้นที่ รวมถึงกุมจิตใจของคนภาคใต้มาต่อเนื่องยาวนาน

ที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้แบบแพ้ไม่ได้เช่นกัน

เพราะหากสูญเสียเก้าอี้ ส.ส.ใต้ไป ย่อมทำลายขวัญกำลังใจคนในพรรคอย่างหนัก

พรรคประชาธิปัตย์จึงสู้ในทุกรูปแบบ

การออกมาตีฆ้องร้องป่าวเรื่องมีกลุ่มนายทหารนับร้อยนายเข้าไปในพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นการดักคอการใช้กลไกรัฐให้เป็นประโยชน์แก่บางพรรคได้อย่างมีน้ำหนัก

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือสิ่งที่ ร.อ.ธรรมนัสต้องการจะแสดงให้เห็นผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ นั่นคือการชู “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคขึ้นเป็นจุดขายในภาคใต้ แทน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

ถือเป็นการอ่านใจคนภาคใต้จำนวนไม่น้อย ผิดพลาดอย่างมหันต์

เพราะเอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่าคนภาคใต้ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่

ทำให้การขับเคลื่อนที่หวังจะชู พล.อ.ประวิตรให้โดดเด่นไม่ประสบผล

แถมยังเปิดช่องให้คู่ต่อสู้อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม กปปส.เดิม หยิบฉวยความนิยมของ “พล.อ.ประยุทธ์” มาย้อนเกล็ดดึงคะแนนเสียงให้พรรคตัวเองไปอย่างเจ็บแสบ

และยิ่งเมื่อถึงโค้งสุดท้าย ร.อ.ธรรมนัสก็ก้าวพลาดเสียเอง

เมื่อไปปราศรัยชูผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา “นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์” ของพรรคตนเอง โดยระบุให้คนใต้พิจารณา “ชาติตระกูล” และความมีเงินของผู้สมัคร

วาทะนี้ถูกแปลไปเป็นประเด็นโจมตีว่า ร.อ.ธรรมนัสหมิ่นคนใต้ ด้วยการให้ไปเลือกคนรวย

ซึ่งก็ได้ผล เพราะส่งผลกระทบออกไปเป็นวงกว้าง และถือเป็นเรื่องใหญ่ในทางการเมืองของคนภาคใต้ ที่ ร.อ.ธรรมนัสไม่สามารถแก้เกมตรงนี้ได้

 

นี่จึงนำมาสู่ความพ่ายแพ้ของพรรค พปชร.อย่างเจ็บแสบ

ร.อ.ธรรมนัสได้สรุปบทเรียนในความพ่ายแพ้ครั้งนี้ว่า ต้องยอมรับว่าการเตรียมการของพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมการมาดี ส่วน พปชร.ต้องยอมรับว่าเตรียมการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ช้าไปนิดหนึ่ง

แต่ ร.อ.ธรรมนัสบอกว่า การเลือกตั้งมันยังไม่จบ เพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้มีการจับการทุจริต แบบเห็นจะจะ มีการโอนเงินผ่านบัญชี ไม่เคยเห็นการเลือกตั้งที่โกงกันแบบนี้มาก่อน

“กลยุทธ์ที่เขาใช้ มันชัดเจนมาก เราก็ไม่คิดว่าจะกล้าทำกันขนาดนี้” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวถึงการที่มีการนำการปราศรัยของตนเองไปขยายผล เรื่องคนรวยคนจนนั้น ถ้าฟังให้ชัดเจนตนเพียงแต่พูดถึงคุณสมบัติของผู้สมัครว่ามีความพร้อม ไม่ได้เน้นในเรื่องของการมีเงินอย่างเดียว คุณสมบัติอย่างอื่นก็ต้องมีด้วย ไม่ได้เป็นเรื่องของการดูถูกคนจนคนรวยเลย

 

คําชี้แจงของ ร.อ.ธรรมนัส ดูเหมือนจะขยายความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ขึ้นไปอีก

เมื่อนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาสวนกลับ

โดยระบุว่า ร.อ.ธรรมนัสแพ้แล้วชวนตี จะมาทำตัวกล่าวหาคนอื่นแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ใช่วิสัยที่จะทำ ถือว่าไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา

การตอบโต้กันดังกล่าว ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวหย่าศึกในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม ว่า “พรรคร่วมรัฐบาลเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี อะไรหนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน ผมขอละกันในฐานะหัวหน้ารัฐบาล อะไรจบแล้วก็จบ ขอให้ทำงานร่วมกันต่อไป”

 

