เหตุเกิดที่ภาคใต้/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เหตุเกิดที่ภาคใต้

 

ผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดชุมพรและสงขลาประกาศออกมาอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 2 จังหวัด โดยที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 2

หากทำเป็นฉลาดหลังเหตุการณ์ โดยบอกว่า รู้อยู่แล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมจะชนะ ก็นับได้ว่า เป็นความฉลาดน้อยเกินไป

การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้แสดงอะไรทางการเมืองไทยหลายอย่างชนิดเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง จากเลือกตั้งซ่อม สู่การเมืองระดับชาติและการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า และมาถึงได้ทุกเวลา

เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง ท่ามกลางบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างมากจากการเลือกตั้งและบริบททางการเมืองในปี 2562 สู่บริบทการเมืองที่แตกต่างกันอย่างมากในปี 2565 อันอุดมไปด้วยความร่วมมือและความขัดแย้งในลักษณะใหม่

เปลี่ยนจากบริบทกระแสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้กติกาพลังอำนาจของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่ คสช. กลไกวุฒิสภา พลังอำนาจนอกรัฐสภาที่มาจากกองทัพ ที่สำคัญ ภายใต้พลังทางเศรษฐกิจและการเมืองของ 3 ป.และเครือข่าย

แต่บริบทดังกล่าวที่เกื้อหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนไปมากและไม่ใช่ความจริงทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว

แม้แต่เอกภาพและความแข็งแกร่งทางการเมืองของ 3 ป. กองทัพ ตำรวจ ระบบราชการ กลไกรัฐ และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งพลังภายนอกจากชาติมหาอำนาจในพื้นที่การเมืองในภูมิภาคก็ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และแรงกดดันที่เปลี่ยนแปลงไป

เราจะยังไม่ดูพลังอำนาจของเยาวชนและคู่ตรงข้ามกับระบอบประยุทธ์มากนัก ทั้งๆ ที่พลังอำนาจนี้กำลังเติบโตและท้าทายความชอบธรรมทางการเมืองของระบอบประยุทธ์และระบอบการเมืองเก่าเป็นอย่างมาก ลองดูการเมืองของการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา แล้วเชื่อมต่อการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ด้วย

สิ่งที่อยู่ใต้คะแนนเสียง

ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ชุมพล 42,638 คะแนน

พรรคพลังประชารัฐ ชวลิต 32,219 คะแนน

เลือกตั้ง 16 มกราคม 2565 ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ อิสรพงษ์ 49,014 คะแนน

พรรคพลังประชารัฐ ชวลิต 32,218 คะแนน

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สงขลา เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ ถาวร 28,465 คะแนน

พรรคพลังประชารัฐ สมปอง 19,317 คะแนน

เลือกตั้ง 16 มกราคม 2565 สงขลา เขต 6 ประชาธิปัตย์ สุภาพร 45,578 คะแนน

พรรคพลังประชารัฐ อนุกูล 40,531 คะแนน1

ข้อมูลทั่วไปซึ่งไม่เป็นทางการ ณ ขณะที่เขียนบทความนี้ พูดภาษาชาวบ้านก็ว่า พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นเจ้าของที่นั่งเดิมชนะทั้ง 2 พื้นที่ ชนะขาดลอย

แต่หากพิจารณาดูอย่างละเอียดเราจะเห็นความลุ่มลึกของการเมืองในภาคใต้ที่พรรคประชาธิปัตย์ครองพื้นที่การเมืองในภาคใต้อยู่ ด้วยประเด็นแรก การเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐสามารถได้ที่นั่งในภาคใต้มากถึง 12 ที่นั่ง

แต่มาคราวนี้ พรรคพลังประชารัฐได้สูญเสียที่นั่งทั้งหมดไปให้พรรคประชาธิปัตย์แล้ว

ประเด็นที่วิเคราะห์กันมากคือ แบรนด์ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นกระแสหลักที่คนในภาคใต้เลือกและสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นแรงขับดันให้พรรคพลังประชารัฐสมัยนั้นได้ที่นั่ง ส.ส. 12 ที่นั่ง

มาคราวการเลือกตั้งซ่อม 16 มกราคม 2565 พรรคพลังประชารัฐกลับพ่ายแพ้ทั้ง 2 พื้นที่ในคราวเดียวกัน ทั้งๆ ที่ตามรายงานข่าวและข้อมูลการสัมภาษณ์นักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งฝ่ายรัฐบาลและไม่ใช่รัฐบาลต่างนำเสนอว่า เสียงสนับสนุนของคนในภาคใต้ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่

แต่เป็นเพราะแกนนำของพรรคพลังประชารัฐในขณะนี้ตัดสินใจแยก พล.อ.ประยุทธ์ออกจากพรรคพลังประชารัฐในการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ทั้งสองเขตเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กลับยังคงหาเสียงเลือกตั้งโดยรวมเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่

