On History : คุกกี้แคร์รอตวันคริสต์มาสอีฟของอเมริกันชน มีที่มาจากการบูชาม้าของเทพโอดินของพวกนอร์ส / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

คุกกี้แคร์รอตวันคริสต์มาสอีฟ

ของอเมริกันชน

มีที่มาจากการบูชาม้าของเทพโอดิน

ของพวกนอร์ส

 

เด็กน้อยชาวคริสต์ต่างก็มีธรรมเนียมการแขวนถุงเท้า (หรือถุงรูปทรงคล้ายถุงเท้า) เอาไว้ที่เตาผิงของบ้าน (หรือปลายเตียงของคุณหนูๆ เขาก็ได้) ในคืนสุกดิบก่อนวันคริสต์มาส หรือที่เรียกว่า “คริสต์มาสอีฟ” ซึ่งตรงกับวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี

แน่นอนว่าเด็กน้อยเหล่านี้ต่างก็มุ่งหวังให้ตื่นเช้าขึ้นมา ภายในถุงเท้าเหล่านั้นจะบรรจุไปด้วยของเล่น ขนม หรือของขวัญอะไรก็แล้วแต่ ที่คุณลุงซานต้าคนดีนำมามอบให้กับพวกเขา

แต่ทำไม ซานตาคลอสต้องเอาของขวัญไปยัดไว้ในบรรจุภัณฑ์เหม็นๆ อย่างถุงเท้าด้วยล่ะครับ?

ตำนานอธิบายเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่หลายสำนวน แต่สำนวนที่ถูกอ้างอิงถึงมากที่สุด เป็นเรื่องของนักบุญนิโคลาส แห่งไมรา (Saint Nicolas of Myra, ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) กับชายยากจน

 

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อนานโขมาแล้ว ชายยากจนคนหนึ่งมีลูกสาวแสนงามอยู่สามนาง ปัญหาที่สุมอยู่ในใจชายคนนั้นก็คือ เขาเป็นห่วงลูกสาวทั้งสามว่าหากเขาตายไปแล้วจะมีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร?

ครั้นจะให้ออกเรือนไปชายคนนี้ก็ยากจนเสียจนไม่มีเงินจะให้ลูกทั้งสามได้แต่งงาน

สุดท้ายเรื่องไปถึงหูนักบุญนิโคลัส ในยามที่อาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว นักบุญท่านเลยแอบโยนถุงที่บรรจุไว้ด้วยลูกบอลทองคำสามถุงเข้าไปในบ้านของชายยากจนผู้นั้น

และถุงเจ้ากรรมก็ดันไปแลนดิ้งลงในถุงเท้าของสาวๆ ทั้งสามนางที่นำไปตากอยู่ที่เตาผิงภายในบ้านพอดี

ด้วยทานที่นักบุญท่านโปรยมาให้ ตำนานเรื่องจึงได้จบลงอย่างแฮปปี้เป็นที่สุด เพราะลูกสาวแสนสวยทั้งสามนางของชายยากจนนั้นได้ออกเหย้าออกเรือนกันทุกคน และก็ทำให้เกิดประเพณีการแขวนถุงเท้าไว้ในคืนคริสต์มาสอีฟ

แถมชาวคริสต์จำนวนมากจะเชื่อว่านักบุญนิโคลัส แห่งไมรา คนนี้นี่แหละคือ ซานตาคลอสตัวจริง (ส่วนจะจริงหรือเปล่านั่นก็อีกเรื่อง)

 

แต่ไม่ว่านักบุญท่านจะเป็นซานตาคลอสตัวจริงหรือเปล่า เด็กน้อยผู้ศรัทธาในพระคริสต์ก็ต่างนิยมแขวนถุงเท้ารอของขวัญจากซานตาคลอสกันในทุกคืน ของวันคริสต์มาสอีฟ กันอยู่ดี

ยกเว้นแต่เด็กๆ ชาวอเมริกันชนมีธรรมเนียมเก่าแก่ที่จะปฏิบัติกันในคืนคริสต์มาสอีฟแตกต่างออกไป เพราะจะนำ “คุกกี้” ที่มีส่วนผสมของ “แคร์รอต” กับนมสด มาเตรียมไว้ให้กับคุณลุงซานต้าด้วย

แถมธรรมเนียมที่ว่านี่ ยังมีเด็กอเมริกันจำนวนนับเป็นล้านๆ คน ปฏิบัติกันอยู่อย่างเคร่งครัดจนกระทั่งปัจจุบันเลยนะครับ (แน่ล่ะ คุกกี้จำนวนกระจิริด กับนมสดแค่แก้วเดียว แลกกับของเล่นจากลุงซานต้านี่มันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มอยู่แล้ว)

