นายกฯ ตั้งเป้าใช้บิ๊กดาต้า-พัฒนามนุษย์ พลิกโฉมประเทศ แต่สตาร์ทอัพไทยน้อยกว่าเพื่อนบ้าน

“ประยุทธ์” เผย ศบศ. ถกมาตรการดึงดูดนักลงทุน แก้กฎหมายล้าสมัย ย้ำพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ – บิ๊กดาต้า ตั้งเป้าพลิกโฉมประเทศอยู่ในโลกไร้พรมแดน แต่สภาดิจิทัลฯ เผย สตาร์ตอัพไทยน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ส่วนที่กำลังโตย้ายไปจดทะเบียนต่างชาติ 80% ถูกเสนอเงื่อนไขให้ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ 

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบศ.)ครั้งที่ 5/2564 ว่า วันนี้เป็นการประชุม ศบศ.เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ซึ่งเราต้องเร่งพัฒนา ซอฟท์พาวเวอร์ หรือบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และมาตรการแรงดึงดูดที่จะทำให้คนมาลงทุนในประเทศไทย คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา

แม้กระทั่งในเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์ก็มีการหารือทุกอัน ซึ่งปัญหาหลักคือ กฎระเบียบเดิมๆ ของเรา หรือกฎหมายที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไข ไม่อย่างนั้นการลงทุนต่างๆก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หลายกฎหมายมีความล้าสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่เรามีศักยภาพมากกว่า ก็ขอฝากไปยังประชาชนให้ทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลก็จะพยายามทำอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องการพลิกโฉมประเทศ ฉะนั้นจะต้องทำทุกด้าน เราอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว เนื่องจากโลกไร้พรมแดน และมีหลายฝ่ายในโลกนี้ ก็ต้องแสวงหาประโยชน์จากทุกอันให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นเราก็จะมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะมาพัฒนาประเทศ ที่จะมาดูแลผู้มีรายได้น้อย หรือมาลงทุนในด้านอื่นๆ ซึ่งศักยภาพของเรามีเยอะมาก วันนี้ก็มีการพูดถึงการองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในระบบ Cloud Computing และ Big Data ซึ่งมีการลงทุนและวิจัยหลายอย่างในประเทศไทย เราจะต้องหามาตรการที่จะลดปัญหาอุปสรรค ระหว่างกันให้มากที่สุด

ซึ่งจากการประชุมร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน ธุรกิจข้ามชาติ เขายินดีลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น หากเราปรับอัตราและมาตรการต่างๆให้เหมาะสม ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากพวกเรา และเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตรงนี้คือเรื่องความก้าวหน้าของประเทศไทย ที่จะพลิกโฉมประเทศไทยให้เร็วที่สุด และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ถึงแม้ในช่วงนี้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดก็ตาม แม้แต่เรื่องปัญหาแรงงานการตกงาน การจ้างงาน ตัวเลขมีชี้ชัดออกมา โดยเราบริหารข้อมูลโดยมี Big Data เข้ามาช่วย รวมถึงการบริหารงานในภาครัฐเพื่อลดเวลา ลดภาระประชาชน ของผู้ประกอบการให้มากที่สุด โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม นั้นคือการปฏิรูประบบราชการ

สตาร์ทอัพไทยน้อยกว่าเพื่อนบ้าน แถมเกินครึ่งจดทะเบียนตปท.

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 09.30 น. ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งทางสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยรายงานว่า เมื่อเปรียบเทียบ 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในปี 2558 และ 2563

พบว่า ไทยมีการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีจากต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 เพิ่มขึ้น 14% แต่ปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 5%

ขณะที่อินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2558 เพิ่มขึ้น 36% และปี 2563 เพิ่มขึ้น 70% ส่วนสิงคโปร์ ปี 2558 เพิ่มขึ้น 33% และ ปี 2563 เพิ่มขึ้น 14%

นอกจากนี้ยังระบุว่า มีสตาร์ทอัพไทยประมาณ 1,000 ราย ซึ่งน้อยกว่าเพื่อนบ้าน โดยข้อมูลจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ประเมินไว้ที่ 170 ราย ในขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติประเมินไว้ที่ 1,538 ราย

ส่วนสิงคโปร์มีสตาร์ทอัพประมาณ 55,000 ราย ตามการประเมินของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ของสิงคโปร์

สภาดิจิทัลฯยังรายงานด้วยว่า สตาร์ทอัพไทยที่กำลังโตย้ายไปจดทะเบียนต่างชาติ โดย 80% ของสตาร์ทอัพไทยที่ “พร้อมโต” ถูกเสนอเงื่อนไขให้ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์

ทางสภาดิจิทัลฯเสนอว่า สิ่งที่จะทำให้ไทยมีการลงทุนเพิ่มและสตาร์ทอัพย้ายกลับไทย มากสุด 70% คือ กฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การยกเว้นภาษีลงทุนในสตาร์ทอัพ รองลงมา 25% คือทักษะด้านดิจิทัล และ 5% คือ อื่น ๆ

นอกจากนี้ยังรายงานอัตราภาษีลงทุนในสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเปรียบเทียบของไทยกับอีก 5 ประเทศ และอีก 1 เขตปกครองพิเศษ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

โดยไทยคิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา 0-35% และนิติบุคคล 15% ขณะที่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย ไม่คิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนอินโดนีเซียคิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา 5% นิติบุคคล 5% ฟิลิปปินส์คิดอัตราภาษีสำหรับบุคลธรรมดา 15% นิติบุคคล 5% และ เวียดนามคิดอัตราภาษีเท่ากันทั้งสองกลุ่มที่ 20%

ทั้งนี้ ปี 2569 ไทยตั้งเป้าเพิ่มสตาร์ทอัพจาก 1,000 ราย เป็น 10,000 ราย ซึ่งจะเกิดการจ้างงานเพิ่มจาก 40,000 ราย เป็น 400,000 ราย

ในแง่สัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มจาก 4% เป็น 20% โดยใช้เงินลงทุนเพิ่ม (สะสม 5 ปี) จาก 1 แสนล้านบาท เป็น 4.2 แสนล้านบาท โดยภาษีที่ได้จากเงินเข้าประเทศจะทดแทนภาษีลงทุนในสตาร์ทอัพ