#Saveจะนะ เท่ากับ Save ประเทศไทย/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ / อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

#Saveจะนะ

เท่ากับ Save ประเทศไทย

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

จากสถานการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมพี่น้องชาวจะนะ ซึ่งชุมนุมที่หน้าทำเนียบ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ทำให้ทั้งคืนและเช้าวันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2564 เครือข่ายสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประสังคม ภาควิชาการ และอื่นๆ ทั้งชายแดนภาคใต้ ส่วนกลาง และแม้แต่ต่างประเทศได้แสดงความคิดเห็นวิจารณ์ และถึงขั้นประณามการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจับกุมผู้ชุมนุมจำนวน 37 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงสูงอายุ อันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ชุมนุมมิได้มีเจตนามาเพื่อก่อความรุนแรงแต่อย่างใด

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังพยายามกีดกันไม่ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพเพื่อสื่อสารให้สาธารณะรับรู้ได้ตามปกติ อันแสดงถึงเจตนาที่ต้องการปกปิดวิธีการสลายการชุมนุม

ซึ่งองค์กรสื่อออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐอย่างมาก

ที่สำคัญที่สุดเป็นปัจจัยสร้างความชอบธรรมให้องค์กรต่างๆ ที่เห็นค้านกับทั้งภาคการเมืองในและนอกสภาและภาคประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนจับมือโจมตีจุดศูนย์กลางรวบอำนาจประยุทธ์ เป็นการขยายจากประเด็นสิ่งแวดล้อมสู่โครงสร้างการปกครอง

เหตุที่สลายผู้ชุมนุมเพราะวันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2564 เป็นวันประชุม ครม. เข้าใจว่านายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจไม่อยากเห็นภาพขวางหูขวางตา ทั้งที่ชาวบ้านไปชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ก็เพื่อจะพบนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จะถามว่า ทำไมไม่รักษาสัจจะตามมติ ครม.ที่ตกลงกับชาวบ้าน

การตัดสินใจโดยลุแก่อำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ในครั้งนี้สะท้อนชัดว่า เรายังอยู่ในรัฐทหาร ไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย

ทำให้ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกันเปิดอภิปรายเรื่องจะนะล้วนๆ ทั้งวัน และถูกพัฒนาให้ทุกเครือข่ายประกาศจุดยืนเคียงข้างชาวบ้านจะนะขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมทวงสัญญารัฐบาล

โดยวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 15.00 น. ได้รวมตัวกันหน้า UN

เพื่อมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ประตู 1 ทวงคืนสิ่งที่เป็นของประชาชนทุกคนกลับมา

โดยประกาศว่า “เราถอยไม่ได้อีกแล้ว จะไม่มีการเจรจาต่อรองอีกต่อไป มีทางออกเดียวคือรัฐบาลต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”

 

สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ ได้เดินทางจากชายแดนใต้มาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยผ่านการเรียกตรวจของตำรวจ กว่า 15 ด่าน (ผู้เขียนร่วมเดินทางด้วย) ใช้เวลา 24 ชั่วโมงทั้งที่ก่อนเดินทางแจ้งทุกขั้นตอนว่าจะเดินทางในภารกิจครั้งนี้

แต่ถูกกลั่นแกล้งเจาะจงตรวจค้นด้วยเหตุผลมากมายทั้งตรวจโควิด ตรวจการฉีดวัคซีน ตรวจสอบมีคนต่างด้าวหรือไม่ ขอถ่ายบัตรประชาชน และที่ร้ายสุดคือตรวจอัตลักษณ์

แต่ท้ายสุดก็สามารถร่วมกับชาวบ้านหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ตั้งแต่ทำทางพิธีศาสนา ขอพรต่อพระเจ้า และไฮไลต์สุดอ่านแถลงการณ์เรียกร้องการยุติการดำเนินคดีผู้ชุมนุม การตั้งกรรมการที่เป็นกลางมาศึกษา และการตรวจสอบบทบาท ศอ.บต. พร้อมประกาศว่าปกป้องจะนะ คือการปกป้องสิทธิชุมชนและการปกป้องการพัฒนาที่ยั่งยืน

และระบุว่า “จะนะ” คือต้นแบบของชุมชน ที่ทุกคนต้องลุกขึ้นยืนเพื่อกำหนดอนาคตของพวกเราเอง

อย่าลืมว่าสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้นั้นประกอบด้วยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจำนวน 400 โรงเรียนทั่วภาคใต้ ครูจำนวน 80,000 คน นักเรียนจำนวน 500,000 คน มีเป้าหมายผลิตนักเรียนให้มีจิตอาสา สานต่องานศาสดาเพื่อมวลมนุษยชาติ

นอกจากนั้นหากดูในแถลงการณ์พบว่าได้อ้างหลักการศาสนาเชื่อมกับการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ว่า

“นอกจากนั้นยังถ่ายทอดหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายระบบนิเวศ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสังคม สตรี เยาวชน และเด็กๆ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมกินพื้นที่ถึง 16,000 ไร่ ในชุมชนมุสลิม อ.จะนะ จ.สงขลา โครงการนี้เป็นโครงการที่อ้างการพัฒนา แต่แท้จริงแล้วคือการเอื้อประโยชน์ให้กับคนไม่กี่กลุ่ม มีความเสี่ยงสูงที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทางทะเล ซึ่งขัดต่อหลักคำสอนดังกล่าว”

“ดังนั้น พวกเราจึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำสัญญากับรัฐบาลให้หยุดโครงการไว้ก่อน และทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาหรือ SEA แต่รัฐบาลกลับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงและยังเดินหน้าโครงการต่อไป เมื่อพี่น้องประชาชนชาวจะนะทวงสัญญากลับถูกจับกุมยัดข้อหาและกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ชุมนุมคัดค้านโครงการอีก พวกเราจึงเดินทางมาร่วมชุมนุมกับพี่น้องชาวจะนะ”

 

ทำไม #Saveจะนะ เท่ากับ Save ประเทศไทย

ข้อเสนอของชาวบ้านให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาหรือ SEA แบบมีส่วนร่วม และมีคณะผู้ศึกษาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องครบถ้วนนำมาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้นถือว่าแฟร์สำหรับคนทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

การเรียกร้องหน้า UN ของชาวบ้านเป็นการยกระดับปัญหาประเทศไทยสู่เวทีนานาชาติ

และต้องจับตาการมาร่วมแจมของขบวนการ BRN กระทบกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้หรือไม่

“รัฐบาลต้องตรวจสอบบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศอ.บต. ที่เกี่ยวข้องกับการเดินหน้าโครงการฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อคำถามที่ว่า ศอ.บต.แต่เดิมคือโซ่ข้อกลางที่เชื่อมระหว่างภาคประชาชนกับรัฐและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนบทบาทมาผลักดันโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนใช่หรือไม่?” คือการเรียกร้องของประชาชนจะนะ

ที่ระบุอีกว่าอย่าผลักชาวบ้านและผู้นำศาสนาและผู้นำโรงเรียนจากการต่อสู้บนดินภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญอย่างสันติวิธีสู่การต่อสู้ใต้ดินอย่างที่ผ่านมาเพราะ (ความรู้สึก) ถูกเลือกปฏิบัติตามที่เป็นข่าว

ดังนั้น หากรัฐบาลแก้ปัญหาจะนะได้ก็จะสามารถ Save ทั้งจะนะเเละประเทศไทย

“หวังว่าจะนะคือต้นแบบของชุมชนที่ลุกขึ้นมากำหนดอนาคตตนเอง การต่อสู้ของพวกเราจะจุดประกายให้เกิดกระแสคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วภาคใต้และทั่วประเทศ โดยที่การพัฒนานั้นต้องสอดคล้องกับการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณของประชาชน”

“พวกเรา (ผู้เขียนรวมทั้งสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้) ขอประกาศว่าการปกป้องจะนะคือการปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องทรัพยากรของมวลมนุษยชาติ และปกป้องการพัฒนาที่ยั่งยืนอันเป็นหลักการสากล”

คือคำประกาศในแถลงการณ์ของชาวจะนะและแนวร่วมในครั้งนี้