เสียงไม่เต็มร้อย เศรษฐกิจ 2565 ดีหรือแย่ นักธุรกิจ-นักวิชาการ ออกโรง/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เสียงไม่เต็มร้อย เศรษฐกิจ 2565 ดีหรือแย่

นักธุรกิจ-นักวิชาการ ออกโรง

จี้ ครม.ประยุทธ์ กางแผนฟื้นประเทศ

 

บรรยากาศในขณะนี้โดยภาพรวมดูจะผ่อนคลายมากขึ้น หลังประเมินว่าโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน” แม้เชื้อแพร่กระจายเร็วขึ้นแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่าย และรัฐบาลไทยเปิดทางจัดกิจกรรมเพื่อฉลองปีใหม่ จึงเป็นแรงส่งกระตุ้นใช้จ่ายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่องข้ามปี

ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมองถึงอนาคตปี 2565 มองถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย บนการคาดเดาได้ยาก เพราะยังติดหลุมปัจจัยกดดันหลายด้าน

ทั้งด้านการแพร่ระบาดของโควิดกลายพันธุ์ที่เพิ่งเริ่มระบาดวงกว้างในหลายประเทศ

การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ การปรับเปลี่ยนกฎกติกาการค้าโลก

รวมถึงปัญหาการเมืองโลก และการจับตาเสถียรภาพการเมืองไทย

เมื่อสอบถามนักธุรกิจ นักวิชาการ ต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังมีเสียงที่แตกต่างกันค่อนข้างสูง !!

 

นักวิชาการท่านหนึ่ง นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพว่า ปี 2565 ช่วงแรกไทยจะเหมือนคนเพิ่งหายป่วย อาจจะไม่ได้สดใส แต่เริ่มเห็นทางออก พอมีความหวังมากขึ้น และยังต้องการมาตรการกระตุ้นจากทางภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งในปี 2565 ไทยกำลังจะเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ของโควิด-19 จากเดิมที่ไม่มั่นใจว่าจะเป็นโรคที่หายไปเลย แต่ตอนนี้เป็นที่แน่ชัดว่า มีโอกาสที่โรคนี้จะกลับมาแพร่ระบาดเรื่อยๆ แต่ไม่รุนแรงเหมือนช่วงแรกที่มีการระบาด การเสียชีวิตอาจจะมีบ้างแต่จะไม่รุนแรง เชื่อว่าจะได้เห็นการแพร่ระบาดลักษณะดังกล่าวในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ถ้าเป็นประเทศไทยหวังว่าจะสามารถปรับตัวอยู่กับโควิด-19 ได้ในช่วงกลางปี 2565 แต่การมาของโอไมครอนก็ทำให้การปรับตัวอาจล่าช้าออกไป

นักวิชาการท่านนี้ยังระบุต่อว่า อีกสิ่งที่น่ากังวลคือ หากประชาชนยังมีความกลัวต่อโควิด-19 อยู่ ยิ่งส่งผลให้การปรับตัวอยู่กับโควิด-19 เป็นไปได้ยากมากขึ้น อีกทั้งจะยิ่งเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย นอกจากนี้ ไทยต้องติดตามการรับมือโอไมครอนของต่างประเทศด้วย ว่าจะมีมาตรการรับมืออย่างไร อาทิ การจับตามาตรการของสหรัฐ เรื่องการถอนเงินจากระบบเศรษฐกิจ และเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยว่าจะทำได้รวดเร็วแค่ไหน ส่วนประเทศจีน เราต้องจับตาเรื่องการจัดการหนี้ หลังเอเวอร์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับสองของจีน ขาดสภาพคล่อง ต้องลุ้นว่าจีนจะจัดการปัญหานี้ไปได้อย่างไร

ขณะที่ยุโรป เราต้องจับตาเรื่องโอไมครอน เพราะเป็นกลุ่มประเทศเสรีอาจจะมีการประท้วงไม่ใส่หน้ากากอนามัย และอาจจะมีการทักท้วงเรื่องการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้โอไมครอนลากยาวในทวีปยุโรปได้ และญี่ปุ่น ก็เป็นอีกประเทศที่ไทยต้องจับตามองเพราะเพิ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องจับตาดูเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะการปรับตัวของแต่ละประเทศล้วนมีผลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ส่วนประเทศไทยนั้น สิ่งที่ต้องจับตาในปี 2565 คือเรื่องของมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พอมีโอไมครอนเข้ามาส่งผลให้ภาครัฐต้องมีการอัดฉีด ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีโจทย์ระยะยาวที่จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว แต่ในปัจจุบันรัฐก็ยังไม่ค่อยมีแผนระยะยาวออกมา สิ่งที่เห็นดำเนินการในตอนนี้ คือรัฐเก่งเรื่องการอัดฉีดเงินระยะสั้น อาทิ เรื่องการจำนำข้าว แจกเงิน 5,000 บาท ให้กับกลุ่มที่ทำงานตอนกลางคืน และอุดหนุนคนละครึ่ง เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่ได้สร้างผลที่ดีในระยะยาว เป็นเพียงการฉีดสเตียรอยด์ เพื่อรักษาอาการในเบื้องต้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากในปี 2565 รัฐไม่สามารถวางแผนเปลี่ยนแปลงเรื่องการฟื้นฟูในระยะยาว มีสิทธิ์สูงที่ไทยจะตกขบวนได้

 

มาฟังเสียงภาคเอกชน ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เขามองว่า ปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ยังต้องเฝ้าระวังความรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอนอยู่ในขณะนี้ และยาวไปถึงช่วงต้นปี 2565

ส่วนการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2565 เบื้องต้นมีสัญญาณชัดเจนแล้วไม่ว่าอย่างไรก็ดีกว่าปี 2564 แน่นอน เพราะไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวของแต่ละด้านไม่เท่ากัน ในส่วนของภาคท่องเที่ยวเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นแล้วในปี 2565 แต่ยังเป็นภาคที่อ่อนไหวที่สุด อีกทั้งการบริโภคของประชาชนยังหดตัว

ดังนั้น รัฐบาลต้องออกมาตรการมากระตุ้นต่อไป ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะหาเงินมาอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท แต่ก็ต้องดูแลเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบการที่ยังติดกับดักหนี้กับธนาคารด้วย หากไม่ช่วยในส่วนนี้ ออกมากี่มาตรการคนที่ต้องการความช่วยเหลือก็เข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐแน่นอน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่รัฐต้องแก้ปัญหาในปี 2565 ต่อไป

 

ขณะที่ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองอีกภาพไว้ว่า สถานการณ์การเศรษฐกิจภาพรวมในปี 2565 มีแนวโน้มสดใสขึ้น เพราะช่วงไตรมาสที่ 4/2564 เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากการที่รัฐบาลคลายล็อกมาตรการต่างๆ ในประเทศ รวมถึงการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และทยอยผ่อนคลายการทำกิจการได้มากขึ้น

โดยปัจจัยบวก ส่วนใหญ่มาจากการที่รัฐผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ส่งผลให้ร้านอาหาร หรือธุรกิจด้านท่องเที่ยวและบริการกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่นิ่งมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการให้ร้านอาหารสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยิ่งเป็นตัวส่งเสริมให้ธุรกิจกลับมาเห็นการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน แม้ตัวเลขจีดีพีปี 2564 จะเติบโตเพียง 0.5-1.5% แต่ในปี 2565 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.0-4.5% สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก 2565 คาดเติบโตถึง 4-5%

แต่ก็มีปัจจัยลบต้องจับตามอง คือ การส่งออกปี 2565 จะขยายตัวเหลือ 3-5% จากปีนี้ขยายได้ 15% โดยโตจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง

แต่ปัญหาเดิมยังคงอยู่ ทั้งการขาดแคลนตู้สินค้า ค่าขนส่งราคาสูง ขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนวัตถุดิบเริ่มสูงขึ้น

ทั้งต้องติดตามประเด็นความไม่สงบและขัดแย้งของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจไทยจะโตได้แค่ไหนก็ยังต้องพึ่งพาภาคการส่งออกในการขับเคลื่อนธุรกิจ กำลังซื้อ การจ้างงาน และตัวเลขจีดีพี

แต่เสียงเตือนจากภาคเอกชนและนักวิชาการที่ตรงกัน คือ จากนี้ธุรกิจและประเทศหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงของโลกไปอีก กล่าวคือ อิทธิพลใหม่ๆ จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีมาแย่งชิงตลาด บทบาทของสินทรัพย์ดิจิตอล และการควบรวมข้ามธุรกิจข้ามประเทศของยักษ์ใหญ่จะมีให้เห็นต่อเนื่อง ซึ่งมาพร้อมกับการยกเครื่องทุกวงการครั้งใหญ่

อีกโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล “ประยุทธ์” ไม่ว่าจะคงทีมงานหน้าเก่าหรือทีมงานหน้าใหม่ ที่ต้องเร่งโชว์แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจได้แล้วว่าปี 2565 ประเทศไทยจะเดินไปทิศทางใด และเอาอย่างไรกับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป !!