ผ่ากรุงเทพมหานคร พื้นที่นี้ใครครอง (2)/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ผ่ากรุงเทพมหานคร

พื้นที่นี้ใครครอง (2)

 

ในตอนที่ผ่านมาได้วิเคราะห์ฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนในที่ประกอบด้วย 7 เขตเลือกตั้ง และชี้ให้เห็นถึงพลังอนุรักษนิยมในเขตพื้นที่ชั้นในที่ยังเห็นความสำคัญของการ “รักความสงบ จบที่ลุงตู่”

ในตอนนี้จะได้วิเคราะห์ถึงฐานคะแนนเสียงของพรรคการการเมืองในซีกอนุรักษนิยมและเสรีนิยมในเขตที่พื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกซึ่งมีความเจริญของเมืองที่ขยายออกในทิศเหนือและทิศตะวันออก ที่เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางใหม่ซึ่งอาจไม่มีศักยภาพเพียงพอจะซื้อหาที่อยู่อาศัยในย่านใจกลางเมือง และ จากการย้ายเข้าของคนที่เติบโตตามการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมากในแถบชานเมือง

พื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก จึงมีลักษณะผสมระหว่างคนชั้นกลางใหม่ที่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรชานเมือง กับคนในชุมชนดั้งเดิมที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้นำชุมชุน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางศาสนา ซึ่งล้วนเป็นฐานะคะแนนเสียงของนักการเมืองในอดีตทั้งสิ้น

 

กรุงเทพฯ ทิศเหนือ พรรคแนวทางเสรีนิยมนำ

ทางทิศเหนือ 5 เขต คือเขต 8 ประกอบด้วยเขตลาดพร้าวและวังทองหลาง เขต 9 ประกอบด้วยเขตหลักสี่ และบางส่วนของจตุจักร เขต 10 คือเขตดอนเมือง เขต 11 คือเขตสายไหม เขต 12 คือเขตบางเขน

ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 มีคะแนนของ 4 พรรคใหญ่ คือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย อนาคตใหม่ และประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐชนะ 2 เขต คือเขต 8 และเขต 9 ส่วนเขต 10-12 เป็นของพรรคเพื่อไทย แสดงให้เห็นตามกราฟที่ 1

แต่เมื่อนำคะแนนของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีลักษณะแนวทางเป็นพรรคอนุรักษนิยม และนำคะแนนของพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ที่มีลักษณะแนวทางเป็นเสรีนิยม รวมเข้าด้วยกันเป็น 2 กลุ่ม พบว่า คะแนนฝ่ายเสรีนิยมมีคะแนนเหนือกว่าฝ่ายอนุรักษนิยมทั้ง 5 เขต ตามกราฟรูปที่ 2

คำอธิบายของพฤติกรรมการออกเสียงของคนกรุงเทพมหานครทิศเหนือ คือเขต 8 (ลาดพร้าว วังทองหลาง) และเขต 9 (หลักสี่ และจตุจักร) เมื่อเทียบกับอีก 3 เขตที่เหลือได้แก่ เขต 10, 11 และ 12 นั้น เขต 8 และ 9 ยังมีลักษณะความเจริญของเมืองหลวงที่ขยายตัวก่อน 3 เขตที่เหลือ พลังของฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง จะพอใจกับการไม่เปลี่ยนแปลง

ในขณะที่อีก 3 เขตที่ไกลออกไป อาจเป็นชนชั้นกลางใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่า และบวกกับฐานคะแนนเสียงของผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดิมของพรรคเพื่อไทยที่วางเครือข่ายลงไปในผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนาในพื้นที่ ทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถชนะเลือกตั้งในเขต 10-12 ได้ แม้ว่าจะมีพรรคแนวทางเสรีนิยม เช่น พรรคอนาคตใหม่ลงแข่งขันด้วยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากดูผลการรวมคะแนน หากในเขต 8 และ 9 มีการหลีกทางระหว่างพรรคเสรีนิยมด้วยกัน ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็น 5 : 0 ไม่ใช่ 3 : 2

 

