เจาะเลือกตั้งซ่อมโค้งท้าย ชุมพร-สงขลา-กทม.เดือด เกมหยั่งเชิงเลือกตั้งใหญ่ 2 พรรครัฐบาลแตกหัก!/บทความในประเทศ(ประจำวันที่ 14-20 มกราคม 2565 ฉบับที่ 2161)

บทความในประเทศ

 

เจาะเลือกตั้งซ่อมโค้งท้าย

ชุมพร-สงขลา-กทม.เดือด

เกมหยั่งเชิงเลือกตั้งใหญ่

2 พรรครัฐบาลแตกหัก!

 

ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 3 เขตใน 3 จังหวัด ได้แก่ เขต 1 ชุมพร เขต 6 สงขลา เข้าสู่โค้งสุดท้าย ก่อนวันหย่อนบัตร 16 มกราคม และ กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร กลองรบรัวกระชั้น ก่อนเปิดคูหาชี้ชะตา 30 มกราคม

นอกจากเป็นสัญญาณบ่งบอกบรรยากาศต่อสู้แข่งขันดุเดือด ยังหมายถึงเครื่องชี้วัดทิศทางการเมืองในอนาคตของแต่ละพรรค

เห็นได้จากการระดมสรรพกำลัง ยกทัพหลวงลงพื้นที่หาเสียงโดยเฉพาะพื้นที่ชุมพร และสงขลา ที่เปิดศึกกันเองระหว่างพรรครัฐบาล พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ โดยมีพรรคก้าวไกลกับพรรคกล้าเป็นตัวสอดแทรก

ประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลมีดีกรีเป็นถึงแชมป์เก่าเจ้าถิ่น แต่เมื่อต้องมาห้ำหั่นกับพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ ที่ยกทัพแบบฟูลออปชั่นหวังพิชิตชัยทั้ง 2 สนาม

การเลือกตั้ง 2 จังหวัดภาคใต้จึงเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี อารมณ์เดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสนามเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราช เมื่อเดือนมีนาคม 2564

ครั้งนั้นประชาธิปัตย์พ่ายคาบ้าน เสียเก้าอี้ให้พลังประชารัฐผู้ชนะเลือกตั้ง ซึ่งผลที่ออกมาถูกตีความว่าคือสัญญาณความถดถอยของพรรคเก่าแก่อันดับ 1 ต่อเนื่องจากการเลือกตั้งใหญ่มีนาคม 2562

ครั้งนี้ผลจะเป็นอย่างไร ประชาธิปัตย์จะฟื้นคืนศักดิ์ศรีได้หรือไม่ เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

ขณะที่สนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร วันที่ 30 มกราคม ชัดเจนว่าเป็นการแข่งขันระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาลคือพลังประชารัฐ ส่วนพรรคฝ่ายค้านคือ เพื่อไทย กับก้าวไกล

แถมยังมีพรรคพันธมิตรรัฐบาลอย่างพรรคไทยภักดี และที่ยังมีจุดยืนไม่ชัดเจนอย่างพรรคกล้า เป็น 2 ตัวเลือกร่วมแข่งขัน

เลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม. ความสำคัญคือเป็นตัววัดกระแสความนิยมของคนกรุงอย่างแท้จริง

ผลแพ้ชนะจะเปิดเผยให้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละพรรคที่ส่งผู้สมัครลงแข่ง เพื่อนำไปแก้ไข ต่อเติม เสริมแต่ง

เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหญ่

 

ศึกเลือกตั้งซ่อมที่สู้กันอย่างดุเดือดตั้งแต่เริ่มคือเขต 1 ชุมพร

เป็นการเลือกตั้งซ่อมหลังจาก “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส จากค่ายประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นผลจากการถูกคุมขังโดยหมายศาลในคดีกบฏ

เลือกตั้งซ่อมหนนี้ ประชาธิปัตย์ยังไว้วางใจส่งนายอิสรพงษ์ มากอำไพ หลานเมียของ “ลูกหมี” ลงสู้ศึก

โดยก่อนหน้านี้มีข่าวสะพัดหนาหูว่าเลือกตั้งสมัยหน้า “ลูกหมี” เตรียมย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่การเมืองคือเรื่องไม่แน่นอน จึงเกิดดีลล่มเสียก่อน

