เปิดโรดแมปแก้หนี้ บิ๊กเซอร์ไพรส์ ‘วันครู’ / การศึกษา : สุวนันท์ คีรีวรรณ

การศึกษา

สุวนันท์ คีรีวรรณ

 

เปิดโรดแมปแก้หนี้บิ๊กเซอร์ไพรส์ ‘วันครู’

 

ยาหอมกันตั้งแต่ต้นปีหลังรัฐบาลประกาศนโยบายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้กับประชาชน พร้อมกับแก้ปัญหาหนี้สินครูและตำรวจ

ทำให้หลายฝ่ายตีประเด็น นโยบายหาเสียง อาจเพราะจะเข้าโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ซึ่งต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาทุกที… ดังนั้น “วันครู” 16 มกราคมปีนี้ จึงเป็นที่จับตาของคนแวดวงการศึกษาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะจัด “บิ๊กเซอร์ไพรส์” อะไรเป็นขวัญกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แต่ในฐานะหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่กำกับดูแลวิชาชีพครู ได้กำหนดจัดงานระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชนเช่นเดียวกับทุกปี

สำหรับปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “พลังครูยุคใหม่ สร้างคุณภาพคนไทยสู่สากล” สอดคล้องกับคำขวัญวันครู ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มอบให้ว่า “พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต”

 

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุว่า ศธ.ให้ความสำคัญและได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยหนี้สินครูเบื้องต้นมีมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้น การแก้ไขดังกล่าวจึงเป็นเรื่องยากและเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลสหกรณ์ครูทั่วประเทศ กระทรวงการคลัง รวมไปถึงสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งจะต้องร่วมมือกันวางแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และทั้งหมดคงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการมากพอสมควร

โดยโรดแมปแก้หนี้ครูที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ คือ

1. ยุบยอดหนี้ โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง และสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน เช่น ใช้เงินบำเหน็จตกทอดมาชำระหนี้บางส่วน

2. ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อ หักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ

3. ปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น

และ 4. ยกระดับระบบการตัดเงินเดือนข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีสหกรณ์ครูทยอยเข้าร่วมจำนวนมาก ครอบคลุมครูทั่วประเทศกว่า 2 แสนคน

“ปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากกว่า 100 แห่ง แต่ละแห่งมีนโยบายการทำงานที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมา ศธ.เน้นแก้ปัญหาหนี้สินครูในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยการลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระครู ดังนั้น จึงได้จัดโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน”

น.ส.ตรีนุชระบุ

 

แม้จะมีโรดแมปมากระตุ้นความสนใจ แต่ก็ยังขาดความชัดเจน

โดยนายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) มองนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครูว่า เท่าที่ตนศึกษามาตรการแก้ปัญหาหนี้ครู ที่ให้ธนาคารออมสินร่วมกับ ศธ. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบและย้ำให้ดำเนินการอย่างจริงจังนั้น เป็นถ้อยคำที่กว้างและถูกใช้บ่อย แต่ไม่เห็นความชัดเจน ทั้งนี้ ครูส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูและธนาคารออมสิน หากทั้ง 2 หน่วยงานรับลูกประกาศลดดอกเบี้ยให้กับกลุ่มข้าราชการครู จะเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่สุด

“อยากให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ ประกาศแนวทางที่ชัดเจน ถ้ารัฐบาลสามารถจัดการให้ธนาคารออมสินหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ลดดอกเบี้ยได้จริง จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ก็เป็นแค่นโยบายหาเสียงเท่านั้น” นายอดิศรกล่าว

ขณะที่นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า การแก้หนี้ครูเป็นเครื่องมือหาเสียงทุกรัฐบาล แต่ไม่มีทางแก้ได้ถ้ายังคิดแบบเดิมๆ คือเจรจาลดดอกเบี้ย ยืดเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น เพราะสาเหตุของปัญหามาจากการขาดวินัยทางการเงิน แม้แก้ได้ คนกลุ่มนั้นก็จะกลับมาสร้างหนี้เป็นหนี้อีกในอนาคต เป็นวงจรหนี้สินไม่จบสิ้น

ทางออกที่ยั่งยืน คือต้องแยกคนเป็นหนี้ให้ชัดเจน โดยมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.เป็นหนี้เพราะความจำเป็น และ 2.เป็นหนี้จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทั้งที่ไม่จำเป็น จากนั้นต้องทำข้อตกลงกับครูทุกคนที่จะเข้าโครงการปลดหนี้ครูโดยให้เซ็นว่าเมื่อเข้าโปรแกรมปลดหนี้แล้วจะต้องไม่สร้างภาระหนี้สินอีกตามระยะเวลาที่ปลดหนี้ หากมีการสร้างปัญหาหนี้สินอีก จะไม่ได้รับการเยียวยาในอนาคตทุกกรณี

หลากความเห็นวนเวียนเช่นทุกปีสำหรับแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครู ที่ไม่เคยสำเร็จไม่ว่าจะยุคสมัยใด

ที่สุดแล้วคงขึ้นอยู่กับตัวของ “ครู” ที่ต้องสร้างวินัยทางการเงิน ลดความฟุ้งเฟ้อ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็กๆ ทุกคน