‘สยามใหม่’ ของนิสิต จุฬาฯ หลังปฏิวัติ 2475 ในความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญ/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘สยามใหม่’ ของนิสิต จุฬาฯ หลังปฏิวัติ 2475

ในความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญ

 

ภายใต้ระบอบนี้ “พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างเดียว รัฐธรรมนูญทูนเทอดองค์พระมหากษัตริย์ไว้ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน…”

(อุดม เย็นฤดี, 2481)

 

เมื่อคณะราษฎรสามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยจากกบฏบวรเดช (2476) กบฏนายสิบ (2478) และกบฏ 2481 ให้มั่นคงได้แล้ว สำนักงานโฆษณาการจัดการประกวดเรียงความเพื่อสำรวจความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในสายตาของประชาชนรวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการปกครองให้เป็นที่นิยมแก่สังคม จึงมีการจัดประกวดการเขียนเรียงความให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่อันเป็นพลังสำคัญของประชาธิปไตยใน 2 ระดับ คือ ระดับมัธยม และอุดมศึกษาในปี 2481 เป็นครั้งแรก มีการจัดเงินรางวัลจำนวนหนึ่งและนำผลงานของผู้ชนะระดับดีเยี่ยมนี้ตีพิมพ์แจกประชาชนในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

หัวข้อในระดับอุดมศึกษาครั้งนั้น คือ “ในระยะขวบปีที่ล่วงไป (ตั้งแต่วันฉลองรัฐธรรมนูญที่ 10 ธันวามคม 2480 จนถึงบัดนี้) รัฐบาลได้ดำเนินกิจการก้าวหน้าไปแล้วอย่างไรบ้าง?” เป็นความเรียงไม่เกิน 30 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป

คณะกรรรมการตัดสินเรียงความประกอบด้วย นายเดือน บุนนาค หลวงอรรถสารประสิทธิ์ นายประเสริฐ ชูรัตน์ พระราชธรรมนิเทศ และนายไพโรจน์ ชัยนาม ในระดับอุดมศึกษามี ผู้ส่งประกวดจำนวน 16 ราย

ผลการพิจารณาให้นายอุดม เย็นฤดี นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัล

ระบอบประชาธิปไตยจะทำให้เราก้าวหน้า

อุดมเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยทำให้ “พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างเดียว รัฐธรรมนูญทูนเทอดองค์พระมหากษัตริย์ไว้ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน ฉะนั้น พระบรมราชจักรีวงศ์ย่อมสถิตสถาพรอยู่คู่กับประเทศสยาม ประชาราษฎร์จะได้อาศัยพึ่งพระบารมี มีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดกาล”

ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ในความคิดของอุดม นิสิตอักษรศาสตร์ ผู้มีความรู้ในทางกฎหมาย การเมืองและเศรษฐศาสตร์ตามหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น เขาย่อมตระหนักดีว่า ภาวะการปกครองตามระบอบเดิมที่ผู้ปกครองทรงพระเดชล้นพ้นเหนือประชาชนนั้นน่าจะมิได้นำมาซึ่งความสุขร่วมเย็นก็เป็นได้

เขาเขียนความเรียงบรรยายภาพถึงสยามใหม่จากผลงานรัฐบาลที่บริหารประเทศตามตามหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรประกาศไว้ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพและการศึกษา อันถือเป็นนโยบายสำคัญของคณะราษฎร ที่ไม่เคยมีผู้ปกครองคนใดเคยแถลงสัญญามั่นต่อประชาชน

สำหรับหลักเอกราชนั้น เขาบรรยายภาพสยามใหม่ว่า รัฐบาลดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีการบำรุงกองทัพให้เข้มแข็ง การจัดตั้งยุวชนทหารทั้งระดับนายทหารที่เปิดรับนิสิตจุฬาฯ ส่วนยุวชนนายสิบนั้นเปิดรับจากโรงเรียนเตรียมอุดมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยยุวชนทหารทั่วไปเปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนสามัญทั่วไป มีการตั้งหน่วยยุวนารีเปิดรับจากนักเรียนโรงเรียนพยาบาลศิริราช เขาให้ภาพต่อไปว่า ขณะนั้นมียุวชนทหารกว่าหมื่นคนแล้ว และมีการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนซ้อมรับมือภัยทางอากาศผ่านวิทยุ

