เปิดหู | Feels So Good ของ Chuck Mangione รักแรกฟังของผม

อัษฎา อาทรไผท

ครั้งนี้ขอแหวกแนว ด้วยการเล่าเกี่ยวกับเพลงที่ผมรักที่สุดในชีวิต ผ่านความรู้สึกพิเศษที่ยังจดจำได้ดีถึงครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับเพลงๆ นั้น

เพลง Feels So Good ของ Chuck Mangione คือเพลงบรรเลงแนว contemporary jazz ที่สามารถบี้กับเพลงป็อป ขึ้นไปติดถึงอันดับ 4 ของชาร์ทยูเอส และขึ้นอันดับหนึ่งในประเภท Adult Contemporary ของชาร์ทบิลบอร์ดในปี ค.ศ. 1977 ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่เพลงบรรเลงจะมาไกลถึงระดับนี้

หากผมทราบข้อมูลนี้ขณะยังไม่ได้ฟัง Feels So Good ผมก็คงจะเอียงคองงว่าเพลงบรรเลงอะไรจะเป็นที่นิยมได้ขนาดนั้น ทว่าหลังจากที่ได้ฟังมันครั้งแรกเมื่อตอนเรียนไฮสกูลอยู่เกรด 10 ในวิชา Music Appreciation ชีวิตผมก็เปลี่ยนไปตลอดกาล!

9 นาที 43 วินาที คือความยาวของเพลงนี้เพลงเดียว ถ้าเป็นเพลงไหนๆ เจอความยาวแบบนี้ ผู้ฟังน่าจะพากันเลี่ยง เพราะเพลงฮิตที่ดีมันต้อง 3 นาทีกว่าๆ แต่นี่เป็นการฟังเพลงในวิชาเกี่ยวกับเพลงจากยุคโบราณมาจนปัจจุบัน ไม่มีใครเลี่ยงได้ แถมอาจารย์ก็ไม่ได้เกริ่นอะไรเลย ท่านเพียงบอกว่าอยากให้ทุกคนฟังเพลงบรรเลงจากยุค 70’s กันหน่อย แล้วก็หยิบแผ่นเสียงมาเปิดทันที

เริ่มเพลงมา แค่ท่อน intro ที่มีแต่เสียงโซโล่ Flugelhorn เครื่องเป่าตัวโปรดของ Chuck Mangione เพียงตัวเดียว ก็ปาเข้าไปถึง 1 นาทีครึ่งแล้ว ทุกคนฟังไปงงไปว่านี่เพลงอะไร ทำไมเป่าเนิบๆ ไม่มีเครื่องดนตรีอื่นเลย

แต่ไม่ทันไรเมื่อสิ้นวลีเป่าสุดท้ายของอินโทร เสียงกีตาร์คมๆ รัวๆ สตรัมมารับกับเสียงกลอง เพอร์คัสชั่น เปียโน เบสครบชุด ในสีสันที่มีกลิ่นลาตินแจ๊สอันสนุกสนานลิงโลด กระชากอารมณ์สงบๆ ของช่วงอินโทรเข้าสู่โหมดคึกคัก ก่อนจะคลี่คลายสู่ความละมุนของท่อนหลักของเพลง ที่ใช้เสียง Flugelhorn ของ Chuck Mangione เป่าเมโลดี้หลัก ซึ่งเป็นเมโลดี้ที่ทุกคนจะจดจำได้ดีเมื่อนึกถึงเพลงนี้ จากนั้นเพลงก็เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ คล้ายรถไฟเหาะที่ไต่รางสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ก่อนจะพุ่งลงมา

มาถึงช่วงนี้ ผมจำได้แม่นยำว่าขนลุกซู่ไม่ต่างกับเวลานั่งรถไฟเหาะ เพราะไม่เคยได้ยินเพลงอะไรที่ฟังรู้สึกดีเหลือเกิน ทั้งทำนอง จังหวะ เมโลดี้ ช่างผสมออกมาเร้าต่อมสบายใจ ให้ล่องลอยไปกับความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งสมุนไพรใดๆ

เมื่อดนตรีเริ่มกลับมาผ่อนคลาย พระเอกของช่วงนี้สลับเป็นเสียงกีตาร์แจ๊สของ Grant Geissman ที่บรรเลงกีตาร์เมโลดี้หลักของเพลงในรูปแบบที่แตกต่างออกไป แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆบิลด์ขึ้นไปอีกครั้ง ตามด้วยเสียงแซ็กโซโฟนโดย Chris Vadala ที่รอบก่อนเป่าคลอเคลียร์กับ Flugelhorn ของ Chuck Mangione แต่รอบนี้เวทีเป็นของเขา ซึ่งก็ลากผู้ฟังค่อยๆ ทะยานขึ้นไปอีกครั้ง

แน่นอนว่าเบสและกลองก็ไม่ธรรมดา เพราะทั้งมือเบส Charles Meeks และมือกลอง James Bradley Jr. นั้น เล่นเข้าขา หนึบหนับ ฟั๊งกี้ กันสุดขีด ปูทางให้เพลงมีมิติและสีสันจนจะไม่อ้างอิงถึงไม่ได้

มาถึงจุดนี้ถ้าเปรียบดนตรีเป็นเรื่องเซ็กส์มันคือ multiple orgasm ทางเสียงเพลง ผมในวัย 15 ปี ไม่เคยมีอะไรแบบนี้ผ่านหูมาก่อน แค่นี้ก็รู้สึกมหัศจรรย์ในความอัศจรรย์ของการเรียบเรียงดนตรีเหนือชั้นนี้แล้ว แต่มันไม่จบแค่นี้

เพราะหลังจากนั้นท่อนกีตาร์โซโล่ที่หลายๆคนบอกว่าเป็นท่อนโซโล่ที่ดีที่สุดในโลกท่อนหนึ่งก็อุบัติขึ้น Grant Geissman คนเดิมเริ่มโซโล่มาเรียบง่าย แต่เพราะมากๆ ในใจยังคิดว่าเดี๋ยวจะไปแกะเล่นตาม แต่ไม่ทันไรความละเอียดอ่อน ความยุบยับก็ทวีขึ้นเรื่อยๆ ดั่งเสียงสวรรค์ ขั้นเทพ จับใจไม่รู้จบ ถือเป็นจุดสุดยอดของ Feels So Good สำหรับผม

ทว่าเพลงยังไม่จบ ความพีคผ่านไปแล้ว แต่ความรู้สึกดียังประดังเข้ามา ด้วยเสียง Flugelhorn แซ็กโซโฟน และเครื่องเป่าต่างๆ พาผลัดกันสลับกันออกมาสนุกกับเสียงเพลงไปจนดนตรีค่อยๆ เบาลง และจบเพลงไปในที่สุด

ในวันนั้นเป็นช่วงหน้าหนาวของปี 1992 ราว 15 ปีหลังจากที่ Feels So Good ได้ออกสู่หูผู้คน แต่มันเป็นครั้งแรกสำหรับผมและเพื่อนๆ ในห้องเรียน เพลงที่เลิกฮิตไปนานแล้วเพลงนี้ เปิดโลกใหม่ให้ผมตลอดกาล และทำให้ผมลุ่มหลงในดนตรีที่มีเครื่องเป่า เสียงกีตาร์แจ๊สผสมฟั๊งค์ เบสที่เดินดึ๊ปดั๊บไปทั้งเพลง เสียงกลองร่ำรวยรายละเอียด และเพอร์คัสชั่นกรุ๊งกริ๊งเร้าอารมณ์ โดยเฉพาะเสียงเครื่องเป่าและกีตาร์ในเพลงนี้ พาให้ผมค้นพบแนวดนตรีที่ชอบอย่างแท้จริงตั้งแต่วันนั้น

ซึ่งผมยังจำวันนั้นได้ดี ว่าหลังจากนั้นผมก็จำอะไรที่อาจารย์สอนไม่ได้อีกเลย เพราะในหัวมีแต่เมโลดี้ของเพลงๆ นี้ เปิดลูปหมุนเวียนวนไปวนมาอยู่ในสมองตลอด เพราะกลัวลืม และตั้งใจไว้เลยว่าจะต้องไปหาซื้อเพลงนี้มาครอบครองให้ได้

