เครื่องเสียง / พิพัฒน์ คคะนาท/สัพเพเหระคดี

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

สัพเพเหระคดี

เที่ยวนี้มาพบกันวันสุดท้ายของปี ก็ถือโอกาสสวัสดีปีใหม่คุณๆ ไปด้วยเลยนะครับ พร้อมกับขออนุญาตพูดคุยแบบเรื่อยเปื่อยตามประสาในห้วงเวลาสบายๆ ของช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองนี้ ซึ่งกับปีที่กำลังจะผ่านพ้นผมมีความรู้สึกเป็นส่วนตัวว่ามันออกจะยากลำบากกว่าปีก่อนเอามากๆ คือว่ากันแค่เรื่องไวรัสโควิด-19 เรื่องเดียว ก็ส่งผลกระทบให้สาหัสสากรรจ์กว่าคราวระบาดใหม่ๆ ช่วงปลายปี 2562 และเกือบจะตลอดทั้งปีของ 2563 อย่างมาก เพราะช่วงนั้นคุมได้แบบมีทีท่า ‘เอาอยู่’ จริงๆ

เห็นได้จากตัวเลขทั้งในแง่ของการติดเชื้อและเสียชีวิต ต่างกันอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับตั้งแต่ปลายมีนาคม ต่อต้นเมษายน ของปีนี้เป็นต้นมา

ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ได้ตุนตั๋วเดินทางสำหรับครึ่งปีแรกของ 2564 เอาไว้พอประมาณ ทำไปทำมาไปได้แค่ต้นมีนาคมก็จอดไม่ต้องแจว เพราะท่าไม่ดีตั้งแต่ช่วงปลายปีที่หน่วยงานรัฐ ‘การ์ดตก’ ซะเอง ปล่อยให้ช่องทางธรรมชาติที่เชื่อมกับเพื่อนบ้านทางภาคเหนือเป็นทางสะดวกปานไฮเวย์ เชื้อไวรัสก็เลยเข้ามาเริงร่าในบ้านเราและลามเร็วกว่าไฟลามทุ่ง

มิหนำซ้ำสถานบันเทิงกลางกรุงแถบทองหล่อ ‘เจ้าเก่า’ ก็ครื้นเครงกันแบบไม่แยแสเจ้าหน้าที่ ที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่อันเสมือนให้ท้ายอยู่ในที

ผลที่ตามมาก็คือสถานการณ์ของการแพร่กระจายเชื้อตั้งแต่ปลายมีนาคม ต้นเมษายน เรื่อยมาร่วมค่อนปีสาหัสสากรรจ์ดังที่ทราบๆ กัน

ซึ่งนั่นทำให้ ‘ฝันเลิศเลอลอย’ ที่หมายใจว่าครึ่งปีแรกจะได้เดินทางอย่างหฤหรรษ์ ก็พลัน ‘ล่ม’ ไปด้วย เหมือนชื่อหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กของนักเขียนแนวบันเทิงคดีนามอุโฆษ – Harold Robbins เรื่อง Dreams Die First นั่นแหละครับ

และกว่าที่พอจะขยับเนื้อขยับตัวเดินทางได้อีกจากต้นมีนาคม ก็ล่วงเข้าปลายเดือนที่แล้วแบบแหยงๆ เพราะใจยังคงอิดออดอยู่หน่อยๆ ด้วยหมุดหมายปลายทางที่ต้องไปช่วงนั้นยอดติดเชื้อรายวันจากระดับ Top 10 ของประเทศ ทะยานขึ้นไปสู่ Top 3 ติดต่อกันแบบไม่แผ่วเลย แต่เลื่อนตั๋วไม่ได้อีกแล้ว

เลยต้องจำใจจำจรแบบมิอาจเลี่ยงได้

 