กรุงเทพฯ ทิศตะวันออก

ระบบหัวคะแนนและเครือข่าย

ยังมีความหมาย

กรุงเทพฯ ทิศตะวันออกมี 9 เขต คือ เขต 13 ประกอบด้วยเขตบางกะปิ และบางส่วนของวังทองหลาง เขต 14 ประกอบด้วยเขตบึงกุ่ม และบางส่วนของคันนายาว เขต 15 ประกอบด้วยเขตมีนบุรี และบางส่วนของคันนายาว เขต 16 คือเขตคลองสามวา เขต 17 คือเขตหนองจอก เขต 18 คือเขตลาดกระบัง เขต 19 ประกอบด้วยเขตสะพานสูง และบางส่วนของประเวศ เขต 20 ประกอบด้วยเขตสวนหลวง และบางส่วนของเขตประเวศ และเขตสุดท้าย คือเขต 21 ได้แก่ เขตพระโขนงและเขตบางนา

ผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 พรรคพลังประชารัฐชนะ 4 เขต คือเขต 13 (บางกะปิ วังทองหลาง) เขต 15 (มีนบุรี คันนายาว) เขต 17 (หนองจอก) และเขต 19 (สะพานสูง ประเวศ)

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยชนะ 3 เขต คือ 14 (บึงกุ่ม คันนายาว) เขต 16 (คลองสามวา) และเขต 18 (ลาดกระบัง)

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ชนะใน 2 เขต ที่พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร คือเขต 20 (สวนหลวง ประเวศ) และเขต 21 (พระโขนง บางนา) ตามกราฟรูปที่ 3

แต่เมื่อนำคะแนนของพรรคพลังประชารัฐรวมกับประชาธิปัตย์ และนำคะแนนพรรคเพื่อไทยรวมกับอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่มีแนวทางคล้ายคลึงกัน พบว่า ฝ่ายเสรีนิยมชนะในทุกเขต ยกเว้นเขตที่ 20 และ 21 ที่ฝ่ายอนุรักษ์มีคะแนนรวมสูงกว่า ตามกราฟรูปที่ 4

วิเคราะห์จากกราฟที่ 3 และ 4 ถือเป็นความได้ผลในเชิงยุทธศาสตร์จากการที่เขต 20 และ 21 พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร เป็นผลให้อนาคตใหม่สามารถชนะได้ในทั้งสองเขต ทั้งๆ ที่แนวคิดด้านอนุรักษนิยมดูเหมือนจะเป็นด้านหลักในสองเขตดังกล่าว

ในขณะที่เขต 13 เขต 15 และเขต 17 พรรคพลังประชารัฐกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบในสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ส่งผู้สมัครลงทั้งสองพรรค ทำให้พลังฝ่ายเสรีนิยมกลับแพ้ต่อฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งๆ ที่ภาพรวมคนในพื้นที่มีแนวโน้มความเป็นเสรีนิยมมากกว่า

 

บทสรุปจากการวิเคราะห์พื้นที่

กรุงเทพฯ ทิศเหนือและทิศตะวันออก

กระแสความเป็นอนุรักษนิยม เกิดจากการสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ที่มีฐานะมั่นคงแล้วรู้สึกพึงพอใจกับสถานะความเป็นอยู่ของตนในปัจจุบัน ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงและหวั่นไหวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของตน

กลุ่มดังกล่าวอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในและชั้นนอกที่ติดกับชั้นในซึ่งมีความเจริญของเมืองขยายตัวไปถึง เช่น ในพื้นที่จตุจักร หลักสี่ ลาดพร้าว

กระแสความเป็นเสรีนิยมเกิดขึ้นในกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่ยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จะเป็นการสร้างโอกาสแก่ตน และยังมองการไม่เปลี่ยนแปลงหรือการคงอยู่กับอดีตเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต โดยเป็นกลุ่มผู้อยู่อาศัยในเขตชานเมือง โดยยิ่งหากผนวกกับความสามารถในการจัดการเครือข่ายหัวคะแนนที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกเดิมที่พรรคเพื่อไทยเคยมีฐานคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้งในอดีต ทำให้พรรคแนวทางเสรีนิยมจะได้เปรียบในพื้นที่รอบนอกที่ห่างออกไปดังกล่าว

การตัดคะแนนเสียงกันเอง ไม่ว่าจะในฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายเสรีนิยมนั้นเป็นธรรมชาติของการเลือกตั้ง ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับและแล้วแต่โชคว่า เมื่อตัดคะแนนกันแล้วใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ยกเว้นว่าจะสามารถแบ่งพื้นที่กันในการลงสมัครซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก

การเมืองเป็นเรื่องของโอกาส แม้มีโอกาสชนะเพียงน้อยนิดยังต้องรีบคว้า เพราะมิตรในวันนี้ ไม่แน่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรูในอนาคต

(ตอนหน้า วิเคราะห์ฐานคะแนนเสียงกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี)