#แพงทั้งแผ่นดิน : แม่ค้าโวย ของราคาขึ้นยับ น้ำมันปาล์มขวดละ 60 พณ.ชี้ทั่วโลกก็พุ่งทุบสถิติ

แม่ค้าโวย ของแห้ง-ของสด ราคาขึ้นยับ น้ำมันปาล์มขวดละ 60 เนื้อแดงจ่อกิโลละ 300 ด้านหมูสันคอ หมูสามชั้น ราคาอยู่ที่กิโลละ 240 พณ.ชี้ 5 ปัจจัยตัวป่วน ทั่วโลกเผชิญ ราคาสินค้า-ค่าครองชีพ พุ่งทุบสถิติสูงสุด

วันที่ 15 มกราคม 2565ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ราคาของแห้งของสด ภายในตลาดยิ่งเจริญ (สะพานใหม่) พบว่าได้รับการยืนยันจากเกือบทุกร้านค้าว่า มีการปรับราคาขึ้นเกือบทุกรายการ ไม่เฉพาะหมู ไก่ ไข่ ที่ราคาแพงขึ้นแล้ว โดยพ่อค้าแม่ค้าบ่นเรื่องยอดขายไม่ค่อยดี หลังจากราคาสินค้าสูงขึ้นทำให้คนมาซื้อสินค้าต่าง ๆ ลดลง

นายบัญชา คำกิ่ง เจ้าของร้านบุญชูบัญชา จำหน่ายอาหารแห้ง กล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา สินค้าเกือบทุกชนิดปรับราคาขึ้น อาทิ น้ำมันพืชปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง ปรับขึ้นขวด (ลิตร) ละ 5 บาท จากราคา 55 บาท เป็น 60 บาท น้ำมันบัว (น้ำมันมะพร้าวผสมน้ำมันปาล์ม) บรรจุ (1 ลิตร) ถุงละ 70-75 บาท เป็น 80 บาท ข้าวสารเหนียว จาก 25 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เป็น 30 บาท

ส่วนกระเพาะปลาแห้งปรับขึ้นเท่าตัวจาก 450 บาท/กก. เป็น 980 บาท แป้งทอดอเนกประสงค์ถุงละ 35 บาท เป็น 38 บาท เส้นหมี่ถุงละ 27 บาท เป็น 30 บาท กะทิกล่องขึ้น 5 บาท สารกันบูดจาก 100 บาท/กก. เป็น 150-175 บาท/กก. ผงชูรสขึ้น 20 บาท จาก 75 บาท/กก. เป็น 95 บาท/กก. หากเป็นถุง (500 กรัม) จาก 40 บาท เป็น 45 บาท

นางกาญนา ลายน้ำเงิน แม่ค้าหมู กล่าวว่า หลังหมูราคาแพงทำให้ยอดขายตกไปถึง 70% ตอนนี้ที่ร้านพยายามไม่ปรับราคาขึ้นมาก ถ้าปรับมากก็ขายไม่ได้ สำหรับราคาขายตอนนี้ เช่น เนื้อแดงอย่างดี อยู่ที่ 200 บาท/กก. สามชั้น 240 บาท/กก. สันคอ 240 บาท/กก. ซี่โครง 220 บาท/กก. ไส้ 160 บาท/กก. ขาหมู 115 บาท/กก. ตับ 140 บาท/กก. หมูบด 160 บาท/กก.

ขณะที่แม่ค้าร้านขายเนื้อวัว กล่าวว่า ราคาปรับขึ้นแล้ว 10 บาท/กก. มาสักระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้สันในอยู่ที่ 300-350บาท/กก. เนื้อแดง/เนื้อโคขุน 250 บาท/กก. เนื้อดาวกระจายมันแทรก 300 บาท/กก. สะโพก 260 บาท/กก. เซอร์ลอยน์ 260 บาท/กก. เนื้อแดดเดียวเส้น 200 บาท/กก. แดดเดียวแผ่น 240 บาท/กก. เป็นต้น มีแนวโน้มที่เนื้อแดงราคาจะขยับไปถึง 300 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและค่าครองชีพ รวมถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้า พบว่า หลายประเทศเจอภาวะราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ต่อเนื่องจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยตลาดสำคัญที่ทูตพาณิชย์รายงาน ได้แก่

สหรัฐ พบว่า ราคาสินค้าเดือนธันวาคม 2564 พุ่งสูงขึ้น 7% เทียบกับธันวาคม 25 3 นับว่าเพิ่มสูงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี โดยใน 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้นเฉลี่ย 29.3% อาหารเพิ่มขึ้น 6.3% และสินค้าอื่น 5.5% ส่งผลต่อร้านอาหาร ธุรกิจบริการ เครื่องนุ่งห่ม เฟอริเจอร์ เป็นต้น

ตลาดแคนาดา พบว่า เผชิญกับผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งสัญญาณให้ค่าครองชีพ ใน แคนาดาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2564 โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 4.7 ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ห้างค้าปลีกทยอยปรับเพิ่มราคาสินค้า เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ตลาด เคนยา พบว่า ค่าครองชีพในเคนยาปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 30 จากปี 2563 โดยราคาสินค้าอาหารทุกรายการสำคัญ เช่น ขนมปัง น้ำมันพืช ผักและผลไม้ ปรับเพิ่มขึ้น
15-25% จากปีก่อน

ตลาดอิสราเอล พบว่า อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาขนส่ง เพิ่มขึ้น 3.4% เครื่องตกแต่ง 7.8% อาหารไม่รวมผักและผลไม้ 2.8% การศึกษา 3.2% และที่อยู่อาศัย 2.6%

ตลาด ชิลี พบว่า อัตราเงินเฟ้อ ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 7.2% ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 13 ปี โดยราคาสินค้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ยกเว้นหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
ตลาดไต้หวัน พบว่า ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค64 ตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้น 1.96% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นถึง 2.62% โดยเฉพาะค่าอาหารที่รับประทานนอกบ้าน เพิ่มขึ้น 2.39% สูงสุดในรอบ 81 เดือน อาหารประเภทหม้อไฟ และอาหารเช้าสไตล์จีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 4% สำหรับหมวดอื่นๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 2-3%

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุต่อว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นได้รับแรงกดดัน จาก 1.วิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก เกิดความล่าช้าและติดขัดตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคการขนส่งและ โลจิสติกส์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปตลอดปีนี้ 2.การขาดแคลนแรงงาน 3.การขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง semiconductors(สานกึ่งตัวนำ) 4.การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดค้าปลีก และ 5.สภาวะอากาศที่ผิดปกติในหลายพื้นที่