ความวุ่นวายใน ‘คาซัคสถาน’ ที่ส่งผลสะเทือนระดับโลก/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

ความวุ่นวายใน ‘คาซัคสถาน’

ที่ส่งผลสะเทือนระดับโลก

 

คาซัคสถาน เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงระดับสูงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียกลาง

ทว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประชาชนกลับลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลจนเกิดความรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน นับเป็นการนองเลือดมากที่สุดนับตั้งแต่ประกาศเอกราชเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 90 เลยทีเดียว

ความรุนแรงดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ไม่เท่านั้น ยังส่งผลกระทบกับตลาดคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะ “บิตคอยน์” ที่ราคาร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

คำถามก็คือ ความวุ่นวายใน ‘คาซัคสถาน’ เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งเหล่านี้

 

‘คาซัคสถาน’ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่าง ‘รัสเซีย’ และ ‘จีน’ มีชายแดนติดกับประเทศที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตอื่นๆ อีกหลายประเทศ นับเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง และดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศได้อย่างมหาศาล

ในแง่ภูมิศาสตร์ คาซัคสถานเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างตลาดใน “จีน” และ “เอเชียใต้” เป็นประเทศที่เชื่อมโยง “รัสเซีย” และ “ยุโรป” เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านทั้งทางถนน ทางรถไฟ และท่าเรือในทะเลแคสเปียน

นั่นทำให้รัฐบาลคาซัคสถานเองตั้งฉายาให้กับตัวเองว่าเป็น “หัวเข็มขัด” ในนโยบายการค้า “Belt and Road” หรือนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน

คาซัคสถานมีความสำคัญในแง่พลังงานในฐานะผู้ผลิต “ยูเรเนียม” แร่ที่ใช้ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก ผลิตน้ำมันป้อนตลาดมากถึง 85.7 ล้านตันในปี 2021 ที่ผ่านมา

และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ส่งผลให้ “ราคาน้ำมัน” และ “ราคาแร่ยูเรเนียม” ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ คาซัคสถานยังเป็น “เหมืองบิตคอยน์” ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

และความรุนแรงในประเทศที่ส่งผลให้รัฐบาลต้องตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ นั่นทำให้ “Hashrate” หรือตัวเลขที่วัดระดับกำลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบ “บล็อกเชน” บิตคอยน์ ร่วงลงทันที 10 เปอร์เซ็นต์

ทำให้ราคา ‘บิตคอยน์’ ร่วงลงตามไปด้วย

 

ปัจจุบันคาซัคสถานปกครองโดยประธานาธิบดีคาสซิม-โจมาร์ต โตคาเยฟ วัย 68 ปี ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2019 แทนที่นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ อดีตสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองโปลิตบูโร ของสหภาพโซเวียต ผู้ปกครองคาซัคสถานยาวนานเกือบ 30 ปี

การเปลี่ยนผู้นำ สร้างความหวังให้กับประชาชนว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น

แต่กลับกลายเป็นว่า โตคาเยฟกลับสานต่อนโยบายต่างๆ ของอดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟ จนกระทั่งความไม่พอใจปะทุขึ้นเมื่อมีการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีถึงสองเท่า

ราคาที่พุ่งสูงเป็นผลจากรัฐบาลยกเลิกการกำหนดเพดานราคาก๊าซแอลพีจี กระทบกับประชาชนที่นอกจากจะใช้ก๊าซในการหุงต้มแล้ว ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ในการสัญจรในประเทศที่มีทางเลือกในการเดินทางไม่มากนัก

ประชาชนออกมารวมตัวประท้วงกันเป็นจำนวนมาก และขยายวงไปถึงเรื่องความไม่พอใจกับการทุจริต รายได้ที่ไม่เท่าเทียม และปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ยังมีความไม่พอใจกับระดับเงินเฟ้อสูงเกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดในรอบ 5 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็น 9.75 เปอร์เซ็นต์

 

การประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนจะขยายไปในหลายเมืองทั่วประเทศ ความรุนแรงลุกลามมากขึ้นจนถึงขั้นการลอบวางเพลิง มีการบุกยึดสนามบินจนส่งผลให้เที่ยวบินต้องยกเลิกและเปลี่ยนเส้นทางทั้งหมด เรื่อยไปจนถึงใช้ระเบิดโจมตีบ้านประธานาธิบดี จนในที่สุดรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่พันธมิตรอย่างรัสเซียส่งทหารเข้ามาร่วมควบคุมสถานการณ์ด้วยข้ออ้างว่ากลุ่มผู้ประท้วงได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ

ความรุนแรงพุ่งขึ้นถึงขีดสุดเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโตกาเยฟจะประกาศให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร “ยิงสังหาร” ผู้ก่อความไม่สงบได้ทันทีเพื่อควบคุมสถานการณ์

รัฐบาลเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมดเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 164 ราย มีผู้บาดเจ็บอีกมากกว่า 2,000 คน และมีผู้ถูกจับกุมมากถึง 5,800 คน

แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุผลของความรุนแรงครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นความไม่พอใจจากภาวะเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในประเทศ

คาซัคสถาน ประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก และมีประชากรที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในเอเชียกลาง แต่ก็เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ประชากรครึ่งหนึ่งอาศัยในชนบทมีฐานะยากจนและไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอที่จะได้รับบริการสาธารณะของประเทศ

ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าของประเทศกลับสร้างความร่ำรวยให้กับชนชั้นสูงส่วนน้อย ล่าสุดมีประชากรคาซัคสถาน 1 ล้านคน จากทั้งหมด 19 ล้านคนที่ต้องถูกจัดให้มีฐานะต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน

 

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์การเมืองคาซัคสถานก็มองว่าอีกเหตุผลของความวุ่นวายครั้งนี้เกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำ

โดยแม้อดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลังอย่างแท้จริง แต่ประธานธิบดีโตคาเยฟใช้การประท้วงดังกล่าวเป็นเหตุผลในการปลดอดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟ วัย 81 ปี ออกจากประธานคณะกรรมการความมั่นคงของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมคนใกล้ชิดอย่างคาริม มาซิมอฟ อดีตผู้บัญชาการหน่วยสืบราชการลับที่ทำหน้าที่อารักขาประธานาธิบดีที่ถูกมองว่าเป็นข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองคาซัคสถานมองว่า การแย่งชิงอำนาจดังกล่าวจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในคาซัคสถาน และว่า การแย่งชิงอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องเฉพาะระหว่างโตกาเยฟและนาซาร์บาเยฟเท่านั้น

แต่หมายถึงการแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองของประเทศทั้งหมดด้วย