ศัลยา ประชาชาติ : ในข่าวดีมีข่าวร้าย สภาพัฒน์คาด GDP ทั้งปีโต 4% สวนทาง บจ.กำไรทรุดระนาว

การที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ขยายตัวได้ถึง 3.7% ต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้าง “เซอร์ไพรส์” เป็นอย่างมาก โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก

แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายๆ หน่วยงานจะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 3.3% แต่ก็ไม่มีใครฟันธงว่าจะเติบโตได้ดีขึ้นจนขยับเข้าใกล้ 4% แบบนี้

ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.5%

นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ต้องขยับปรับตัวเลขประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจไทยปี 2560 ใหม่ โดยคาดการณ์ว่าทั้งปีจะเติบโตได้ 3.5-4.0%

เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 3.2% ในปี 2559 และดีขึ้นกว่าเดิมที่คาดการณ์ว่า ปี 2560 จะโตได้ 3.3-3.8% ต่อปี

 

“ดร.ปรเมธี วิมลศิริ” เลขาธิการสภาพัฒน์ อธิบายว่า การที่เศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2560 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์มาก เป็นผลมาจากการ “ขยายตัวได้ดีในทุกภาคส่วน” และ “ขยายตัวแบบกระจายตัว” ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคบริการ

โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยการส่งออกในไตรมาส 2 ขยายตัวได้ถึง 8% หลังจากไตรมาสแรกขยายตัวได้ 6.8%

แม้จะมีสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง แต่ “ดร.ปรเมธี” มองว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังไม่ถือว่า “เป็นอันตราย” ต่อการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดี

นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 3.2% จากที่ติดลบต่อเนื่องมาถึง 4 ไตรมาส

“จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ดีขึ้น ทำให้ สศช. มีการปรับ GDP ทั้งปีนี้เพิ่มเป็น 3.5-4% โดยมีค่ากลางที่ 3.7% จากประมาณการครั้งก่อนที่คาดการณ์ว่าจีดีพีจะโต 3.3-3.8% มีค่ากลางที่ 3.5% โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออก การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง”

ดร.ปรเมธี กล่าว

 

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับสมมุติฐานในการขยับประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในรอบนี้ โดยคาดว่าตลอดทั้งปี 2560 นี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้ 5.7% จากเดิมคาดไว้แค่ 3.6% ซึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ 3.4% จากเดิมคาดขยายตัว 3.3% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3.2% จากเดิมคาดไว้แค่ 3% การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มจากเดิมคาด 3% เป็น 3.2%

ส่วน “การลงทุนเอกชน” คาดว่าเติบโต 2.2% จากเดิมคาดโต 2% ขณะที่ “การลงทุนรวม” คาดว่าจะขยายตัว 3.4% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.8% ในปี 2559 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัว 4.4% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับลดจากประมาณการ “การลงทุนภาครัฐ” ที่คาดว่าจะขยายตัว 8% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 9.9% ในปี 2559

“การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.2% ปรับเพิ่มจากการขยายตัว 2% ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 เริ่มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ” เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในช่วง 0.4-0.9% ต่อปี จากเดิมคาด 0.8-1.3% ต่อปี และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.7% ของ GDP จากเดิมคาดจะเกินดุล 8.9% ของ GDP

“ดร.ปรเมธี” กล่าวด้วยว่า ในส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี (ครึ่งปีหลัง) สภาพัฒน์เห็นว่ามีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ทั้งจาก

1) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

2) การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

3) การขยายตัวเร่งขึ้นของสาขาการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการก่อสร้าง

และ 4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของสภาพัฒน์จะออกมาดูดีมากๆ โดย “ขยายตัวได้สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส” แต่เมื่อหันไปดูผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเดียวกัน คือไตรมาส 2 กลับพบว่า “สวนทาง” กับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีขึ้น

สะท้อนจากตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน SET จำนวน 572 บริษัท หรือคิดเป็น 94.55% จากทั้งหมด 605 บริษัท ที่เปิดเผยโดย “ดร.สันติ กีระนันทน์” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ในไตรมาส 2/2560 บจ. มียอดขายรวม 2,703,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.24% โดยมีกำไรขั้นต้น 606,590 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 225,668 ล้านบาท ลดลง 9.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“บจ. มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงมาอยู่ที่ 22.43% เมื่อเทียบกับ 25.52% ในไตรมาส 2/2559 ขณะที่เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2560 บจ. มียอดขายทรงตัว และมีกำไรสุทธิลดลง 20.60%” ดร.สันติระบุ

ส่วนผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เอ็มเอไอ (mai) ในไตรมาส 2/2560 ก็พบว่าลดลงเช่นเดียวกัน โดยมีกำไรสุทธิ 761 ล้านบาท ลดลง 43.55% จากไตรมาส 2/2559 และลดลง 33.94% จากไตรมาส 1/2560

 

อีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวม บจ. ที่ผลประกอบการพลิกเป็นติดลบ หรือขาดทุนสุทธิ พบว่า มีจำนวน 163 บริษัท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2560 ที่มีจำนวน 133 บริษัท

โดย “ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง มองว่า ส่วนหนึ่งที่ บจ. มีกำไรสุทธิลดลงในไตรมาส 2/2560 น่าจะเป็นผลพวงมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มส่งออก หรือจำนวนนักท่องเที่ยวจะดูดีขึ้น แต่ผลดีที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้กระจายไปยังกลุ่มอื่นๆ จึงยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจยังดูชะลอตัวอยู่

“กำไร บจ. ในงวดไตรมาส 2 ดูแย่กว่าที่คาด ซึ่งหากเทียบกับในช่วงไตรมาส 1/2560 จะพบว่า ส่วนใหญ่กำไรของ บจ. ที่ออกมาไม่ดีจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดเล็กๆ แต่บริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดใหญ่จะออกมาดี แต่ในการประกาศงบในงวดล่าสุด กลับพบว่า หุ้นทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ต่างออกมาแย่กว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก และน่าจะมีบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนเพิ่มมากขึ้น” นายชัยพรกล่าว

ตัวเลขกำไรสุทธิของ บจ. ทั้งใน ตลท. และ mai ในไตรมาส 2/2560 ที่ออกมา “ลดลง” กันถ้วนหน้าขนาดนี้ ดูจะสวนทางและ “ย้อนแย้ง” กับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2560 ที่สภาพัฒน์และรัฐบาลกำลังปลื้มปีติ

กลายเป็นข้อมูล 2 ชุดทั้ง “ข่าวดี” และ “ข่าวร้าย” ที่จะต้องพิจารณากันให้ดี กับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2560 นี้