จาก Feels So Good ผมได้ตามหาฟังผลงานต่างๆ ของ Chuck Mangione มาโดยตลอด สมัยนั้นมันไม่ได้หาง่ายๆ เพราะต้องไปขุดค้นหาอัลบั้มที่ออกเมื่อ 15-20 ปีก่อนหน้าจากร้านซีดี ร้านแผ่นเสียงเอาเอง (ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ทุกชุดที่ผมหาและที่หาไม่เจอ มีให้ฟังง่ายๆ ในสตรีมมิ่งหมด)

แต่ความพีคอยู่ที่ปี 1997 เมื่อ Chuck Mangione อายุได้ 57 ปี เขามาแสดงคอนเสิร์ตเล็กๆ ชนิดคนดูไม่ถึง 100 คน ณ ร้านอาหารในโรงแรมที่เมืองที่ผมเรียนอยู่พอดี ทำให้ผมมีโอกาสได้เข้าไปนั่งดู นั่งฟัง Chuck Mangione เล่นเพลง Feels So Good สดๆ ต่อหน้า

แต่น่าเสียดายที่เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากวันที่เพลงนี้ออกมาสู่โลกได้ 20 ปี ทีมนักดนตรีแบ็คอัพของเขาเปลี่ยนไปหลายชุดแล้ว โดยเฉพาะมือกีตาร์ Grant Geissman ที่ผมชอบนั้น กลายเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ไม่ได้ทัวร์ด้วยแล้ว ทำให้ท่อนโซโล่กีตาร์ในตำนาน ที่ผมเฝ้ารอจะได้ฟังสดๆ ไม่เหมือนที่เคยฟังเลยสักนิด เพราะพี่มือกีตาร์คนใหม่อิมโพรไวซ์ไปตามสไตล์เขา ซึ่งก็เพราะไปอีกแบบ แต่ไม่ใช่แบบที่เฝ้ารอ คล้ายเวลาตั้งใจจะไปทานข้าวมันไก่เจ้าเด็ด แต่ได้โอยาโกะด้งระดับมิชลินมาแทน อร่อยแต่ไม่หายอยาก

ภายหลังผมก็พบว่าแม้แต่ Grant Geissman สมัยก่อนก็ไม่ได้เล่นเหมือนกับที่บันทึกเสียงไว้ เพราะตอนอัดเพลงนี้ เขาก็อิมโพรไวซ์ไปตามใจ ภายหลังเจ้าตัวเมื่อมีคนมาถามว่าเล่นท่อนนี้อย่างไร ก็ต้องกลับมานั่งแกะที่ตัวเองเล่นไว้ และเขียนโน๊ตเอามาแปะในเว็ปไซต์ของเขา

แม้กีตาร์จะไม่เป๊ะ แต่อย่างไรก็ตามทุกเมโลดี้จาก Flugelhorn ของ Chuck Mangione ก็เป่าออกมาได้เหมือนที่คุ้นเคย อบอุ่น นุ่มนวล หวานฉ่ำ

30 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่ฟัง Feels So Good เพลงๆ นี้ได้กลายเป็นเพลงแบ็คกราวด์ชีวิตของผมมาโดยตลอด เป็นรักแรกฟังอย่างที่ไม่น่าจะมีวันเบื่อ มันเป็นเพลงที่ผมเลือกให้บรรเลงในงานแต่งงานของผม เป็นเพลงที่ผมเปิดให้ภรรยาและลูกฟัง เป็นเพลงที่วันไหนที่รู้สึกอ่อนล้าหัวใจ เปิดขึ้นมาฟัง ความรู้สึกดีๆ ของช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิต ก็พลังพรูออกมา ทำให้พร้อมที่จะลุยต่อไป

ผมแอบหวังไว้ว่า Chuck Mangione ในวัย 81 จะกลับมาแสดงอีกสักครั้ง ซึ่งถ้ามาจริง ผมจะดั้นด้นหาทางไปดูแกเล่นอีกถึงที่ให้ได้เลย ส่วนท่านใดยังไม่เคยฟัง ผมขอชิญเชวนมาลองฟัง Feels So Good สักรอบจะติดหูจนติดใจครับ!