ฤทธิ์เลือกซ่อม บี้ ‘บิ๊กบี๊’ ชิ่งกระทบ ‘บิ๊กตู่’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ฤทธิ์เลือกซ่อม

บี้ ‘บิ๊กบี๊’

ชิ่งกระทบ ‘บิ๊กตู่’

 

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก

วางบทบาทของตนเองเป็นทหารอาชีพ

สนับสนุนนโยบายรัฐบาลแบบรักษาระยะห่าง

ไม่ได้แสดงออกถึงความใกล้ชิดสนิทสนม เหมือนในยุคที่บื๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. เพราะบุคลิกที่แตกต่างกัน จึงแทบไม่มีการแสดงออกหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นเชิงการเมือง

แต่แม้จะเลี่ยงหรือวางระยะห่างอย่างไร

พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ดูจะหลีกเลี่ยงไม่พ้น ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวพัน เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งประสานงานส่วนกลาง การเลือกตั้งซ่อมเขต 1 จังหวัดชุมพร และเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลา ได้ออกมาแถลงเรียกร้องให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ตรวจสอบกรณีทหารกว่า 100 นายเข้าไปยังพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร มีความผิดปกติและมีลักษณะของการกดดันการรณรงค์หาเสียงของพรรค

“โดยเฉพาะ เสธ.ต ที่คนในพื้นที่พูดถึงกันเป็นอย่างมาก จึงเรียกร้องให้ ผบ.ทบ.ได้เร่งตรวจสอบ หากมีการกระทำเช่นนั้นจริง ต้องสั่งการให้ชุดทหารถอยออกไป เข้ากรม เข้ากอง อย่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งซ่อม” นายราเมศระบุ

ทั้งนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อม เขต 1 จ.ชุมพร ให้ข้อมูลสนับสนุน ว่าได้ข้อมูลมาจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีทหารเข้ามาในพื้นที่ มีการเข้าไปพักในที่พักหลายแห่งใน จ.ชุมพร เมื่อสังเกตดูลักษณะต่างๆ และสืบค้นข้อมูลแล้วก็มีลักษณะคล้ายทหารอย่างที่นายราเมศพูด จึงต้องขอให้ ผบ.ทบ.ตรวจสอบ ทหารดังกล่าวอาจไม่ใช่จากกองทัพภาคที่ 4 แต่เป็นทหารนอกพื้นที่ เข้ามาในลักษณะเชิงลับเพราะมาแบบนอกเครื่องแบบ หากตรวจสอบย้อนหลังไปก็จะทราบได้ไม่ยาก

“เรื่องนี้พูดมาหลายครั้งแล้วในการเลือกตั้งซ่อมว่ามีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช แทนนายเทพไท เสนพงศ์ ความจริงพวกเราหวังที่จะเห็นการเลือกตั้งมีความสุจริตเที่ยงธรรม แต่เมื่อใดทีมีการเอาอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง การเลือกตั้งก็ไม่สุจริตไปได้ หวังว่า ผบ.ทบ.จะได้ยืนหยัดในแนวทางนี้” นายสาทิตย์ระบุ

 

ข้อกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว

นำมาสู่การชี้แจงของ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้สั่งการให้แม่ทัพภาคที่ 4 ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล และรายงานให้กองทัพบกทราบโดยด่วน อย่างไรก็ตาม หากมีส่วนใดที่ไม่ดำเนินตามนโยบายต้องได้รับการพิจารณาและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองกระทำ ทั้งในเรื่องวินัยทหารและกฎหมายบ้านเมือง

“กองทัพบกในฐานะกลไกหนึ่งของรัฐ มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการเมืองและดำเนินการตามเจตนารมณ์มาโดยตลอด คือการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองในทุกการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายการเมืองใดๆ ทั้งนี้ ในทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมากำลังพลได้ยึดถือตามแนวทางดังกล่าว และไม่ปรากฏการปฏิบัติใดๆ ที่ไม่เหมาะสม” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ระบุ

และว่า ขอให้การแจ้งพฤติกรรมดังกล่าวบนข้อมูลพยานหลักฐาน มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ทัศนคติหรือความกังวลใจส่วนบุคคลส่งผลต่อภาพพจน์ขององค์กร

ขณะที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวได้ตรวจสอบในพื้นที่แล้วไม่มีอะไร อาจมีคนในพื้นที่ไปพูด ไปบอกอะไรอย่างไรทางพรรคเขาก็ต้องออกมาปรามก่อน

“ไม่มีในทัพภาคที่ 4 ผมสั่งเด็ดขาด ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ให้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งจริงๆ แล้วก็พรรคพวกกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน เพราะฉะนั้น เราต้องยืนหยัดยืนยันในความเป็นกลางทางการเมือง โดยเรื่องนี้ได้รายงานไปทางกองทัพบกเรียบร้อยแล้ว” พล.ท.เกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวในเวลาต่อมา พบข้อมูลว่านายทหารถูกพาดพิงคนดังกล่าวเป็นระดับผู้บังคับหน่วยทหารม้าในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิด และได้รับความไว้วางใจจากอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 คนหนึ่ง ซึ่งอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 คนนั้น ในปัจจุบันมาช่วยงานรัฐบาล และพรรคการเมือง

ซึ่งก็คงต้องรอดูผลสรุปอย่างเป็นทางการจากกองทัพบกและ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ว่าจะออกมาอย่างไร

 

แต่การพาดพิงของพรรคประชาธิปัตย์เช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์

และไม่เป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แม้ว่านายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.ชุมพร 6 สมัย ที่เพิ่งยื่นใบลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วออกมาช่วยเสียงให้นายชวลิต อาจหาญ หรือทนายแดง ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ จะพยายามแก้ว่ายังไม่เคยได้ยินข่าวและไม่รู้ว่า เสธ.ต.คือใคร เพราะตอนนี้มีแต่เสี่ย ต.คือตนที่มีชื่อเล่นว่า “ตึ๋ง” เท่านั้น ข่าวที่ออกมาคงเป็นเพียงแค่การตีปลาหน้าไซ เพราะมีการปล่อยข่าวว่าจะมีทหารเข้ามาจับกุมการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครบางคนที่กำลังให้นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและ อสม.บางกลุ่ม ออกติดต่อซื้อเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหมือนที่เคยทำมาตลอด

“ในฐานะผมกับคนที่ให้ข่าวเรื่องนี้รู้จักคุ้นเคยกัน อยากขอร้องให้บุคคลดังกล่าวลงมาในพื้นที่แล้วสอบถามชาวบ้านเองดีกว่าจะได้หูตาแจ้ง อย่ามัวแต่นั่งมโนอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ข่าวไปวันๆ เท่านั้น มันน่าอาย ผมนี่แหละเสี่ย ต.ตัวจริง ที่กำลังทำหน้าที่ผู้ช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครของพรรค พปชร. ไม่ใช่เสธ.ต. อะไรที่ไหนหรอก เป็นไปไม่ได้ที่กำลังทหารนับร้อยจะเข้าพื้นที่ จ.ชุมพรโดยไม่มีใครรู้ เพราะชุมพรตอนนี้ไม่ได้อยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ทหารเขามีระเบียบวินัย ไม่เหมือนนักการเมืองที่ไร้ระเบียบวินัย ไหนๆ ก็ให้ข่าวว่ามีกำลังทหารเข้ามาแล้ว ผมก็อยากเรียกร้องให้ ผบ.ทบ.และแม่ทัพภาคที่ 4 ส่งทหารเข้ามาชุมพรจริงๆ เพื่อคอยจับพวกที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งน่าจะดี” นายศิริศักดิ์กล่าว

 

ถือเป็นการย้อนศรแบบไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ เพราะนายศิริศักดิ์ถือเป็นคนเก่าแก่ของพรรคประชาธิปัตย์

จึงพูดเหมือนรู้ทันคนเคยอยู่พรรคเดียวกัน

แต่กระนั้น ดูเหมือนสังคมจะไม่สรุปแบบนายศิริศักดิ์ ที่ว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่

ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งซ่อมที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าการเลือกตั้งซ่อมเขต 1 จังหวัดชุมพร การเลือกตั้งซ่อมเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลา รวมถึงเขตเลือกตั้งที่ 9 กรุงเทพมหานคร มากด้วยความหมายทางการเมือง

เพราะไม่ว่าผลจะออกมาว่าใครหรือพรรคไหนแพ้หรือชนะ ย่อมส่งผลทางการเมืองอย่างสูงในอนาคต

อนาคตที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นปี 2565 นี้ หรือปี 2566

โมเดลการหาเสียง หรือกลไกการสนับสนุน ทั้งบนดินและใต้ดิน ล้วนอาจเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองได้ในอนาคต

รวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องการใช้กลไก “ทหาร” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ณรงค์พันธุ์ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก จึงต้องมีคำชี้แจง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องชี้แจง

และที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยิ่งต้องชี้แจง

เพราะนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กองทัพถูกมองว่าไม่ได้กลับกรมกอง

และยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญ ในทั้งในบทบาทกองทัพ บทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และฝ่ายปกครอง ในการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในรูปแบบต่างๆ

รวมถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ดังที่มีเสียงร้องจากพรรคประชาธิปัตย์ กรณีเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร ถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นผ่านเครื่องแบบสีเขียว ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน

ซึ่งฝ่ายที่ถูกพาดพิงก็คงต้องชี้แจงให้ชัดเจน

ทั้งนี้เพราะเรื่องนี้มีเค้าลางให้สงสัยอยู่ไม่น้อย

 

ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพรและสงขลานั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ได้ผลักดันอย่างแข็งขันให้รัฐมนตรีของพรรค ที่เป็นสายขึ้นตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง

โดย จ.ชุมพร ให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงการคลัง เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง

ส่วน จ.สงขลา ให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง

ซึ่งนั่นเท่ากับว่า ภารกิจการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ภายใต้การดูแลทีมงานรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง

ผลชนะหรือแพ้ จึงพิสูจน์ฝีมือ “สายทำเนียบ” ล้วนๆ

ร.อ.ธรรมนัสอยู่ในบทบาทผู้สังเกตการณ์

สังเกตการณ์ว่าเมื่อฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสมิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ผลจะออกมาชนะ ดังการเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ผ่านๆ มาที่พรรคพลังประชารัฐชนะมาโดยตลอด

การ “วัดฝีมือ” ดังกล่าว จึงอาจทำให้สายตรงทำเนียบต้องทุ่มเทพละกำลังเต็มที่

ทั้งงานลับ และเปิดเผย

 

และงาน “ลับ” นี้หรือไม่ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่นิ่งเฉย

ส่งเสียงโวยวายกล่าวหา ถึงปฏิบัติการลับๆ ของทหารนอกเครื่องแบบ และเสธ.ต. ที่เป็นระดับผู้บังคับหน่วยทหารม้าในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิด และได้รับความไว้วางใจจากอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 คนหนึ่ง

เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ที่ปัจจุบันมาช่วยงานรัฐบาล และพรรคการเมือง

นี่จึงเป็นต้นเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งช่ำชองการเมือง หยิบมาเป็นประเด็น

ประเด็นที่ “บี้” ตรงไปยังบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์

และแน่นอน ย่อมกระทบชิ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปถึงผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ที่ลุ้นอยากให้การเลือกตั้งซ่อมที่มีรัฐมนตรีไปเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ต้อง “ชนะ”