อุดม เย็นฤดี และเรียงความของเขาเมื่อปี 2481

กิจกรรมเหล่านี้สร้างความกลมเกลียวทั้งทหาร ข้าราชการและประชาชน เขาเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้สยามใหม่มีความมั่นคงในเอกราชได้

หลักความปลอดภัยนั้น อุดมบรรยายภาพว่า รัฐบาลพยายามรักษาความสงบภายในให้สยามใหม่ด้วยการลดจำนวนคดีความและลดเวลามิให้ประชาชนเสียเวลาต้องมาขึ้นศาล ด้วยการตรากฎหมายให้ตำรวจภูธรมีอำนาจเปรียบเทียบปรับคดีลหุโทษหรือความผิดต่อภาษีที่มีโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาทให้สิ้นสุดลงที่สถานีตำรวจแทนประชาชนต้องขึ้นศาล รวมทั้งรัฐบาลขยายการสร้างถนนเป็นโครงการทั่วประเทศอำนวยประโยชน์ให้ประชาชนในการเดินทาง

รัฐบาลขยายการตั้งเทศบาลมากขึ้น เพื่อให้เทศบาลอำนวยความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชน มีการปรับปรุงราชทัณฑ์ที่คำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียม มีการปรับพฤติกรรมของนักโทษ มีการตั้งโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่ต้องโทษให้มีอนาคตต่อไป รวมทั้งการสงเคราะห์นักโทษที่พ้นโทษไปแล้วด้วยเพื่อเป็นการป้องกันการหวนกลับมาเป็นโจรผู้ร้ายอีก

หลักเศรษฐกิจนั้น เขาเห็นว่า รัฐบาลดำเนินการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงงานเชื้อเพลิง โรงงานกระดาษ การบำรุงพันธุ์สัตว์ การส่งเสริมการเกษตร การตั้งสถานีบำรุงพันธุ์พืช บำรุงพันธุ์สัตว์ การส่งเสริมให้ปลูกฝ้าย การสหกรณ์ การชลประทาน การส่งเสริมการศึกษาอาชีวะ และการสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงภายหลังการปฏิวัติ 2475

อุดมเห็นว่า รัฐบาลลงทุนขนานใหญ่สำหรับชาติด้วยการสร้างถนน การไฟฟ้า สนามบินพาณิชย์ การไปรษณีย์วิทยุกระจายเสียง อุตสาหกรรมฝ้าย อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมในครอบครัว การผลิตปอ การทอผ้า การค้าข้าว มีการลดภาษีช่วยเหลือกสิกรผู้ยากจน เขาชื่นชมว่า นโยบายเหล่านี้ของรัฐบาลคือ สมัยแห่งการทะนุบำรุงเศรษฐกิจของชาติ ทั้งกสิกรรม อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม

หลักเสมอภาพ และหลักเสรีภาพ เขาเห็นว่า รัฐธรรมนูญประกันเรื่องดังกล่าวให้ประชาชนอย่างมั่นคง อีกทั้งเมื่อรัฐบาลปราบกบฏบวรเดช (2476) จนระบอบมั่นคงแล้ว ต่อมา รัฐบาลได้ยกเลิก (2481) พ.ร.บ.จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญที่มีมาแต่กบฏบวรเดช รวมทั้งบรรยากาศของเสรีภาพของการเลือกตั้งเสรี ทำให้ประชาชนชื่นชมรัฐบาลเป็นอย่างมาก

สำหรับหลักการศึกษานั้น เขาเห็นว่า รัฐบาลตั้งโรงเรียนเตรียมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) โรงเรียนเตรียม มธก. รวมทั้งการส่งเสริมการพละศึกษาให้กับประชาชนด้วยการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติขึ้น อีกทั้งมีการเผยแพร่ความรู้อย่างกว้างขวางด้วยการปาฐกถาทางวิทยุให้ประชาชนเพิ่มความรู้สม่ำเสมอ เป็นต้น

อาคารทรงโดมยอดพานเทิดรัฐธรรมนูญในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2481 และประวัตินายอุดม เย็นฤดี

ส่งผ่านฝันสู่คนรุ่นต่อไป

สําหรับประวัติของนายอุดม เย็นฤดี (2461-2550) เป็นคนสำเหร่ เชื้อสายจีนไหหลำ สำเร็จการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต และอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบชิงทุนไปเรียนที่อังกฤษในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมาเมืองไทยเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์

ต่อมา ลาออกเป็นนักข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ ดังที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บันทึกไว้ มีว่า เขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็นผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์

เขาเคยทำงานเป็นเลขานุการสมาคมหอการค้าจีน เป็นเลขานุการของตันซิวเม้ง

เขารู้เห็นความขัดแย้งของคนจีนในไทยฝ่ายนิยมญี่ปุ่น ฝ่ายกลางและฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เขาทราบเรื่องราวการค้าไทยและญี่ปุ่นในช่วงสงครามเป็นอย่างดีและเป็นประจักษ์พยานในความตายของตันซิวเม้งในช่วงเวลานั้นด้วย

เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ฝรั่งนักข่าวต่างประเทศที่มาประจำไทยล้วนชอบพออุดม จึงชักชวนเขาให้ลงทุนตั้งบริษัทขุดเหมืองแร่ขึ้นทางภาคใต้ของไทย โดยขอให้อุดมเป็นประธานบริษัท

กรีฑาสถานแห่งชาติ

ต่อมาลูกของเพื่อนชาวต่างชาติ ชอบสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และวิทยาสารปริทัศน์ ที่สุลักษณ์เป็นบรรณาธิการ จึงให้เงินช่วยเหลือจัดค่ายอบรมเยาวชนเพื่อช่วยเหลือสังคม สุลักษณ์จึงส่งเยาวชนไปช่วยงานค่ายอบรมหลายคน

รวมทั้งโกมล คีมทอง ซึ่งขณะนั้นเขาเรียนอยู่ปีสุดท้ายที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยโกมลเป็นคนกว้างขวาง และเรียนดี มีคนชักชวนโกมลไปทำงานหลายแห่ง แต่โกมลต้องการตั้งโรงเรียนชุมชน และอยากอุทิศตนเป็นครูในชนบท เมื่อโกมลได้รับปริญญาบัตรแล้ว นายอุดมอุดหนุนความคิดของโกมลอย่างเต็มที่ และโรงเรียนที่โกมลตั้งขึ้นนั้นเป็นการบุกเบิกที่สำคัญอย่างยิ่งทางด้านการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นในบริเวณดังกล่าวเป็นสมรภูมิที่ต่อสู้กันระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายคอมมูนิสต์ โกมลถูกสงสัยจากทั้งสองฝ่าย จึงถูกฆ่าตายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2514

อุดมรับเป็นเจ้าภาพงานศพให้โกมลและออกเงินค่าพิมพ์หนังสืองานศพเป็นจำนวนมากเป็นหนังสือที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก หนังสือเล่มนี้ถูกขายเพื่อนำเงินมาตั้งมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งมีบทบาททางด้านอุดหนุนอุดมคติของคนหนุ่ม-สาวและการศึกษานอกระบบ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ (ส.ศิวรักษ์, 2550)

นี่คือ เรื่องราวของเยาวรุ่นในช่วงการปฏิวัติ 2475 ที่ฝันถึงสังคมใหม่ที่จะเกิดขึ้น แม้นมันยังมิอาจบรรลุได้อย่างที่เขาเคยฝันในสมัยคณะราษฎร แต่เขายังคงช่วยเหลือคนหนุ่มสาวอย่างโกมล คีมทอง สานฝันถึงสังคมใหม่และช่วยหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์คนหนุ่ม-สาวที่มีความฝันต่อไป เขาคือ อุดม เย็นฤดี

นิสิตสาวในเครื่องแบบยุวนารี และนิสิต-นักศึกษาในงานบอลประเพณีในชวงทศวรรษ 2480