จากปัญหาช้างป่า สู่ชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่

ป่าและเมือง ประเด็นใหญ่ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมากในพื้นที่รอยต่อ ทั้งสัตว์ป่าและคนในชุมชนต้องใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดระแวงจากการแย่งแหล่งอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน บางคนมองว่าสาเหตุมาจากการที่ชุมชนเมืองไปบุกรุกพื้นที่ป่า บ้างก็ว่าสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มาสร้างความเดือนร้อนให้กับชุมชน โดยเฉพาะ “ช้างป่า” ที่มักลงมาหาอาหารพร้อมกับสร้างความตื่นเต้นให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ

บ้านคลองตาอิน เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวสวนทุเรียน และทำการเกษตรอื่น ๆ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านมีความเรียบง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของชาวบ้านมาอย่างยาวนานคือ ช้างป่า โดยพบว่า ช้างป่าได้ลงมาหากินในพื้นที่สวนผลไม้ของชาวบ้าน แต่ละครั้งพบช้างป่าประมาณ 5 – 10 ตัว และจะมีความถี่ของช้างป่าเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากช้างลงมาหาแหล่งน้ำในหมู่บ้าน จนกระทั่งในปัจจุบัน ช้างป่าได้ลงมาพื้นที่บ้านคลองตาอินเพิ่มมากขึ้น และช้างป่าบางตัวก็ไม่เปลี่ยนเส้นทางหากินมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน พบว่า ช้างป่าที่วนเวียนอยู่รอบหมู่บ้านคลองตาอินมีประมาณ 30 ตัว ทำให้เรื่องความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข กรมการพัฒนาชุมชนจึงเข้ามามีบทบาทเรื่องการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เพื่อช่วยให้ชาวบ้านอยู่กับช้างป่าอย่างสมดุล โดยยึดหลักการ เข้าใจเข้าถึง พัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยคือ เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวชุมชนซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเลื่อมล้ำของสังคมไทย ซึ่งได้จับมือ Local Alike เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมออกเดินทางสู่เส้นทางใหม่ของการท่องเที่ยวชุมชน “คลองตาอิน โมเดล” ชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวชมวิถีชุมชนและช้างป่า จังหวัดจันทบุรี ซึ่งธุรกิจการท่องเที่ยว ถือว่ามีบทบาทสำคัญ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง กรมการพัฒนาชุมชน ผลักดันให้ทุกจังหวัดดึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่ว่าจะในแง่ของภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ออกมาเป็นจุดขาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เป็นทางเลือกในการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเป็นเรื่องราวของกลุ่มจังหวัด ทำให้พี่น้องชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัว ผ่านโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 3,680 ชุมชน โดยสร้างชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและขายสินค้าในชุมชนจากการท่องเที่ยว ใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม

มาสร้างสรรค์มูลค่าเช่นเดียวกับ การดำเนินงาน “หมู่บ้านคชานุรักษ์” ภายใต้โครงการพัชสุธาคชานุรักษ์ ที่มุ่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่าพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วยจังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และสระแก้ว ด้วยการสร้างองค์ความรู้ เสริมทักษะ ใช้พื้นที่หมู่บ้านเป็นศูนย์กลางการบูรณาการแก้ไขปัญหา การสร้างผู้นำ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ โดยแต่ละพื้นที่ได้ขับเคลื่อนป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ทำสิ่งกีดขวาง รวมถึงฟื้นฟูความสมบูรณ์ของป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งปลูกพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่ง (บริเวณที่มีแอ่งดินเค็มหรือบริเวณที่มีดินโป่ง ซึ่งโป่งแต่ละแห่งมักจะมีแร่ธาตุแต่ละชนิดต่างกัน แร่ธาตุเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นต่อร่างกายและการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า) ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ เพื่อให้คนและช้างป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ภายใต้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ

จากปัญหาช้างป่าสู่ชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่ กลายเป็นความพิเศษของเส้นทางท่องเที่ยว และวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ บ้านคลองตาอิน หมู่ที่ 9 ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชกูฎ จังหวัดจันทบุรี ที่มีความโดดเด่นในเชิงนิเวศธรรมชาติ มีคลองตาอินและเขื่อนไร่ขจรวงศ์ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกผลไม้ส่งออกต่างประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ เกิดการรวมกลุ่มกันพัฒนาวัตถุดิบในชุมชนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ สามารถสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศธรรมชาติในการศึกษาธรรมชาติตามรอยเท้าช้าง กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ Local Alike ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ทั้งในแบบ One-Day Trip หรือแพคเกจทัวร์แบบค้างคืนได้มองเห็นศักยภาพของชุมชนบ้านคลองตาอินที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างมีเอกลักษณ์

สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับการได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ผ่านการท่องเที่ยว จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ชุมชน และเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาล จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)