คำ ผกา | พร้อมกินขี้กินหญ้า

คำ ผกา

สําหรับฉันมันเหลือเชื่อมากที่จะได้อ่านความคิดเห็นของกลุ่มคนเชียร์นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเขารักของเขากันมากเหลือเกินหลังจากที่ประชาชนก่นด่าเรื่องเนื้อหมูแพงว่า “หมูแพงก็ไปกินอย่างอื่นสิ กินปลา กินผัก ละเว้นการฆ่าหมู ได้บุญแถมหุ่นดี”

บ้างก็ว่า “หมา แมวตัวละเป็นหมื่นเป็นแสนซื้อได้ หมูกิโลละสองร้อยซื้อไม่ได้”

ฉันคิดว่าคนเหล่านี้ไม่ได้โง่ เพราะหากปัญหานี้เกิดในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพรรคใดก็ตาม คนเหล่านี้ต้องออกมาโจมตีสาดเสียเทเสีย เช่น “แพงทั้งแผ่นดิน” มาพร้อมทักษะความสามารถในการขุดคุ้ยการคอร์รัปชั่น โกงกิน การฮั้วกันของนักการเมืองกับนายทุน ฯลฯ

แต่เพียงเพราะนี่เป็นนายกฯ ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็น “คนดี” เป็นถึงหัวหน้าคณะรัฐประหารที่มาปราบโกงเพื่อชาติบ้านเมือง ดังนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันมีหน้าที่หลับหูหลับตาดีเฟนด์ แก้ต่างให้นายกฯ คนนี้

เพราะถ้าฉันยอมรับว่านายฯ คนนี้ไม่ได้เรื่อง มันก็เท่ากับการ “ด่า” ตัวเอง ที่โง่เง่าเห็นผิดเป็นชอบ เห็นขี้เป็นข้าว เห็นว่าการรัฐประหารดีกว่าประชาธิปไตย

ให้คนเหล่านี้ไปผูกคอตายใต้ต้นมะเขือเทศ ยังง่ายกว่าให้คนเหล่านี้ยอมรับว่าตัวเองเคยผิด เคยโง่ เคยกินขี้แทนข้าวมาแล้ว และตอนนี้ก็กล้ำกลินฝืนใจกินขี้ทุกวัน เพราะอายเกินกว่าจะบอกว่า สิ่งนี้กินแทนข้าวไม่ได้

จิตวิญญาณของความเป็นสลิ่ม มันก็เป็นเช่นนี้แล

อันที่จริงเรื่องราคาหมูแพงครั้งนี้ ควรจะเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนไทยทุกคนคิดเรื่องความสามารถของประเทศไทยในการพึ่งตนเองได้ในเรื่องอาหาร

ก่อนที่จะไปพูดเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” มาดูเรื่องหมูแพงในครั้งนี้ก่อน

ตามข้อมูลที่ไปหาอ่านได้ไม่ยาก ทำให้เรารู้ว่าอุตสาหกรรมเนื้อหมูในไทยนั้นอยู่ในมือของรายใหญ่ร้อยละ 80 เป็นของรายย่อยร้อยละ 20

นอกจากนั้น จากการ “เจาะ” หาข้อมูลของนักข่าว ยังพบว่า ฟาร์มหมูของรายย่อยร้อยละ 20 นั้นเผชิญกับโรคระบาดหมูที่หลายฝ่าย เช่น ทางคณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า พบโรค ASF หรืออหิวาห์หมู ในไทย แต่จะโรคอะไรก็แล้วแต่ มีปัญหาโรคระบาดในหมูในช่วงสามปีที่ผ่านมาแน่นอน แต่ทางปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่มี ASF ในเมืองไทย

ASF นั้น ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน โรคนี้ระบาดทั้งในจีน ฟลิปปินส์ เวียดนาม

เหตุจากโรคระบาด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ฟาร์มหมูร้อยละ 80 ของรายย่อยนั้นเมื่อเจอกับโรคระบาดหมู ต้องนำหมูออกขายราคาถูกที่หน้าฟาร์ม หรือนำหมูป่วยไปโยนทิ้งแม่น้ำ หรือฝังกลบไปไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนตัว

จากนั้นต้องยุติการทำฟาร์ม เพราะเมื่อฟาร์มเจอโรค ต้องใช้เวลาเคลียร์โรคระบาดอย่างน้อย 6-12 เดือน

มีผู้เลี้ยงหมูน้อยรายที่จะแบกรับต้นทุนนี้ไหว

ถามว่า รายใหญ่ได้รับผลกระทบหรือไม่ คำตอบคือ ได้เช่นเดียวกัน แต่มีสายป่านยาวกว่า และมีตู้คอนเทนเนอร์ ห้องเย็น ที่สามารถแช่แข็งเนื้อหมูไว้เป็นปริมาณ มหาศาล

พร้อมทั้งมี know how นวัตกรรม ทรัพยากร องค์ความรู้ ที่จะบริหารจัดการ การเก็บ และการทยอยนำหมูออกสู่ท้องตลาดในแบบที่นอกจากจะไม่ขาดทุนแล้ว ยังได้กำไรสูงสุด

พูดง่ายๆ คือ ทุนใหญ่มีความได้เปรียบในแง่ศักยภาพของการเป็นเจ้าของ ตั้งแต่ไร่ข้าวโพด อุตสาหกรรมยา อาหารสัตว์ วัคซีน ฟาร์ม ไปจนถึงตลาดค้าปลีก

และด้วยศักยภาพนี้ ในยามที่รายย่อยเผชิญกับวิกฤต และอาจต้องล้มละลาย เลิกกิจการไป ก็จะเหลือแต่รายใหญ่เท่านั้นที่รอดเพราะสายป่านยาว และแบกรับต้นทุนที่ต่ำกว่า เพราะผลิตเองได้หมด ตั้งแต่วัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์

ทีนี้ถ้าไม่เหลือรายย่อยเลย หรือเหลือน้อยมาก คำถามที่น่าสนใจว่า แหล่งโปรตีนอย่างหมู ไข่ และไก่ของคนไทย จะถูกผูกขาดโดยนายทุนไม่กี่ยี่ห้อหรือไม่?

ฉันซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจก็ต้องตอบว่า ไม่แน่ใจ แต่อยากเปรียบเทียบกับกรณีของไก่

แม้ว่าเนื้อไก่ แหล่งโปรตีนราคาถูกอีกแหล่งหนึ่งของมนุษย์และคนไทย จะถูกผูกขาดโดยนายทุนใหญ่ของอุตสาหกรรมการเกษตร และไก่ยังเป็นสิ่งที่คนตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาส disrupt ได้บ้าง

เช่น ชาวบ้าน คนในชนบท ยังสามารถเลี้ยงไก่แบบเลี้ยงปล่อย เพื่อการบริโภค ไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงไว้ขายได้ และราคาของ “ไก่บ้าน” นั้นแพงกว่าไก่ฟาร์ม อีกทั้งตลาดยังต้องการเนื้อไก่บ้านอย่างไม่มีวันจะพออีกด้วย

เพราะเนื้อไก่บ้าน ทั้งที่เลี้ยงแบบชาวบ้านจริงๆ หรือฟาร์ม free ranch ของเกษตรกรที่หันมาทำเกษตร “ทางเลือก” ถูกจัดไว้ในหมวดหมู่วัตถุดิบคุณภาพ/ราคาแพง

ไข่ไก่บ้านฟองเล็ก ทั้งของชาวบ้านและของฟาร์ม นั้นฟองละสิบบาท คนแย่งกันซื้อตาไม่กะพริบ

แต่ไก่ฟาร์มของ “ทุนใหญ่” ถูกจัดไว้ในอาหารราคาถูกของ “คนจน” และแน่นอนว่า “ทุนใหญ่” ก็แตกแบรนด์ของคนมาทำไก่ออร์แกนิกส์ หรือพวกไข่ไก่อารมณ์ดีทั้งหลาย

ในความคิดของฉัน การผูกขาดตลาดไก่อุตสาหกรรม ถ้าจะเป็นปัญหาคือ เป็นปัญหาว่าคนจนเมืองได้กินไก่คุณภาพ “ต่ำ” แต่คนจน “ต่างจังหวัด” ยังรอด เพราะหาซื้อหรือเลี้ยง “ไก่บ้าน” กินเองได้

แต่หมูไม่ง่ายเหมือนไก่ เพราะต้องการพื้นที่ในการเลี้ยง ต้องการอาหาร ต้องการยา วัคซีน

และการฆ่าหมู ไม่สามารถทำได้ตามลำพังในครัวเรือน และอาจผิดกฎหมาย ในขณะที่การเชือดไก่เป็นๆ เพื่อทำอาหาร ยังไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในวิถีชีวิตคนไทยจำนวนมาก

ดูแค่นี้ก็จะเข้าใจแล้วว่า ปัญหาหมูแพง ไก่แพง ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่แก้ปัญหาง่ายๆ ว่า หมูแพงก็ไปกินปลา หรือมังสวิรัติ (เพราะคนทำอาหารจะรู้ว่า ผักนั้นแพงกว่าหมูและไก่ เมื่อคำนวณออกมาเป็นน้ำหนักของอาหารและปริมาณที่บริโภคต่อคน)

มากไปกว่านั้น ราคาของหมูและไก่ยังสัมพันธ์กับสุขภาพ (ยาปฏิชีวนะ สารปนเปื้อนต่างๆ) สัมพันธ์กับการเมือง ในแง่ที่ทุนใหญ่มีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำของประเทศ สามารถล็อบบี้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับชาติได้

และอาจสัมพันธ์กับการมีอยู่และหายไปของประชาธิปไตยก็ได้ และยังสัมพันธ์กับความเป็นธรรมในอีกหลายมิติ เช่น การผูกขาด ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน สัมพันธ์กับระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร เช่น การถางป่าที่สมบูรณ์ไปสู่การทำไร่ข้าวโพดขนาดใหญ่เพื่อนำมาเป็นวัตถุกิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

สัมพันธ์กับคุณภาพการศึกษา ถ้าทุนใหญ่เหล่านั้น เริ่มเข้ามาสู่ “ธุรกิจการศึกษา” เพิ่มสายการเรียนแขนงโมเดิร์นเทรด ผ่านทุนการศึกษาระดับมัธยม ดันคนเข้ามาในมหาวิทยาลัยที่ตนเป็นเจ้าของ จากนั้นมีชีวิตเป็นลูกจ้างของบริษัททุนใหญ่ไปอีกตลอดชีวิต พร้อมกับความภักดีที่มีต่องค์กร และพร้อมปกป้ององค์กรในทุกกรณี

ถามว่าเป็นความผิดของ “ทุนใหญ่” ไหม? ฉันก็ต้องตอบว่า “ไม่ผิด” ถ้าฉันเป็นนายทุน ฉันก็ต้องมีหน้าที่ในการแสวงหาผลกำไรสูงสุด

แต่ถามต่อไปว่า หน้าที่ในการปกป้อง ดูแลคุณภาพชีวิตเป็นของใคร?

คำตอบคือเป็นของรัฐบาล!!!!

นี่คือสิ่งที่ขาดหายไปของรัฐบาลในประเทศไทย ที่รัฐบาลมีประวัติศาสตร์ในการเอื้อผลประโยชน์หรือมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นแทบจะนับญาติกันไปทุกสาแหรก และเป็นเช่นนี้มาเป็นร้อยปี

สมมุติว่า ถ้าเรามีรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชน และพยายามทำงานเพื่อธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ คุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่า “ทุนใหญ่” นั้นก็มีคุณูปการทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม เทคโนโลยีมากเช่นกัน เพียงแต่เรามีรัฐบาลที่ทำงานเป็น

สิ่งพื้นฐานที่สุด ที่รัฐบาลพึงทำคือ บาลานซ์สัดส่วนทุนใหญ่กับทุนเล็กให้ได้ 70 : 30 ก็ยังดี

โดยร้อยละสามสิบนั้น รัฐบาลฉวยใช้เป็นโมเดลนำร่องของการ “อุตสาหกรรมเกษตรปลอดภัยกึ่งออร์แกนิกส์” ทำความร่วมมือ โดยรัฐเป็นสปอนเซอร์ทุนบางส่วน กับ know how จากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ ผลิตสินค้าการเกษตร คุณภาพสูง ราคาสูง สำหรับตลาดพรีเมียม สร้างชื่อสร้างเสียง และทำสินค้าเกษตรคุณภาพดีราคาดีสำหรับขายประชาชนทั่วไป

ส่วนทุนใหญ่ที่ครองตลาดร้อยละเจ็ดสิบ จะแข่งขันอย่างไร จะทำตลาดส่งออกขอสินค้าแมสๆ อย่างไร ก็ตั้งเป็นอีกโจทย์หนึ่งไว้ต่างหาก

และถ้าเรามีรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ที่มีรสนิยม ความมั่นคงทางอาหารในประเทศ และความมั่นคงทางวัฒนธรรมอาหารในประเทศจะถูกพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ผ่านการส่งเสริมฟาร์มเนื้อสัตว์ที่หลากหลายขึ้น เช่น ฟาร์มกบ ฟร์มกวาง ฟาร์มไก่งวง ฟาร์มนกกระจอกเทศ ไปจนถึงฟาร์มตะกวดเพื่อบริโภคเนื้อ ใกล้ตัวกว่านั้น คือ ฟาร์มหมูหมาคุณภาพสูงๆ ฟาร์มกระต่ายสำหรับกินเนื้อ

เดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต เราควรได้เห็นเนื้อกวาง เก้ง แกะกบ นกชนิดต่างๆ หมูป่า ไก่บ้านหลายๆ สายพันธุ์ กระต่ายแบบต่างๆ เนื้อแลน (ตะกวด) หลายๆ แบบ กบชำแหละในแบบต่างๆ

เหล่านี้ควรถูกส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อทางเลือกอันหลากหลายของแหล่งโปรตีน และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอาหารไทยด้วย

และถ้าทุนใหญ่ ทุนอยากจะผูกขาด อยากจะมาเล่นในตลาดนี้ก็ลองลงมาเลย

แต่ก็นั่นแหละ ทั้งหมดนี้เป็นได้แค่จินตนาการ เพราะความเป็นจริงคืออยู่กับรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ได้มีอำนาจเอาไว้เพื่อทำงาน แต่มีอำนาจเพื่อเสวยสุข แถมยังมีประชาชนสันดานทาสคอยเป็นลูกหาบพร้อมกินขี้กินหญ้า ขออย่างเดียว อย่าให้ประชาชนด้วยกันมีอำนาจ

เค้าขอแค่นี้