ว่ากันว่า ธรรมเนียมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ในช่วงทศวรรษ 1930s ที่พวกฝรั่งเขามีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “the Great Depression”

และก็เป็นเพราะการที่เศรษฐกิจโลกพังระเนระนาดจนเหมือนถูกพายุบุแคมเข้าถล่มในครั้งนั้นเอง ที่ทำให้พ่อ-แม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ในสหรัฐอเมริกา พยายามที่จะสอนสั่งลูก-หลานของพวกเขาว่า การแสดงความขอบคุณตอบกลับสำหรับสิ่งของที่พวกน้องๆ โชคดีที่คุณลุงหนวดเฟิ้ม ในยูนิฟอร์มสีแดงคนนั้นนำมามอบให้นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

แน่นอนว่า การแสดงความขอบคุณตอบกลับที่น้องๆ หนูๆ มีต่อซานตาคลอส ก็คือสิ่งตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ อย่างคุกกี้ที่เจือเอาแครอตผสมลงไปบางๆ กับนมสดแก้วนั้นนั่นแหละ

แต่คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมคุกกี้ที่ใช้เป็นของตอบแทนให้กับซานตาคลอส จะต้องมีการจำเพาะเจาะจงว่า ให้ผสม “แคร์รอต” ลงไปด้วย?

 

ข้อมูลจากประเพณีเก่าแก่ในศาสนาดั้งเดิมของพวกเยอรมนิก และสแกนดิเนเวียน ที่กระทำเพื่อบูชา “ม้า” ของเทพเจ้าโอดิน (Odin) อาจเป็นคำตอบในที่นี้

โทษฐานที่โอดินเป็นราชาแห่งทวยเทพของพวกนอร์ส (Norse) ม้าของพระองค์จึงจะเป็นม้ากระจอกทั่วไปอย่างใครเขาไม่ได้ ม้าของพระองค์มีแปดขา สามารถเหาะเหินเดินอากาศ และมีชื่อเรียกยากๆ ว่า “สเลปนีร์” (Sleipnir)

พวกเด็กๆ ชาวเยอรมนิกและสแกนดิเนเวียนในสมัยโบราณจะเอาฟางข้าว, น้ำตาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แคร์รอต” ใส่ไว้ในรองเท้าบู๊ตของพวกเขา จากนั้นจึงเอาไปไว้ใกล้ๆ กับปล่องไฟ เพื่อมอบให้กับเจ้าม้าสเลปนีร์ตัวนั้น เพราะเชื่อกันว่าเทพโอดินจะทรงตอบแทนความใจดีของเด็กๆ ด้วยขนม หรือของขวัญบางอย่าง โดยจะใส่คืนลงไปในรองเท้าบู๊ตของพวกเด็กน้อยแทน

ตรงนี้แหละครับ ที่ทำให้ใครบางคนอธิบายเอาไว้ว่า นี่คือที่มาของธรรมเนียมการแขวนถุงเท้าในคืนคริสต์มาสอีฟ ซึ่งถูกชาวคริสต์เทกโอเวอร์ไปเป็นของตนเองมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

แถมที่มาของธรรมเนียมการเอาอาหารการกินไปยัดไว้ในรองเท้าสำหรับเจ้าสเลปนีร์นี่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะชื่อเจ้าม้า “Sleinir” ในภาษานอร์สโบราณหมายถึง “ลื่น” (Slippy) หรือ “รองเท้ากันลื่น” (Slipper, ที่ไทยเรามักจะแปลว่า รองเท้าแตะ กันอยู่แค่ความหมายเดียว)

ที่สำคัญก็คือ ประเพณีที่ว่านี้ยังกระทำกันในช่วงกลางของฤดูหนาวในทวีปยุโรป คือในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ซึ่งจะมีเทศกาลเฉลิมฉลองที่เรียกว่า Yule (อ่านออกเสียงตามสำเนียงชาวนอร์วีเจี้ยนปัจจุบันได้ประมาณว่า อือเล่อะ)

เทศกาล Yule จะดำเนินติดต่อกันไป 12 วัน โดยคาบเกี่ยวกับช่วงวันคริสต์มาสของชาวคริสต์ โดยกลุ่มคนที่ชาวคริสต์เรียกอย่างดูถูกดูแคลนว่าพวกเพเกิน (pagan, ในที่นี้แปลตรงตัวว่าพวกนอกศาสนาคริสต์) จะเชื่อกันว่า ในระหว่างช่วงเทศกาล Yule นั้น จะมีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเกิดขึ้นถี่มากอย่างผิดปกติ

ที่สำคัญคือจะมีขบวนของสิ่งลี้ลับที่เรียกว่า ‘นักล่าแห่งพงไพร’ (Wild Hunt) ปรากฏขึ้นกลางท้องฟ้า

ขบวนนักล่าแห่งพงไพรนี้ คือขบวนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับอันประกอบไปด้วยทั้ง กลุ่มคนที่ตายไปแล้ว, พวกเอลฟ์ หรือแม้กระทั่งเทวดาตัวน้อย (fairy) แต่จะมีผู้นำขบวนเป็นเทพเจ้าท้องถิ่นที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มชน แต่เรียกรวมกันในหมู่ชาวเยอรมนิกกลุ่มใหญ่ว่า “โวดาน” (Wodan) แต่พวกนอร์สรู้จักกันในชื่อของ เทพเจ้าโอดิน องค์เดิมนี่เองแหละครับ

แน่นอนว่า ระหว่างที่เทพเจ้าโอดินนำฝูงขบวนนักล่าแห่งพงไพร ข้ามผ่านฟากฟ้าในช่วงเทศกาล Yule ที่ว่านี้ พระองค์ก็ทรงพาหนะเป็นเจ้าม้าแปดขาสเลปนีร์นี่เอง ซึ่งนักวิชาการก็มีความเห็นระบุไว้ตรงกันอยู่มากว่า การที่เทพโอดินขี่เจ้าสเลปนีร์ข้ามผ่านฟากฟ้า ในช่วงเทศกาล Yule นี่แหละ คือที่มาของความเชื่อที่ว่า ซานตาคลอสขี่รถเลื่อนที่เทียมไว้ด้วยกวางเรนเดียร์

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิด ที่ในปัจจุบันนี้ลูกหลานสายตรงของพวกนอร์สโบราณอย่าง ชาวนอร์วีเจี้ยน และชนชาวสแกนดิเนเวียนอื่นๆ จะยังเรียกเทศกาลคริสต์มาสด้วยภาษาดั้งเดิมของตนเองว่า Yule ให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

 

การที่พ่อ-แม่ของเด็กน้อยชาวอเมริกันชน ในยุคที่พายุดีเปรสชั่นลูกยักษ์เข้าถล่มเศรษฐกิจโลก เมื่อทศวรรษ 1930s ให้ผสมแคร์รอตลงไปในคุกกี้ที่จะมอบให้คุณลุงซานต้าจึงไม่ใช่เหตุบังเอิญ เพราะแน่นอนว่า ซานตาคลอสจะไม่ได้เก็บเอาไว้สวาปามคนเดียวแน่

คุณลุงเคราเฟิ้มคนนี้จะเอาไปป้อนบรรดากวางเรนเดียร์ที่ใช้เทียมรถเลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแดชเชอร์ (Dasher), แดนเซอร์ (Dancer), แพรนเซอร์ (Prancher), วิเซน (Vixen), โคเม็ต (Comet), คิวปิด (Cupid), ดอนเดอร์ (Donder) และบลิตเซน (Blitzen)

(ส่วนเจ้ากวางเรนเดียร์จมูกสีแดงตัวเดียวในฝูงที่ชื่อรูดอล์ฟ, Rudolph, เพิ่งถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่เมื่อ ค.ศ.1939 หรือ พ.ศ.2482 เท่านั้น)

และอันที่จริงแล้ว ความที่เชื่อว่า คุณลุงซานต้ามีรถเลื่อน ซึ่งเทียมไว้ด้วยฝูงกวางเรนเดียร์ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนัก โดยมีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในกวีบทหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์พร้อมกับรูปประกอบเมื่อปี ค.ศ.1821 (ตรงกับ พ.ศ.2364) เท่านั้น โดยบทกวีดังกล่าวมีข้อความบางส่วนระบุว่า

“…ลุงซานตาคลอสผู้มากสุขสันต์ เรนเดียร์พาท่านผ่านคืนเหมันต์…” (Old Santeclaus with much delight/ His reindeer drives this frosty night)

และนั่นก็แปลว่าความเชื่อเรื่องคุณลุงซานต้าขี่รถเลื่อนเทียมด้วยฝูงกวาง แถมยังเป็นกวางที่โปรดปรานรสชาติของแคร์รอตเป็นพิเศษนั้น อาจจะไม่ได้เป็นความเชื่อที่เก่าแก่อะไรมากนัก

แต่การที่ยังมีธรรมเนียมการใส่ “แคร์รอต” ของโปรดของเจ้าม้าสเลปนีร์ผสมลงในคุกกี้ ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความเชื่ออย่างดั้งเดิม ก่อนจะกลืนกลายมาเป็นความเชื่อเรื่อง “ซานตาคลอส” อย่างในปัจจุบันนี้ เจ้ากวางเรนเดียร์ทั้งหลายจึงต้องชื่นชอบรสชาติของคุกกี้ผสมแคร์รอต ไปด้วยรากเหง้าทางประวัติศาสตร์อย่างที่ว่านี่เอง