แน่นอนเสียงเตือนนี้ ย่อมส่งตรงไปถึง ร.อ.ธรรมนัสด้วย

แม้ถือเป็นการ “ซ้ำ” เล็กๆ แต่คนที่มีอะไรในใจอยู่แล้ว ย่อมไม่ธรรมดา

ซึ่งก็คงต้องติดตามว่า ร.อ.ธรรมนัสจะแก้ความผิดพลาดนี้อย่างไร

เพื่อไม่ให้ความเชื่อมั่นภายในพรรค พปชร.ที่ตกต่ำลงหลังจากรู้ผลการเลือกตั้งซ่อมทรุดหนักขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกันที่สำคัญ ร.อ.ธรรมนัสคงจะต้องแสดงความเชื่อมั่นให้กับ พล.อ.ประวิตรเห็นด้วยด้วยว่า การที่ชู พล.อ.ประวิตรเป็นธงนำ จะนำไปสู่ชัยชนะได้จริงๆ

มิใช่แปรผันไปเป็นจุดอ่อนดังที่เกิดในการเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้ ซึ่งชื่อ พล.อ.ประวิตรขายไม่ได้

นี่ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ ร.อ.ธรรมนัสจะต้อง “ซ่อม” ให้ได้

มิฉะนั้น ตุ้มถ่วงแห่งอำนาจจะเหวี่ยงไปยังขั้วที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะต้องไม่ลืมว่าถึงที่สุดแล้ว สัมพันธ์ของ 3 ป.ก็มีเยื่อใยต่อกันอย่างสูง

และยิ่งเมื่อมีข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การแยกกันเดิน พร้อมจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ และยิ่งถ้าเป็นการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งใหญ่

เส้นทางแห่งอำนาจก็อาจสะดุดได้

ขณะเดียวกัน ขั้วอำนาจฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่อยู่เฉย หรือปล่อยเวลาทองให้ผ่านเลย อาจฉวยจังหวะนี้ “ซ่อม” พรรค พปชร.เช่นกัน

“ซ่อม” โดยการจำกัดวงขั้วอำนาจของ ร.อ.ธรรมนัสให้เล็กลง หรือไร้อำนาจเลยก็ยิ่งดี

 

ทั้งนี้ การ “ซ่อม” พรรคคงจะชัดเจนขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้งซ่อม กทม.เขต 9

ซึ่งหากพรรค พปชร.แพ้อีก เชื่อว่าการซ่อมใหญ่คงจะเกิดขึ้น

ส่วนใครจะซ่อม หรือถูกซ่อม ก็คาดเดาไม่ยาก เพราะความเพลี่ยงพล้ำจากการเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ขั้ว ร.อ.ธรรมนัสถูก “รุกกลับ” บ้าง

และตอนนี้ก็มีเค้าลางให้เห็นแล้ว

เมื่อมีมือมืดไปเอาข้อความในกลุ่มไลน์ “โฆษกวิปรัฐบาล” ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เต็มที่ ร่วมอยู่ด้วย มาเปิดเผยต่อสาธารณะ

โดยนายสุชาติได้เขียนในไลน์ระบุเสนอให้มีการทำโพลพรรคการเมืองว่า พปชร.ตกต่ำเพราะอะไร ให้ทำโพลในลักษณะชี้นำ โดยมีคำตอบให้ประชาชนเลือกว่า เพราะ ร.อ.ธรรมนัสเป็นเลขาธิการพรรค หรือเพราะ ร.อ.ธรรมนัสไม่มีคนยอมรับ

ข้อความในไลน์ที่หลุดออกมานี้ “มือมืด” ย่อมมีเป้าหมายอะไรบางอย่างแน่นอน ด้วยมันถูกขยายความไปในทันที

ว่าเริ่มมีความเคลื่อนไหว “ซ่อม” ในพรรค พปชร.แล้ว

และเป้าหมายที่ต้องการซ่อม ก็คือการทำโพลเพื่อชี้นำให้ ร.อ.ธรรมนัสถูกเขี่ยออกไปให้พ้นพรรค

 

แน่นอนนี่ย่อมทำให้พรรค พปชร.ร้อนระอุ และอยู่ในสภาวะระส่ำระสาย

ไหนจะกระทบกระทั่งกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย่อมมีสิ่งตกค้างจากการเลือกตั้งซ่อมมาคาใจกันอยู่

ไหนปัญหาภายในที่ตอนนี้ก็เริ่มมีปรากฏการณ์เลือดไหลออก

อย่างกรณีที่นายสุพล ฟองงาม และนายสันติ กีระนันทน์ ทิ้งเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ไปอยู่กับนายอุตตม สาวนายน ที่ตั้งพรรคใหม่ “สร้างอนาคตไทย”

ขณะเดียวกันเกมการชิงอำนาจในพรรค พปชร.ก็น่าจะคงดำเนินไปอย่างดุเดือด

คำถามสำคัญคือ ถ้าการซ่อมนั้นเป็นการซ่อมเพื่อให้พรรค พปชร.โดยรวมดีขึ้นก็คงไม่มีปัญหาอะไร

แต่ที่น่าห่วงคือ หากต่างฝ่ายต่างซ่อมเพื่อปิดทางอีกขั้วอำนาจหนึ่ง

ถ้าเป็นเช่นนั้นพลังประชารัฐก็อาจกลายเป็น “พัง” ประชารัฐได้ง่ายๆ