ช่วงการระบาดของไวรัสร้ายตัวนี้ที่ยาวนานมากว่าสองปี หรือที่มีผลกระทบต่อบ้านเราแบบเต็มๆ เกือบสองปีเมื่อนับจากปลายมีนาคมปีก่อน มาถึงสิ้นไตรมาสสามของปีนี้ (แม้ว่าถึงสิ้นปีแล้วจะยังไม่สะเด็ดน้ำแบบเบ็ดเสร็จ แถมยังมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาโจมตีอีก แต่ก็ถือได้ว่าดีขึ้นเป็นลำดับนับแต่ต้นไตรมาสสี่มา) สิ่งที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งก็คือข่าวบิดเบือนด้านลบทางการแพทย์เกี่ยวกับเรื่องไวรัสและการรักษาพยาบาลมีให้เห็นเต็มไปหมด

ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข่าวที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์อันมีที่มาจากหลายภาคส่วน แต่ที่น่าเศร้าก็คือมีสื่อบางส่วนลงมาเล่นกับข่าวปลอมที่เรียกกันว่า Fake News แบบช่วยโหมกระพือโดยปราศจาก – อย่าว่าแต่จรรยาบรรณเลยครับ เพราะแม้สามัญสำนึกอันเป็นพื้นฐานของผู้คนปกติทั่วไปก็ดูจะยังไม่มี, มิหนำซ้ำหลายข่าวเท็จยังไปออนแอร์หราหน้าจอทีวีรายการข่าวระดับตัวพ่อตัวแม่ของวงการอีกด้วย

บางข่าวรายการข่าวทีวีของสื่อเพื่อนบ้านถึงกับต้องออกมาแก้ไขให้ถูกต้อง, ก็มีให้เห็น แต่บรรดาผู้ปล่อยข่าวเท็จออกหน้าจอจะละอายหรือไม่, ไม่ทราบ เพราะไม่เห็นออกมาขอโทษขอโพยผู้ชมเลยสักราย

พฤติกรรมทั้งหมดนั้นก็เพียงแค่ต้องการกระทบชิ่งไปด้อยค่าการทำงานของรัฐ ภายใต้กรอบมุ่งโจมตี ‘การบริหารจัดการที่ (ตนเองปรารถนาจะเห็นความ) ล้มเหลว’ ในด้านนี้ โดยมิได้ใส่ใจเลยว่าชาวบ้านผู้ได้รับสารอันเป็นเท็จเหล่านั้นแล้วจะเกิดความสับสนและเข้าใจผิดอย่างไรบ้าง

เห็นแล้วก็ได้แต่เห็นใจคณะแพทย์ที่ตรากตรำทำงานในเรื่องนี้ด้วยความอุตสาหะ ในการที่จะพยายามหาข้อมูล ข่าวสาร ที่ถูกต้องเพื่อให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเรื่องของตัวยารักษาและป้องกันอย่างวัคซีน ผลกระทบต่างๆ ตลอดจนผลทดลองที่ได้ เนื่องเพราะมันเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีข้อมูลใดๆ มาก่อน กระทั่งพอจะมั่นใจแต่ละชุดข้อมูลได้ในระดับหนึ่งแล้วนั่นแหละ จึงค่อยนำมาเผยแพร่เป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ชาวบ้านได้รับทราบเป็นข้อเท็จจริง

แต่ก็ไม่วายที่หลายๆ ครั้ง ชุดข้อมูลทางการแพทย์ถูกนำไปแปลงสารแบบ ‘ตัดแปะ’ เอาสิบยี่สิบประโยคหรือความทั้งหมดที่แถลง มาตัดต่อสลับสับเปลี่ยนให้เป็นประโยคเดียว แล้วนำไปพาดหัวให้เข้าใจกันผิดๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เห็นมาซ้ำซากมาก โดยเฉพาะช่วงกลับมาระบาดหนักในบ้านเราตั้งแต่ต้นไตรมาสสองของปีนี้เป็นต้นมา ทั้งยังไปด้อยค่าวัคซีนที่เริ่มเข้ามาล็อตแรกๆ ในตอนนั้นซ้ำอีก

ซึ่งหากสื่อพร้อมใจกันป้อนชุดข้อมูลอันถูกต้อง ชัดเจน ตรงไปตรงมาแบบรอบด้าน เชื่อว่าจะช่วยให้สังคมคลายความวิตกกังวลด้านการป้องกันและรักษาพยาบาลไปได้พอควร

เพราะในความเป็นจริงแล้ว, สื่อโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักมีบทบาทในการชี้นำสังคมอย่างเป็นสำคัญ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะคล้อยตามการนำเสนอของสื่อมาทุกยุคทุกสมัย ยิ่งยุคก่อนที่ยังไม่มีสื่อสังคมไร้พรมแดนอย่างทุกวันนี้ สื่อสิ่งพิมพ์จะมีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้คนสูงมาก

ที่เห็นได้ชัดก็อย่างช่วงกลางสมัยการเป็นนายกฯ ของคุณเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พ.ศ.2523-2531) ซึ่งมีข่าวลือทำนองว่าธนาคารกรุงเทพจะล้มละลาย อันเนื่องมาจากปัญหาหนี้เสียในประเทศจีน กอปรกับมีคอลัมนิสต์ของสื่อหัวใหญ่รายหนึ่ง เขียนถึงเรื่องนี้ติดต่อกันวันแล้ววันเล่า ทำนองฉายภาพให้ชัดยิ่งขึ้นไปอีกว่าจะเป็นเช่นนั้น ผู้คนก็เกิดความตระหนกแห่ไปถอนเงินจากธนาคารกรุงเทพกันอย่างโกลาหลอลหม่าน จนนายกฯ ต้องออกมาให้คำมั่นว่าเหตุการณ์เลวร้ายนั้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

คำพูดของคุณเปรมที่ว่า – ถ้าธนาคารกรุงเทพล้ม ประเทศไทยก็ล้ม, นั่นแหละครับที่ทำให้สถานการณ์กลับมาสู่สภาวะปกติในที่สุด

นั้น, เป็นเพียงบางตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าสื่อกระแสหลักมีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้เสพข่าวสารมากเพียงใด การเลือกข้างไม่ใช่เรื่องต้องห้ามหรือคือสิ่งผิด เพราะที่ไหนในโลกประชาธิปไตยใบนี้ก็เป็นกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเลือกข้างแล้วจะชี้นำสังคมด้วยพื้นฐานของข้อเท็จจริงไหม ให้ความเคารพความเห็นต่างหรือไม่

เพราะสังคมบ้านเราทุกวันนี้ จะมีผู้คนกลุ่มหนึ่งชอบแสดงออกด้วยการเอาป้าย ‘ประชาธิปไตย’ มาแขวนคอ พร้อมป่าวประกาศเป็นฝ่ายประชาธิปไตยทุกลมหายใจเข้าออก แต่ดูๆ พฤติกรรมจำนวนไม่น้อยในกลุ่มนี้จะมีลักษณะ ‘จักรวาลต้องหมุนรอบตัวกู’ ผูกขาดความถูกต้องจนป่วยเป็นโรคประชาธิปไตยแบบเผด็จการทางความคิด ที่ใครคิดต่างเป็นผิด จากนั้นก็แสดงออกถึงความเป็นอันธพาลออนไลน์ ใช้สื่อสังคมไร้พรมแดนไปถล่มคนเห็นต่างแบบที่เรียกกันว่า ‘ทัวร์ลง’ นั่นแหละครับ

นั้น, มันประชาธิปไตยแบบไหนกัน?

 

มองย้อนกลับไปเพียงแค่ยี่สิบปีให้หลัง พบว่าบ้านเมืองเราทุกวันนี้มีความแตกแยกกันอย่างน่าเศร้าใจ ชนิดที่คนปูนผมซึ่งมาก่อนกึ่งพุทธกาลคิดไม่ถึงจริงๆ ว่าจะเป็นไปได้ถึงขนาดนี้

ต้องถามตัวเองกันแล้วล่ะครับ ว่าเรามีส่วนร่วมในการโหมกระพือความเกลียดชัง อันนำมาซึ่งความขัดแย้งและแตกแยกนั้นด้วยหรือไม่?