ใครว่า ‘โอไมครอน’ กระจอก สธ.ผวาหลังปีใหม่แพร่หนัก ยกระดับการควบคุมเข้ม ธุรกิจหวั่นล็อกดาวน์อีกรอบ/บทความพิเศษ / ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ / ศัลยา ประชาชาติ

 

ใครว่า ‘โอไมครอน’ กระจอก

สธ.ผวาหลังปีใหม่แพร่หนัก

ยกระดับการควบคุมเข้ม

ธุรกิจหวั่นล็อกดาวน์อีกรอบ

 

ขณะนี้ แม้ว่า “เดลต้า” จะยังเป็นสายพันธุ์หลักของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศ ด้วยสัดส่วนมากกว่า

แต่การกลับมาโจมตีของ “โอไมครอน” ในรอบล่าสุด ที่เแพร่กระจายไปในหลายจังหวัด ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จากหลักสิบ ก้าวสู่หลักร้อย

ล่าสุด ตัวเลขขยับขึ้นมาเป็น 739 คน (28 ธันวาคม 2564) ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ตัวเลขการติดเชื้อโอไมครอนจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลังจากเทศกาลปีใหม่ และจะกลายเป็นสัดส่วนหลักในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะนำไปสู่การตัดสินใจล็อกดาวน์ภาคธุรกิจอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ยกระดับแจ้งเตือนภัยในระดับ 3 และขอความร่วมมือเรื่องปฏิบัติตามมาตรการ COVID-19 Free Settings อย่างเคร่งครัด จำกัดการรวมกลุ่ม มาตรการคัดกรองต่างๆ สำหรับผู้เดินทางขนส่งสาธารณะช่วงเทศกาล

รวมทั้งการให้ทำงานจากที่บ้าน (WFH) ช่วงหลังปีใหม่

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลในเรื่องนี้ว่า ภาคเอกชนหวังว่าจะไม่มีการประกาศใช้มาตรการขั้นรุนแรงล็อกดาวน์เหมือนครั้งก่อน เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รัฐควรเร่งการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและเร่งการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ให้เร็วจะดีกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดต้องกระจายให้ทั่วถึง

ห่วงที่สุดคือจังหวัดที่อัตราการเข้าถึงวัคซีนน้อย

ส่วนมาตรการคุมเข้มแต่ละจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณาว่าอย่างไรจะเหมาะสม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็คงมีการหารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ก่อนกำหนดมาตรการใดๆ ออกมา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนต้องเตรียมพร้อม ต้องมาหารือกันว่าจะมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดหลังจากที่ประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัดช่วงปีใหม่ เมื่อเดินทางกลับมาทำงานจะมีมาตรการอย่างไร รวมถึงการเตรียมพร้อมใช้ทุกมาตรการไอโซเลชั่นต่างๆ เพื่อรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์โรงงาน ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ทุกโรงงานต่างเพิ่มความระมัดระวังอยู่แล้ว โดยมีการใช้มาตรการแฟกตอรี่แซนด์บ็อกซ์ต่อเนื่องมาจากการระบาดครั้งก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงงานหลังจากที่กลับบ้านช่วงปีใหม่

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงหน่วยงานในสังกัดและสถานประกอบการโรงงานในกำกับกว่า 60,000 โรง เพื่อขอความร่วมมือให้แจ้งประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าหน้าที่และพนักงาน ก่อนที่จะหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด

และเมื่อพนักงานกลับมาปฏิบัติงานให้ทำการคัดกรองพนักงานทุกคนผ่านแอพพลิเคชั่น Thai Save Thai รวมทั้งสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เพื่อให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโลก และการแพร่ระบาดในประเทศไทย พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอไมครอน ทำให้ผู้ประกอบการคิดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกลับมามีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การระบาดของโอไมครอน ที่มีความรุนแรง อาจจะส่งผลต่อผู้ประกอบการธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม หากทางการจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ อาทิ ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่

อีกด้านหนึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 น่าจะฟื้นตัวมาแตะ 4 ล้านคน จากปีนี้ที่ประมาณ 3.5 แสนคน แต่สำหรับกรณีแย่ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือประมาณ 2 ล้านคน เพราะการท่องเที่ยวจะขาดช่วงไป 2-3 เดือน จากการที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย จำเป็นต้องยกระดับการควบคุมการเดินทาง

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปทุกๆ 1 ล้านคน จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7-8 หมื่นล้านบาท

ด้าน ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ยอมรับว่า แม้จะกังวลกับสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนในขณะนี้อยู่บ้าง

แต่เชื่อว่าจากมาตรการความปลอดภัยที่เข้มข้นของทางศูนย์ บวกกับประชาชนมีการตั้งการ์ดสูงอยู่แล้วทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการออกมาจับจ่ายมากขึ้น สังเกตได้จากปัจจุบันที่ทราฟฟิกในแต่ละศูนย์กลับมาแล้วที่ 80-100%

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้แสดงความกังวลจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น โดยกำชับทุกกิจการกิจกรรม ให้มีการจัดงานเคาต์ดาวน์ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด และต้องเป็นไปตามมาตรการการจัดงานตามที่ ศบค.กำหนด

รวมทั้งการขอความร่วมมือจากประชาชน ในการจัดกิจกรรมสังสรรค์ภายในที่พักอาศัยขอให้จัดในสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทดี เพื่อลดการติดเชื้อภายในครอบครัว

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีความกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอไมครอนที่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาได้ประกาศยกเลิกการจัดงานปีใหม่ เริ่มจากพิธีทำบุญตักบาตรวันปีใหม่ ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) รวมถึงกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งเดิมเตรียมการจัดงานระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2564-1 มกราคม 2565 รวมทั้งการงดกิจกรรมหมดทั้ง 50 เขต พร้อมทั้งขอความร่วมมือภาคเอกชนงดจัดกิจกรรมเคาต์ดาวน์ เพื่อสกัดการแพร่เชื้อโอไมครอน หรือหากต้องการจะจัด ก็ควรจะต้องมีมาตรการที่เข้มขึ้น นอกจากนี้ กทม.ขอความร่วมมือประชาชนงดการจัดกิจกรรมสังสรรค์ ตลอดจนหลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากด้วย

แม้ว่าก้าวการเข้ามาของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ในวันนี้ เบื้องต้นอาจจะมีผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แต่ก็เป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป