เปิดไอเดียบริหารโรงเรียนมัธยม “รัฐ-เอกชน” สะท้อน “บิ๊กร็อค 2” รับปีเสือ พร้อมส่องโมเดลการ “เพิ่มอิสระ” “เพิ่มแอคทีฟเลินนิ่ง” รับเด็ก GEN ใหม่

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว อิทธิพลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในทุกช่วงวัย การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ในปัจจุบันไร้ซึ่งข้อจำกัดทั้งในด้านเวลาและสถานที่ การเรียนรู้จึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียนหรือสถานศึกษา อีกทั้ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานกว่าสองปี ทำให้เด็กและเยาวชนต้องปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ที่บ้านและเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้นำไปสู่ปัญหาที่ตามมาจำนวนมาก เช่น ขาดการมีส่วนร่วม/ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ผู้เรียนขาดสมาธิกับการเรียนผ่านจอเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง

                นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของสถาบันการศึกษาและครูผู้สอนที่ต้องปรับระบบการศึกษาเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ครูผู้สอนพัฒนาศักยภาพและทักษะในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนและอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญ ปรับบทบาทจากผู้ที่ถ่ายทอดเนื้อหาตามหลักสูตรอยู่ฝ่ายเดียว สู่การเป็น โค้ชชิ่ง (Coaching) ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม (Active Learning)  เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ในทุกขั้นตอน โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตจริง และสามารถรับมือกับกับความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 แม้ว่ามีสถานศึกษาหลายแห่งนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวมาปรับใช้บ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบต่อไป เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาของสังคมโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง โดยวันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับแนวคิดการบริหารสถานศึกษา จากสองผู้บริหารโรงเรียนดังสังกัดรัฐและสังกัดเอกชน ถึงแนวทางการปรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ว่ามีวิธีการเตรียมความพร้อมรับมือและแนวทางการปรับการจัดการเรียนการสอนท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

            “ห้องเรียนกลับด้าน เปลี่ยนบ้านให้เป็นคลาสกิจกรรม”  

            รศ.ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ การสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของผู้เรียน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการอบรมครูผู้สอนล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ให้ครูทุกคนมีทักษะด้านเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ มีความสามารถในการจัดทำและตัดต่อสื่อการสอนรูปแบบคลิปวีดีโอ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom” หรือห้องเรียนกลับด้าน เป็นวิธีการที่ให้นักเรียนได้เรียนจากคลิปวีดีโอที่ครูผู้สอนในแต่ละวิชาเป็นผู้จัดทำด้วยตัวเองที่บ้านก่อน แล้วจึงนำประเด็นต่างๆ จากเนื้อหามาแลกเปลี่ยนหรือถกเถียงกันอีกครั้งในห้องเรียนออนไลน์ โดยแบ่งสัดส่วนเป็นช่วงที่ให้นักเรียนกับครูผู้สอนได้เจอหน้าและโต้ตอบกัน (Synchronous Learning) ออกเป็นร้อยละ 70 และอีกร้อยละ 30 คือช่วงเวลาที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบสื่อการเรียนการสอน (Asynchronous Learning) ซึ่งโรงเรียนได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นจากนักเรียนเป็นประจำทุกเดือน เพื่อนำผลตอบรับจากนักเรียนมาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

 

                อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน แต่อีกเรื่องที่โรงเรียนให้ความสำคัญคือ ทัศนคติของครูที่ต้องเคารพความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน เพราะนักเรียนแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ ความรวดเร็วในการเรียนรู้ และความสนใจที่แตกต่างกัน รวมทั้งทีมผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสร้างบรรยากาศในการจัดการเรียนการสอน สนับสนุนให้ครูและนักเรียนอยู่ในบรรยากาศที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ จัดหาอุปกรณ์ และสรรหาบุคลากรเพื่อรองรับการเรียนการสอนภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ให้การเรียนการสอนคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพมากที่สุด

            “Think-Pair-Share เติมเต็มการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วม ด้วยเทคนิคเพื่อนคู่คิด”

            ในด้านฝั่งโรงเรียนเอกชน นางวราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้เริ่มนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning มาปรับใช้ตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ครูผู้สอนมีประสบการณ์และสามารถนำมาปรับใช้กับการสอนรูปแบบออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี โดยยึดแนวคิดสำคัญของการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม คือ “เต็มใจเรียนรู้” และ “สนุกกับการมีส่วนร่วม” การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) และการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problems Based Learning) ถูกนำมาใช้ในกลุ่มการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์

                เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าและลงมือปฏิบัติจริงจากกิจกรรมการทดลองซึ่งสามารถทำได้เองที่บ้าน โดยยึดจากเรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวันที่นักเรียนสนใจ ส่วนครูผู้สอนมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และปรับความยากง่ายของโจทย์ให้เป็นไปตามระดับชั้น นอกจากนี้โรงเรียนยังใช้การจัดการเรียนการสอนแบบสะท้อนคิด (Think Pair Share) และการจัดการเรียนการสอนที่เน้นแบบร่วมมือ (Collaborative Learning Group) ด้วยกิจกรรมการแบ่งกลุ่มหรือจับคู่ ให้นักเรียนได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหาที่แต่ละคนสนใจ และนำมาร่วมกันคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบและนำเสนอร่วมกันในชั้นเรียน วิธีการนี้ทำให้นักเรียนได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด และมีส่วนร่วมในชั้นเรียนอย่างเท่าเทียม รวมถึงเพิ่มทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย

 

            ในระยะแรกครูผู้สอนอาจยังมีความกังวล เนื่องจากไม่คุ้นชินกับการปรับการเรียนการสอน ทางโรงเรียนได้ใช้วิธีการ Peer Coaching หรือเพื่อนช่วยเพื่อน ให้เพื่อนครูในกลุ่มสาระในช่วงวัยเดียวกันคอยนิเทศการสอนเพื่อพัฒนาครูร่วมกัน เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้เห็นความสำคัญของความคิดเห็นจากนักเรียน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการนำไปปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียน ที่มีความกล้าแสดงออกและสามารถเสนอแนะถึงวิธีการสอน รวมทั้งเสียงจากผู้ปกครองที่ช่วยเสนอแนวคิดใหม่ๆ มาโดยตลอด เพื่อร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

                อย่างไรก็ดี กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองข้างต้น ถือเป็นหนึ่งในภารกิจการปฏิรูประบบการศึกษาไทยของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ได้กำหนดกรอบการปฏิรูประบบการศึกษาไทยเชิงนโยบาย ด้านการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 หรือ บิ๊กร็อคที่ 2 ที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนในทุกระดับชั้นเป็นผู้มีความรู้และทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก ส่วนหนึ่งของตัวอย่างความสำเร็จ คือ โมเดลในการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning โดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผ่านโรงเรียนต้นแบบ 30 โรงเรียน ที่นักเรียนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นกว่า 1,500 นวัตกรรม และกำลังเร่งขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมสถานศึกษาทั่วประเทศโดยเร็ว

 

                ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22  

Young Asia financial student ladies watching lesson online and studying with laptop and tablet in living room from home at night. Taking notes while looking at computer screen, Learn online concept.
Online education. Working on project.study online with video call teacher with face mask.Social distancing.New normal behavior.