ลุงป้อม หนุนปลูกป่า อนุรักษ์ป่าเศรษฐกิจ ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ค.ศ.2065 เพื่อประโยชน์ประชาชน

ลุงป้อม หนุน ปลูกป่า อนุรักษ์ป่าเศรษฐกิจ ตั้งเป้า ลดก๊าซเรือนกระจกเป็น ศูนย์ ค.ศ.2065 เพื่อประโยชน์ประชาชน

วันที่ 3 พ.ย.64 เวลา 09.00 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

​​พลเอก ประวิตร กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย กำหนดเป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก มีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่พื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย

ซึ่งกำหนดเป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ที่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ณ ปี พ.ศ. 2580 โดยการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมีบทบาทสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ประเทศไทยแถลงการณ์ไว้ที่การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

​​โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนและบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตจากมาตรการการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 30 คน ทำหน้าที่กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์กลไกหรือมาตรการส่งเสริมการปลูกป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท

ในการจัดสรรพื้นที่ปลูก อนุรักษ์ และฟื้นฟู รวมทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ​​เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัด และกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศไทย ร่วมเตรียมการจัดประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference : TCAC) ในเดือนมิถุนายน 2565 มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพื้นที่ และร่วมกล่าวถ้อยแถลงคำมั่นสัญญาร่วมกันในลักษณะแถลงการณ์ร่วม/เป้าหมายการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมทั้งนำเสนอผลงานหรือโครงการที่มีความโดดเด่นในระดับจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวคิดการดำเนินการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065