ของดีมีอยู่ : ‘การเมืองหลายขั้ว’ ใน ‘สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.’

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘การเมืองหลายขั้ว’

ใน ‘สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.’

 

หลายคนกำลังมองการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจเกิดขึ้นในปี 2565 เป็นสนามของการปะทะกันระหว่างสองขั้วฝ่ายทางการเมืองระดับชาติ

คือ “ฝ่ายเผด็จการ” ขั้วหนึ่ง กับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” อีกขั้วหนึ่ง

นี่คือรูปการณ์ความคิดที่ค่อยๆ สั่งสมก่อตัวขึ้น จากประสบการณ์ทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 จนถึงหลังเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553

ซึ่งผนวกเข้ากับสภาพ “การเมืองสองขั้ว” ในปัจจุบัน อันสะท้อนผ่านผลลัพธ์ของการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 เมื่อพรรคการเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กำชัยชนะไม่ได้เด็ดขาด จนมิอาจจัดตั้งรัฐบาลภายใต้กฎกติกาที่บิดเบี้ยว

ในสภาพการณ์เช่นนี้ จึงคล้ายจะนำไปสู่ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ควรเป็นพื้นที่สำหรับการแข่งขันที่ชัดเจนระหว่างสองคู่ขัดแย้งทางการเมือง มากกว่าจะเป็น “พื้นที่เปิดกว้าง” สำหรับตัวละครการเมืองอันหลากหลาย

 

พิจารณาในเชิงสถิติ-ตัวเลข แหล่งข้อมูลอันหนึ่งซึ่งอาจจะพอนำมาวางเทียบเคียงเพื่อคาดการณ์ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หนหน้าได้ ก็คือ ผลการเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ เมื่อปี 2562

หากนับคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต จะพบว่าพรรคอนาคตใหม่มีความนิยมสูงสุดที่ 804,272 คะแนน ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ 791,893 คะแนน อันดับสามคือพรรคเพื่อไทย 604,699 คะแนน (แต่ต้องหมายเหตุว่า คราวนั้น เพื่อไทยส่งผู้สมัคร ส.ส.ไม่ครบทุกเขต) อันดับสี่ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ 474,820 คะแนน ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ได้เสียงรวมกัน 426,596 คะแนน

ถ้านำตัวเลขข้างต้นมาใช้ทำนายผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะเกิดขึ้น กันแบบทื่อๆ ตรงๆ ก็มีแนวโน้มความเป็นไปได้ปรากฏขึ้นสามแนวทาง

ทางแรก ถ้าแข่งกันแบบ “สี่ก๊ก” ยังมีแนวโน้มสูงที่ตัวแทน “ฝ่ายประชาธิปไตย” จะได้รับชัยชนะ

ทางที่สอง ถ้าแข่งกันแบบ “สองขั้ว” โดยพรรคการเมืองใหญ่ในสองฟากต่างรวมพลังกัน “ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็มีโอกาสชนะสูง

มีเพียงแนวโน้มที่สาม คือ การที่พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลผนึกรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล ยังยืนยันจะส่งผู้สมัครแยกกันเป็นสองเบอร์ จนเกิดสภาพ “สามก๊ก” เท่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเพลี่ยงพล้ำของ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

 

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปริศนา-ความคลุมเครืออีกไม่น้อย ที่ไม่สามารถประเมินให้กระจ่างชัดได้ด้วยผลการเลือกตั้งปี 2562 เช่น

สองปีผ่านไป ทัศนคติและวิธีการตัดสินใจทางการเมืองของคน กทม.นั้นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน? อย่างไร?

พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคการเมืองที่มีจำนวนเก้าอี้ ส.ส.กรุงเทพฯ มากที่สุด จะยอมไว้ใจหรือหลีกทางให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จริงๆ หรือ?

ผู้สมัครอิสระอย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คงไม่ได้มีฐานเสียงจากคะแนนดั้งเดิมของพรรคเพื่อไทยอย่างเพียวๆ (ซึ่งก็เป็นคะแนนที่ต่ำกว่าข้อเท็จจริง จากกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ) แต่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากใครเพิ่มเติมมาอีกบ้าง?

คงเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องชอบกลที่พรรคก้าวไกล ในฐานะ “ทายาทโดยตรง” ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้รับคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตสูงสุดในสนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ปี 2562 จะไม่ร่วมลงแข่งขันในสนามผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จุดท้าทายอยู่ที่ว่าพรรคจะได้รับคะแนนนิยมสูงหรือต่ำกว่าเดิม? และสามารถสู้กระแส “ชัชชาติ” ได้หรือไม่?

ไม่รวมถึงคำถามใหญ่ๆ ที่ว่า “การเมืองสองขั้ว” แบบหลังปี 2553 ได้คลี่คลายขยายตัวไปสู่สภาวะใดแล้ว? เมื่ออย่างไรเสีย พรรคพลังประชารัฐก็ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ และตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ก็ไม่ได้มีเพียงพรรคเดียวอีกต่อไป

 

ประเด็นท้ายสุด ที่คนติดตาม “การเมืองในกรุงเทพมหานคร” อาจมองข้ามหรือหลงลืมไป ท่ามกลางความพยายามจะทำให้การเลือกตั้งผู้บริหารเมืองหลวงกลายสภาพเป็น “สมรภูมิทางการเมืองระดับชาติ” ขนาดย่อมๆ ก็คือ ความหลากหลายของผู้สมัครผู้ว่าฯ นั้นเป็นลักษณะเด่นหรือธรรมชาติของสนามเลือกตั้งนี้เสมอมา

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 จุดโฟกัสหลักอาจอยู่ที่ชัยชนะซึ่ง “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” จากพรรคประชาธิปัตย์ มีเหนือ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” จากพรรคเพื่อไทย โดยต่างฝ่ายต่างได้รับเสียงสนับสนุนเกินหลักล้านทั้งคู่

แต่ต้องไม่ลืมว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้น ยังมีอันดับสามอย่าง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ที่ได้คะแนนเสียงในหลักแสน และอันดับสี่อย่าง “สุหฤท สยามวาลา” ที่มีผู้สนับสนุนเกือบแปดหมื่นคน

ย้อนไปในปี 2552 นอกจากอันดับหนึ่ง-สอง คือ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” และ “ยุรนันท์ ภมรมนตรี” (เพื่อไทย) แล้ว สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ยังมีผู้สมัครที่ได้คะแนนหลักแสนอย่าง “ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล” และ “แก้วสรร อติโพธิ”

เช่นเดียวกับในปี 2551 ที่แม้ไฮไลต์อาจอยู่ตรงการปะทะกันระหว่าง “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” (ประชาธิปัตย์) กับ “ประภัสร์ จงสงวน” (พลังประชาชน) แต่ก็ยังมี “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” และ “เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์” ที่ได้คะแนนในหลัก 2-3 แสนเสียง

ก่อนหน้านั้น ก็มีนักการเมือง “บิ๊กเนม” อีกมากมายที่เคยลงแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และได้คะแนนนิยมในหลักแสน แม้จะหลุดจากอันดับ “ท็อปทู” อาทิ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ (ชื่อ-นามสกุลในขณะนั้น), ธวัชชัย สัจจกุล, พ.อ.วินัย สมพงษ์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และปวีณา หงสกุล เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มักจะต้องมี “ผู้สมัครสายฮา” (ซึ่งอาจมองอีกมุมได้ว่าเป็น “พลเมืองผู้กระตือรือร้น”) เข้ามาร่วมสร้างสีสันอยู่ตลอด จากทศวรรษ 2530 สู่ 2550

ไล่ตั้งแต่แคนดิเดตอย่าง “สมิตร สมิทธินันท์” “วรัญชัย โชคชนะ” “ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ” จนถึง “ลีนา จังจรรจา”

นี่คืออดีตอันบ่งชี้ถึง “ความหลากหลาย” ที่เคยดำรงอยู่ใน “การเมืองท้องถิ่น” ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะปรากฏออกมาในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งหน้าหรือไม่?