8 ปีที่แบ่งชิ้นปลามัน/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

8 ปีที่แบ่งชิ้นปลามัน

 

ลึกๆ แล้วประยุทธ์คงต้องนึกถึงโมเดล “เปรม ติณสูลานนท์” รัฐบุรุษผู้เป็นดาวค้างฟ้าทางการเมืองและการทหารของไทย

แต่ก่อนจะเป็น “นายกฯ เปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ใช่ธรรมดา

“เปรม” สั่งสมบารมีชื่อเสียงมาจากแม่ทัพภาคที่ 2 แล้วขึ้นเป็น “ผบ.ทบ.” ที่นั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

เมื่อสถานการณ์กดดันจน พล.อ.เกรียงศักดิ์ต้องลาออกในปี พ.ศ.2523 พล.อ.เปรม รัฐมนตรีกลาโหมและ ผบ.ทบ.ก็ได้รับการหนุนหลังให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีทันทีภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.”

จากปี พ.ศ.2521 ถึง 2569 ล่วงผ่านไป 39 ปี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 บรรจงร่างขึ้นมาเหมือนกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 เป๊ะ ต่างกันที่ “เปรม” กับ “ประยุทธ์” นั้นคนละเบอร์

พล.อ.เปรมเป็นนายทหารที่สร้างผลงานเอาไว้ชนิดล้ำเลิศจาก “คำสั่ง 66/2523” ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญนำไปสู่การยุติสงครามประชาชนระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปลดแอกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเมื่อสภาวะแวดล้อมทางการเมืองเกื้อกูลให้ พล.อ.เปรมก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็นับได้ว่า พล.อ.เปรมเป็นคนแรกที่ลงหลักปักฐานประชาธิปไตยแบบ “คนกลาง” เป็นใหญ่ แล้วแบ่งสันปันส่วนให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น พรรคการเมืองได้ขายฝัน นักการเมืองไม่อดอยากปากแห้ง ประชาชนได้เลือกตั้ง

แต่สุดท้ายต้องสมานฉันท์กันเลือก “เปรม ติณสูลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี

 

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กล่าวในบทสัมภาษณ์รวมเล่ม “ประชาธิป’ไทย” สารคดีโดยเป็นเอก รัตนเรือง และภาสกร ประมูลวงศ์ ที่ชานันท์ ยอดหงส์ เรียบเรียง และ “มติชน” จัดพิมพ์เมื่อปี 2556 ในตอนหนึ่งว่า นักรัฐศาสตร์จะมองวัฏจักรการเมืองเป็น 3 ช่วง

วัฏจักรที่ 1 ตอนขึ้นสู่อำนาจ-คนนั้นขึ้นมาอย่างไร เหตุอะไรจึงได้ขึ้นสู่อำนาจ

วัฏจักรที่ 2 ตอนมีอำนาจแล้ว ใช้อำนาจนั้นอย่างไร

วัฏจักรที่ 3 ตอนลงจากอำนาจ ทุกคนต้องลง ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า แต่ขอให้สังเกตผู้นำของไทยจำนวนมาก ตอนขึ้นสู่อำนาจนั้นดีมาก ตอนจบกลับจบไม่ค่อยสวย เหมือนภาพยนตร์ที่ฉากเริ่มต้นอลังการงดงามมาก แต่ตอนจบเลอะเทอะเกือบทุกคน

เว้น “เปรม ติณสูลานนท์” เอาไว้คนหนึ่งที่ครบ 8 ปีแล้วเดินลงอย่างสง่าผ่าเผย

“ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มายังไง มีผลงานและมีชื่อเสียงอะไรหรือ

ถ้า 3 ป. ไม่สมคบคิดสามัคคี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่สำเร็จ

จุดเริ่มต้นของ “ประยุทธ์” มาจากรัฐประหาร ซึ่งประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ใช้เวลาเตรียมการนานถึง 6 เดือน

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเลือก “ประยุทธ์” ก็ขึ้นนั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นสมัยแรก จากนั้นเป็นต้นมา ในขณะที่ปากพร่ำร้องว่า “ขอเวลาไม่นาน” ประยุทธ์เลื่อนการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า นั่งทนนั่งนานจนล่วงเข้าสู่ปีที่ 5 จึงจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562

“โมเดลเปรม” ถูกนำมาเป็นตัวแบบ!

รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่ในความเป็นจริง ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมักจะมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร

เป็นไปตามความคาดหมายคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ย่อมเป็น “มรดก” ของคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

รัฐธรรมนูญ 2560 ย้อนยุคกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2521 ตรงที่ “นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.” แม้จะบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่รัฐธรรมนูญก็ยืนหยัดในบรรทัดฐานที่ให้ “คนนอก” เป็นใหญ่ ทำหน้าที่แบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์

ให้ประชาชนได้ระบายความอึดอัดด้วยการเลือกตั้ง ให้นักการเมืองได้ลงสนาม ก่อนที่จะรวมหัวพร้อมใจกันเลือก “ประยุทธ์” ซึ่งไม่ได้มาจาก ส.ส.ให้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

 

พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ 8 ปีแล้วก้าวลงจากอำนาจ ส่วน “ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกำลังจะครบ 8 ปีเท่า พล.อ.เปรมในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

มีคำถามที่ยังคงอมตะว่า นับตั้งแต่ “ประยุทธ์” เข้ามา-มีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

เป็น 8 ปีที่เค้กประเทศไทยถูกตัดแบ่งกันไปอย่างไม่เท่าเทียม

เป็น 8 ปีที่เสียงซึ่งแตกต่างถูกคุกคาม ถูกจับกุม และคุมขังด้วยระบบที่บิดเบี้ยวพร้อมๆ กับการโหมโฆษณาชวนเชื่อผ่านสำนักโพลบางสำนักที่ยอมเอาอิสรภาพทางความคิดเข้าแลก

แปดปีของประยุทธ์ เป็นยุคที่ความรู้ความสามารถมิสู้สอพลอ ไม่ใช่ยุครุ่งเรืองของบรรดาเทคโนแครต

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับยุคของ “เปรม ติณสูลานนท์”

พัฒนาการทุกด้านจึงหยุดชะงัก ไม่มีการพัฒนาทางการศึกษา พัฒนาการทางสังคม ไม่มีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและปฏิรูปกลไกในระบบยุติธรรม ไม่มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ส่งเสริมคนดีคนเก่ง ได้แต่เกื้อกูลคนกลุ่มเล็กๆ ที่ยึดกุมผูกขาดเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนการพาณิชย์ทรุดหนักเพราะการบริหารจัดการที่เน้นการจัดสรรปันส่วน คนจนเพิ่มคนตกงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด ยุคของประยุทธ์เต็มไปด้วยรอยร้าวฉานและเหลื่อมล้ำ

นับเป็น 8 ปีที่สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งระบบยุติธรรมถูกทำลายลงอย่างยับเยินจนยากจะกอบกู้กลับคืน

 

ไทยในวันนี้จึงเป็นสังคมที่บริบูรณ์ด้วยระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เงินทุนและปืนเป็นอำนาจ ที่นี่ไม่ใช่โอกาสที่เปิดกว้าง เท่าเทียม หากแต่เป็น “พื้นที่” ของผู้มือยาวกว่า แข็งแรงกว่าที่จะสถาปนาความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

หากจะมีข้อถกเถียงต่างๆ ซึ่งต้องตีความรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นก็ย่อมต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เข้มแข็งกว่า ใครเขียน ใครบัญญัติให้ใครมีและใครใช้อำนาจ เพื่อประโยชน์สูงสุดของใคร

กล่าวสำหรับผู้อ่อนแอแล้วยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์!?!!