เบื้องหลังของ ‘เวสต์ไซด์’ ในนครนิวยอร์ก/บทความพิเศษ ธิรินทร์

Lincoln Center เบื้องหน้าของ "เวสต์ไซด์" ในนิวยอร์ก ในปัจจุบัน

บทความพิเศษ

ธิรินทร์

 

เบื้องหลังของ ‘เวสต์ไซด์’

ในนครนิวยอร์ก

 

ชื่อหนัง West Side Story เป็นที่คุ้นเคยของคนดูหนังบ้านเรามานาน

ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะชื่อภาษาไทย ที่ใช้ทับศัพท์ว่า “เวสต์ไซด์สตอรี่” ทำให้เรามีความคุ้นเคยกับคำว่า “เวสต์ไซด์” ซึ่งอาจชวนให้นึกถึงพื้นที่ฝั่งตะวันตกโดยทั่วไปที่ไหนสักแห่ง

หากแต่ “เวสต์ไซด์” ในหนังเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ตะวันตกที่ไหน

แต่ชี้เฉพาะถึงพื้นที่ฝั่งตะวันตกบนเกาะแมนแฮตตัน ของนครนิวยอร์ก

Jerome Robbins นิวยอร์กเกอร์ นักเต้น นักออกแบบท่าเต้น ผู้ผลิตละคร และศิลปะการแสดงแขนงอื่น เจ้าของคอนเซ็ปต์ของละครเพลงและหนังเรื่องนี้ เดิมมีความคิดที่จะเดินเรื่องใน “อีสต์ไซด์” และใช้ชื่อละครเพลงเรื่องนี้ว่า East Side Story เขตตะวันออกด้านล่างบนเกาะแมนแฮตตัน ซึ่งเป็นที่เกิดของร็อบบินส์นี้ อุดมไปด้วยผู้อพยพหลากลายเชื้อชาติ ตัวเขาเองก็เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวยิว

แต่เมื่อละครกำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ เขตฝั่งตะวันตกที่ใกล้กับ Central Park ที่เรียกกันว่าเนินซานฮวน (San Juan Hill) ตามชื่อเมืองหลวงของเปอร์โตริโก ประเทศดั้งเดิมของผู้อพยพที่อาศัยอยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ กำลังกลายเป็นพื้นที่ข่าว จากการขอคืนพื้นที่ของเทศบาลเมืองเพื่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมเต็มรูปแบบ Lincoln Center อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของนิวยอร์กมาจนถึงปัจจุบัน

สตอรี่ของ “เวสต์ไซด์” ที่เราคุ้นเคยจึงได้เกิดขึ้น

 

หนังดั้งเดิมที่ออกฉายเมื่อปี 1961 เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่การเป็นหนังเพลง ที่ผสมผสานความเป็นหนัง มากกว่าหนังเพลงเรื่องก่อนๆ รวมทั้งการมีนครนิวยอร์กเป็นตัวละครประกอบสำคัญของเรื่อง แม้จะเห็นได้ชัดว่าบางซีนในหนังไม่ใช่นิวยอร์กจริงก็ตาม

แค่ซีนเปิดเรื่อง (prologue) ที่ใช้เปิดตัวแก๊ง Jets และแก๊ง Sharks โดยไม่ใช้บทพูด แต่สื่อด้วยดนตรี ภาพ ท่าเต้น และฉากหลังที่ถ่ายทำจริงในนิวยอร์ก ก็ตรึงคนดูให้จำติดตามาถึงทุกวันนี้

การฉายหนังเพลงในยุคนั้น มีสิ่งหนึ่งที่หนังเพลงในยุคนี้คงจะไม่มีอีกแล้ว คือการมีช่วงโหมโรง (overture) เหมือนกับการโหมโรงในละครเพลง คือการบรรเลงดนตรีในเรื่องอย่างอลังการ เตรียมคนดูก่อนเปิดม่าน

หนังใหญ่หลายเรื่องเมื่อฉายที่โรงสกาลาในบ้านเรา แม้ไม่ใช่หนังเพลง ก็มีการโหมโรงแบบนี้

West Side Story 1961 นำ overture เข้ามาอยู่ในหนังเลย โดยเปิดหนังด้วยภาพ abstract เป็นภาพเส้นตั้งฉากสีดำจำนวนมากบนแบ๊กกราวด์สีเดียว ซึ่งสีนี้จะเปลี่ยนไปตามโทนของท่อน (movement) ต่างๆ ของดนตรีประกอบหนังที่ใช้โหมโรง เมื่อถึงไคลแมกซ์ของโหมโรง ภาพ abstract นี้ถูกซูมออกให้เราเห็นด้านล่างซึ่งปรากฏชื่อหนัง ซึ่งก็เกิดจากการประกอบกันของเส้นตั้งฉากจำนวนมาก

ส่วนเส้นตั้งฉากจำนวนมากที่เราเห็นมาแต่แรกนั้น ได้กลายเป็นเส้นขอบของตึกระฟ้ามากมายที่พื้นที่ใต้สุดของเกาะแมนแฮตตัน

ในขณะที่เสียงดนตรีเงียบลง ภาพค่อยๆ เคลื่อนเข้าหาตึกระฟ้าเหล่านี้ในลักษณะ bird eyes’ view ให้เราเห็นภาพระยะกว้างจากมุมสูง ของหลังคาของอาคารต่างๆ ถนนหนทาง รถรามากมาย

ช็อตที่ถ่ายด้วยเฮลิคอปเตอร์นี้อาจเรียกว่า pre-prologue ซึ่งค่อยๆ เคลื่อนไปสิ้นสุดที่สนามบาสเกตบอลแห่งหนึ่ง เชื่อมกับซีน prologue ที่กล่าวถึงไปแล้ว

ไม่แต่เพียงการเปิดเรื่องนี้เท่านั้น ไตเติลปิดเรื่องหลังหนังจบ ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยชื่อทีมงานจำนวนมากมาย ก็ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ

ภาพช่วงปิดเรื่องนี้ เป็นภาพระยะกลางขององค์ประกอบต่างๆ ของฉากในหนัง เช่น ผนังอาคาร ประตู หน้าต่าง ป้ายจราจร ฯลฯ ภาพค่อยๆ เคลื่อนจับฉากเหล่านี้ไปเรื่อยๆ แล้วซูมเข้าไปจับที่ลายมือที่เขียนด้วยชอล์กบนฉากเหล่านี้ ซึ่งเป็นชื่อทีมงานแต่ละทีม เป็นระยะๆ จนถึงภาพสุดท้าย ซึ่งเคลื่อนไปหยุดอยู่ที่คำว่า END บนป้ายจราจร

ผลงานด้านภาพทั้งช่วงเปิดเรื่อง (overture, pre-prologue, และ prologue) รวมทั้งช่วงปิดเรื่องนี้ เป็นงานออกแบบของ Saul Bass นิวยอร์กเกอร์ นักออกแบบไตเติลหนังชื่อดังในยุค 50s และ 60s ผู้ออกแบบไตเติลเปิดเรื่องให้กับหนังของผู้กำกับฯ ชั้นนำในยุคนั้นหลายท่าน เช่น หนังสามเรื่องที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากที่สุดของ Alfred Hitchcock ได้แก่ Vertigo, North by Northwest และ Psycho

ซอล บาส เกิดในบรองซ์ ในนิวยอร์ก สำเร็จการศึกษาด้านศิลปะในนิวยอร์ก ก่อนจะไปปักหลักทำงานอยู่ในนครลอสแองเจลิส

 

นิวยอร์กเกอร์อีกคนหนึ่งที่จะกล่าวถึง คือ Stephen Sondheim ผู้เขียนเนื้อร้องให้กับเพลงทั้งหมดในละครเพลงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกของเขา จะว่าไป ซอนไธม์ไม่ค่อยพอใจผลงานของตนในละครเรื่องนี้เท่าใดนัก เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าหากตัวละครเหล่านี้จะมีชีวิตจริง พวกเขาคงจะไม่พูดกันด้วยข้อความสวยหรูอย่างในเนื้อร้อง

ซอนไธม์เป็นตำนานของละครเพลงบรอดเวย์ ต่อมา เขาเป็นทั้งผู้แต่งคำร้องและทำนองให้กับละครเพลงที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก และเป็นผู้ยกระดับให้ละครเพลง กลายเป็นงานศิลปะที่ซับซ้อน เช่น ละครเพลงเรื่อง Sunday in the Park with George ซึ่งนำภาพเขียนอิมเพรสชั่นนิสต์ชื่อ Le Grande Jatte ของ George Seurat มาเป็นฉาก

ซอนไธม์เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนนี้เอง ด้วยวัย 91 ปี ก่อนหนัง West Side Story เวอร์ชั่นใหม่จะลงโรงไม่กี่สัปดาห์

 

นิวยอร์กเกอร์อีกคนหนึ่ง ผู้เป็นกำลังสำคัญให้กับ Steven Speilberg สำหรับการนำหนังเรื่องนี้มาทำใหม่ คือ Tony Kushner นักเขียนบทละครรางวัลพูลิตเซอร์ ผู้ได้รับเหรียญรางวัลแห่งชาติด้านศิลปะจากประธานาธิบดีโอบามา

สิ่งที่คุชเนอร์ปรับปรุงในบทหนังเรื่องใหม่ นอกเหนือจากความทันสมัย การเดินเรื่องที่กระชับ ความลุ่มลึกของตัวละคร

เขายังให้ความสำคัญกับนครนิวยอร์กเพิ่มมากขึ้น

ซีนในนิวยอร์กในเรื่องเดิมที่ถ่ายกันในโรงถ่าย ถูกแทนที่ด้วยซีนที่ถ่ายทำกันจริงในสถานที่ต่างๆ ในนิวยอร์ก หากแต่ไม่ใช่ในเวสต์ไซด์เท่านั้น เช่นใน Harlem หรือ Washington Heights ที่ใช้เดินเรื่องหนังเพลงอีกเรื่องหนึ่งในปีนี้ ชื่อ The Heights และที่ดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษคือ

ซีนสถานีรถไฟใต้ดินบนถนนที่ 72 ที่แม้ปัจจุบันจะยังมีสถานีที่ยังคงใช้งานตามปกติ แต่ก็ยกกองไปถ่ายทำกันที่สถานี Bowery ส่วนที่เลิกใช้ไปแล้วแทน โดยนำตู้รถไฟใต้ดินในยุค 60s มาเข้าฉาก

อย่างไรก็ดี สิ่งที่หนังเวอร์ชั่นใหม่ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุด คือการให้ความคารวะกับหนังเรื่องเดิม แม้จะไม่มีช่วงโหมโรงแล้ว แต่สปีลเบิร์กก็ยังเปิดเรื่องด้วยภาพจากมุมสูง แม้จะไม่ได้เป็นภาพจากมุมที่สูงมากที่ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์อย่างเรื่องเดิม

ส่วนการปิดเรื่อง สปีลเบิร์กก็ยังคงปิดด้วยภาพองค์ประกอบต่างๆ ของฉาก เช่น ผนัง อาคาร ประตู ฯลฯ ซึ่งสปีลเบิร์กออกแบบภาพเอง

เพียงแต่การปิดเรื่องครั้งนี้ ไม่มีลายมือชื่อที่เขียนด้วยชอล์กบนฉาก เหมือนเรื่องก่อน

 

แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 60 ปี การเหยียดสีผิว การแบ่งชนชั้น หรือแม้แต่การแบ่งแยกเพราะความต่างของความคิด ก็ยังไม่หายไปไหน

หนังทั้งสองเวอร์ชั่น สะท้อนให้เห็นว่า ความรักที่เป็นตัวแทนของนามธรรม และอุดมคติ เป็นโลกสวยในฝัน ไม่สามารถเอาชนะ ความเคียดแค้นที่เป็นตัวแทนของรูปธรรม และอคติ ในโลกปรักหักพังแห่งความเป็นจริงไปได้

แม้ “เวสต์ไซด์” ในหนังเรื่องนี้ จะเริ่มจากการเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันตกในนครนิวยอร์ก การทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ในยุคนี้ ทั้งยังคงสามารถสะท้อนโลกในยุคนี้ ที่แม้แต่คนผิวสีเดียวกัน ก็ยังแบ่งกันด้วยความคิดต่าง

“เวสต์ไซด์” คงไม่ได้หมายถึงเฉพาะเวสต์ไซด์ในนิวยอร์กเมื่อปี 1961 อีกต่อไปแล้ว