ขณะที่พลังประชารัฐ ตอนแรกมีมติว่าจะไม่ส่งคนลงแข่งสนามนี้ เพื่อหลีกทางให้ลูกหมี แต่ก็กลับมติในภายหลัง ส่งนายชวลิต อาจหาญ หรือทนายแดง อดีตผู้สมัครรอบที่แล้วมีนาคม 2562 และได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ลงชิงชัย

พรรคก้าวไกลส่งนายวรพล อนันตศักดิ์ ไรเดอร์หนุ่มลงเปิดตลาดคนรุ่นใหม่ พรรคกล้าส่ง พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ หรือผู้กำกับหนุ่ย อดีตนายตำรวจติดตามนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค ลงวัดดวง

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหัวหน้าแต่ละพรรค ต่างนำทีมลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียงกันคึกคัก ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

แต่สิ่งที่ทำให้สนามเลือกตั้งนี้เป็นที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นการห้ำหั่นกันเองของพรรครัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ

เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของแชมป์เก่าเจ้าถิ่นที่แพ้ไม่ได้ กับพรรคใหญ่ของรัฐบาลที่แกนนำพรรคหวังผลสองเด้ง คือเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ให้พรรค และเพิ่มบารมีในพรรคให้กับตัวเอง

สิ่งสะท้อนบรรยากาศการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของสนามนี้ นอกจากเหตุการณ์ดักยิงรถแห่หาเสียงของพรรคกล้า ที่ตอนหลังพบว่ามือยิงเป็นคนป่วยทางจิต อยู่ระหว่างพักโทษคดียาเสพติด

ก่อนหน้านั้นคือกรณีโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถลง พบการเคลื่อนไหวของนายทหาร “เสธ.ต.” พร้อมชุดกำลังกว่า 100 นาย เข้ามาแทรกแซงการรณรงค์หาเสียงของพรรคในพื้นที่เขต 1 ชุมพร

ประเด็นนี้ทำให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ต้องสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วน เพราะหวั่นกระทบภาพลักษณ์ความเป็นกลางทางการเมืองของกองทัพบก ที่สั่งการกำลังพลให้ยึดถือปฏิบัติมาตลอด

สุดท้ายการตรวจสอบกลับด่วนไม่จริง เนื่องจากมีข่าวว่าทางกองทัพบกเตรียมสรุปผลสอบตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ก่อน เพราะจากการตรวจสอบเบื้องต้นรู้แล้วว่า “เสธ.ต.” ที่ถูกพาดพิงถึงคือใคร เชื่อมโยงกับอดีตบิ๊กทหารระดับแม่ทัพภาค ที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองคนไหน อย่างไร

แต่เมื่อถึงเวลากลับเงียบหาย จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยผลสอบกรณีดังกล่าว

 

สนามเลือกตั้งเขต 6 สงขลา เป็นการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แทนนายถาวร เสนเนียม แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ สาย กปปส. ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพเช่นเดียวกับนายชุมพล จุลใส

พรรคประชาธิปัตย์ส่ง น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ดีกรีรองนายก อบจ.สงขลา และนางงามสมิหลา ลุยสู้ศึก พรรคพลังประชารัฐส่งนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ นักธุรกิจดังลงแข่ง พรรคก้าวไกลส่งนายธิวัชร์ ดำแก้ว และพรรคกล้าส่งนายพงศธร สุวรรณรักษา

บรรยากาศดุเดือดอยู่ที่ 2 พรรครัฐบาลเจ้าเก่า พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ เปิดศึกตะลุมบอนกันด้วยวิวาทะ

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พลังประชารัฐ ออกมาโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ที่คุมกระทรวงหัวใจหลักเศรษฐกิจอย่างพาณิชย์และเกษตรฯ ว่าบริหารงานล้มเหลว ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพสูงขึ้น จากกรณีหมูแพง

ซึ่งได้รับการตอบโต้รุนแรงในระนาบเดียวกันจากโฆษกประชาธิปัตย์ รวมถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคที่ถึงแม้จะไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าการที่ ส.ส.พลังประชารัฐยกเรื่องหมูแพงขึ้นมาโจมตี เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้หรือไม่ แม้จังหวะจะสอดรับกัน

แต่นายจุรินทร์ก็ได้กล่าวฝากไปถึงบางพรรคการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐเข้ามาเอื้อประโยชน์ในการเลือกตั้ง ให้เลิกการกระทำดังกล่าวเพราะเป็นการทำลายความยุติธรรม ทำลายความชอบธรรมในการเลือกตั้ง และทำลายระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว

2 พรรครัฐบาลไม่มีใครยอมถอยให้ใคร แกนนำแต่ละพรรคต่างยกทัพหลวงลงพื้นที่ช่วงหาเสียงโค้งสุดท้าย

พรรคพลังประชารัฐนำโดย “หัวหน้าป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พรรค อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค นายสุชาติ ชมกลิ่น กรรมการบริหารพรรค และผู้อำนวยการเลือกตั้งเขต 6 สงขลา

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรค นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค และคณะ ส.ส.จากส่วนกลางและพื้นที่ภาคใต้ มาร่วมขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ช่วยผู้สมัครของพรรค

พล.อ.ประวิตรกล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า มาพบพี่น้องชาวใต้ด้วยความชื่นชมยินดีที่พบว่ามีพี่น้องประชาชนมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก จึงอยากบอกว่า “พรรคพลังประชารัฐใจถึงพึ่งได้ และรักคนใต้มากที่สุด”

สำหรับการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 สงขลา ข่าวจากผู้เกาะติดขอบสนามแจ้งผลประเมินสถานการณ์ช่วงโค้งท้าย พลังประชารัฐมาแรง มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะคว้าชัยชนะ โค่นแชมป์เก่าประชาธิปัตย์ได้อีกครั้ง

ด้วยเหตุผลและปัจจัยเกื้อหนุนเดิมๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสนามเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราช เมื่อเดือนมีนาคม 2564

ศึกเลือกตั้งซ่อมสงขลา จึงอาจมีบทสรุปไม่ต่างจากเดิม ยกเว้นเกิดเหตุพลิกผันจากกรณีล่าสุด พรรคก้าวไกลเข้ายื่นร้องเรียนต่อ กกต. กล่าวหา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หาเสียงช่วยผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ

เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการสัญญาว่าจะให้

 

สุดท้ายเป็นสนามเขต 9 หลักสี่-จตุจักร กทม. เลือกตั้งซ่อม ส.ส.แทนนายสิระ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐที่สิ้นสุดสภาพการเป็น ส.ส. จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเหตุเคยต้องคำพิพากษาคดีกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต

การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ถูกมองว่าผลแพ้ชนะคือบททดสอบคะแนนเสียงอันบริสุทธิ์ และความนิยมของแต่ละพรรค

พรรคพลังประชารัฐส่ง “มาดามหลี” สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยานายสิระ ลงเลือกตั้งหวังรักษาเก้าอี้ของสามีเอาไว้

พรรคเพื่อไทยส่งสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.เขตนี้ อันดับ 2 จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วลงทวงคืนเก้าอี้

ที่น่าจับตาคือพรรคก้าวไกลที่ส่งดาราหนุ่ม “เพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ ลงมากวาดคะแนนคนรุ่นใหม่

พรรคกล้าส่งนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค และอดีต ส.ส.เขตจตุจักร 2 สมัย ซึ่งถือว่าลงเดิมพันสูงมาก โดยมีพรรคไทยภักดี และพรรคไทยศรีวิไลย์ส่งผู้สมัครลงแข่งด้วยเช่นกัน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครลงเขตนี้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องมารยาททางการเมืองในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากเขต 9 กทม. เป็นพื้นที่เดิมของพลังประชารัฐ

ถึงจะเป็นสนามเลือกตั้งเมืองหลวง แต่ก็มีข่าวเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่าในบางชุมชนและกลุ่มเปราะบาง มีพฤติกรรมการเก็บบัตรประชาชน โดยจ่ายให้หัวละ 1,500 บาท เรียกร้องให้ กกต.เข้ามาตรวจสอบ

ผลเลือกตั้งซ่อม 3 เขต 3 จังหวัด จึงเป็นสัญญาณการเมืองน่าจับตา เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางการประเมินสถานการณ์ตรงกันของฝ่ายการเมืองว่า

ด้วยปัจจัยด้านการเมืองและเศรษฐกิจจะเป็นตัวลดทอนอายุรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สั้นลง

การเลือกตั้งใหญ่เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้