ตรงนี้มีคำอธิบายเป็นหลายคำอธิบาย

คำอธิบายแรก การแยก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพรรคพลังประชารัฐ ของแกนนำพรรคและผู้ดูแลการเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ครั้งนี้ ถือว่านี่เป็นการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งไม่ควรนำเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มารวมกับพรรคพลังประชารัฐ

อีกประการหนึ่ง การรวมเอา พล.อ.ประยุทธ์เข้ากับพรรคพลังประชารัฐด้วยนั้น อาจสร้างปัญหากับทั้งพรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและไม่เกี่ยวข้องกับพรรคในฐานะสมาชิกพรรค อันอาจหมิ่นเหม่กับกฎหมายเลือกตั้งก็ได้

ฟังดูแล้ว เบาที่สุดคือ ไม่อยากทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ช้ำกับการเมืองเลือกตั้ง และช้ำกับความหมิ่นเหม่กับกฎหมายเลือกตั้ง

คำอธิบายที่สอง เป็นความจงใจทางการเมือง ที่จะแบ่งแยก พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อทดสอบเส้นทางทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ร่วมเดินทางอยู่ในพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบันและในอนาคตที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตอีกด้วย

ตรงนี้สลับซับซ้อนพอสมควร ประเด็นร้อนถูกจับโยนไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะเลขาธิการพรรคและผู้ดูแลการเลือกตั้งตัวจริง ตรงนี้มี 2 ระดับ

ระดับที่อ่อนหน่อย อธิบายว่า เพราะพรรคพลังประชารัฐ หรือจริงๆ คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในการเมืองภาคใต้ ขาดความเข้าใจโครงสร้างสำคัญคือ คนท้องที่ และเวทีปราศรัย

ตรงนี้อาจจะจริงสำหรับ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งก็พยายามแก้เกมแล้ว โดยส่งตัวแทนแปลกๆ ลงดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น ส่งนายสันติ พร้อมพัฒน์ ผู้อำนวยการพรรคและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส่งนายสุชาติ ชมกลิ่น ผู้อำนวยการพรรคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงไปเดินงานการเลือกตั้งในนามพรรค จวบจนกระทั่งเข้าโค้งสุดท้าย แล้วประเมินความเสียเปรียบของพรรคพลังประชารัฐ จึงลงไปกำกับการเลือกตั้งด้วยตังเอง พร้อมดึงเอา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงไปขึ้นเวทีหาเสียงช่วยเลือกพรรคด้วย

แต่คำอธิบายที่แรงขึ้นไปอีกคือ

ใครแพ้ ? ธรรมนัสแพ้…หรือพรรคพลังประชารัฐแพ้…

 

ด้านแรก ธรรมนัสแพ้ สำหรับผมเอง ความพ่ายแพ้นี้ไม่ใช่เรื่องแปลก กลับเป็นบทเรียนทางการเมืองสำคัญของ ร.อ.ธรรมนัสซึ่งไม่คุ้นเคยกับผู้คน ท้องที่ และเวทีปราศรัย ไม่เพียงแต่เท่านั้น เขาได้เผชิญกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เชี่ยวชาญและเขี้ยวกับการเมืองภาคใต้ เชื่ยวชาญเวทีและผู้คน ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในภาคใต้

ส่วนเรื่องแฟนคลับ และโซเชียลมีเดีย ผมคิดว่าเป็นส่วนประกอบความเขี้ยวของพรรคประชาธิปัตย์

อีกด้านหนึ่ง ที่อธิบายว่า ธรรมนัสแพ้ ธรรมนัสตัวเล็กลงมาก… ผมว่าในทางการเมืองอาจมองอะไรผิวเผินเกินไป ต่อให้แพ้การเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพรและสงขลา แม้แต่แพ้การเลือกตั้งที่เขตบางเขนและจตุจักรกรุงเทพฯ ก็ตาม

ธรรมนัสไม่ได้แพ้ ธรรมนัสไม่ได้ตัวเล็กลง ไม่ควรลืมเป็นอันขาดว่า ยิ่งพรรคประชาธิปัตย์เติบโตและก้าวเข้ามาที่ เขตเลือกตั้ง เขตการเมืองมากเท่าใด ธรรมนัสซึ่งเพิ่งเกิดในทางการเมือง มีทั้งทรัพยากร ผู้คนและเครือข่าย พร้อมความทะเยอทะยานทางการเมือง

พรรคพลังประชารัฐก็เป็นเพียงเรือผุที่รอวันจม ซึ่งในไม่ช้าก็ต้องจม เร็วหรือช้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างหากที่ไม่มีเรือจะวิ่งต่อ

ไม่ควรหลงลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ซึ่งไม่มีเรือของตนเองอยู่แล้ว จะทำอย่างไรต่อ

นี่คือ อะไรที่อยู่ใต้คะแนนเลือกตั้ง

1คะแนนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อ 17 มกราคม 2565 ข้อมูลจากรายการเจาะลึกทั่วไทย สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท