เปิดหู | 12th Street Rag บทเพลงจากร้านจำนำสู่ Spongebob

อัษฎา อาทรไผท

ผมเชื่อว่าผู้คนส่วนมากไม่รู้จักเพลง 12th Street Rag ส่วน Spongebob อนิเมชั่นชื่อดังของอเมริกา ที่มีตัวเอกเป็นเจ้าฟองน้ำสีเหลืองหน้าตายียวนนั้น ผมมั่นใจว่ามีคนรู้จักมากกว่าเพลงๆ นี้แน่ๆ แต่ก่อนจะกล่าวถึงเพลงสไตล์ Ragtime สุดอมตะเพลงนี้ ผมขอเล่าถึงที่มาที่ไปของสไตล์เพลงนี้ก่อนครับ

ดนตรีแนว Ragtime ถือกำเนิดขึ้นมาราว ค.ศ. 1890’s โดยชาวอาฟริกัน อเมริกัน จากแถบเมือง St. Louise มลรัฐ Missouri ดนตรีแนวนี้ในสมัยนั้นถือเป็นท่วงทำนองที่แปลกใหม่ ใครได้ยินต้องขยับตัวตาม เรียกว่าเป็นแดนซ์มิวสิคของยุคนั้น ที่แหวกกฏเกณฑ์การเล่นดนตรี จนผู้เคร่งศาสนาบางคนหาว่าเป็นดนตรีปีศาจก็มี

ถ้าจะให้เทียบให้เข้าใจง่ายๆ ดนตรี Ragtime ในสมัยแรกมี ก็เหมือนกับดนตรี Hip Hop ในสมัยนี้ ที่ท่วงทำนองมีความเร่าร้อน จนใครที่ได้ยินอดใจไม่เต้นตามไม่ได้ และเหตุผลหลักๆ ของการกระตุกต่อมขยับก็คือเทคนิคการเล่นไม่ลงจังหวะ หรือที่เรียกว่า syncopation ที่ทำได้โดยการเล่นโน๊ตให้เร็วกว่าที่ควรหรือช้ากว่าที่ควรลงตามจังหวะ ก่อให้เกิดสิ่งที่ชาวดนตรีเรียกกันว่า สวิง ซึ่งช่วยสร้างสเน่ห์ให้กับดนตรีแนวนี้ และเจ้าการสวิงนี้ได้พัฒนาไปเป็นดนตรีแจ๊สและบลูส์ในเวลาต่อมา เรียกว่าถ้าไม่มี Ragtime เราก็คงไม่มีดนตรีอย่างที่ได้ยินกันทุกวันนี้ฟังแน่ๆ ครับ

ดนตรี Ragtime ถือกำเนิดในช่วงที่ไม่มีเครื่องบันทึกเสียง การจะถ่ายทอดบทเพลง ต้องทำผ่านการบรรเลงให้ฟังเท่านั้น เพลงต่างๆ จึงหายไปไม่มีเก็บไว้ จนมาถึงช่วงปี ค.ศ. 1899-1902 ที่ Scott Joplin ครูเพลง Ragtime ที่เขายกย่องให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Mozart ของโลกดนตรีคลาสสิค ได้ประพันธ์เพลง Maple Leaf Rag และ The Entertainer ออกมาเผยแพร่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนคนรู้จักกันดีในระดับเมนสตรีม ซึ่งท่านผู้นี้โด่งดังอยู่แค่ในช่วงที่ออกผลงาน แล้วชื่อเสียงก็หายไปตามกาลเวลา จนกระทั้งมีการนำผลงานของเขาออกมาตีแผ่อีกครั้งในยุค 70’s จนเป็นที่โด่งดังค้างฟ้าไปทั่วโลกจนปัจจุบัน

ผู้คนส่วนมากในปัจจุบันจะไม่ได้รู้สึกว่าเพลง Ragtime เป็นดนตรีแดนซ์มิวสิคแม้แต่น้อย แต่จะมีการเชื่อมโยงดนตรีแนวนี้กับภาพยนต์ขาวดำตลกๆ เช่น Charlie Chaplin หรือใกล้เคียง ที่นำเสนอเรื่องราวขำขัน ไปพร้อมๆ กับเปิดเสียงเพลงแนวนี้คลอไป

มาถึงเรื่องของ 12th Street Rag กันบ้าน เพลงนี้ที่บ้านเราไม่ใช่เพลงฮิต และคนไม่รู้จักกันนัก ถ้าไม่ใช่คนที่ฝักใฝ่ดนตรีแนวนี้จริงๆ แต่ทราบไหมว่าเพลงนี้ได้เดินทางมาไกลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 (ตรงกับปีสุดท้ายของรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และยังมีการใช้งานจวบจนทุกวันนี้ มีความอยู่ยงคงกะพันยาวนานกว่าเพลงฮิตสมัยใหม่เสียอีก

12th Street Rag ถูกแต่งขึ้นโดย Euday L. Bowman ตั้งแต่ปี 1898 และออกตีพิมพ์เป็นโน็ตเพลงในปี 1914 โดยมีที่มาแปลกประหลาดจากการที่เพื่อนของเขา ตัดสินใจเปิดโรงรับจำนำขึ้นบนถนนที่ 12 ในเมือง Kansas ซึ่งเขาได้บอกกับเพื่อนของเขาว่า ถ้าเพื่อนรวยจากโรงรับจำนำนี้ได้ เขาก็ขอรวยจากการแต่งเพลงชื่อเดียวกับถนนเส้นนี้ได้เช่นกัน!

เขาใช้เวลายาวนานในการพยายามขายเพลงนี้ให้สำนักพิมพ์นำไปตีพิมพ์เป็นโน๊ตเพลง ไม่มีใครเห็นคุณค่าของเพลงนี้เลย แต่ในที่สุดก็ขายได้ โดยผู้ตีพิมพ์ขอนำไปทำให้เล่นง่ายขึ้นสักหน่อย ซึ่งไปๆ มาๆ ในปี ค.ศ. 1927 เพลงก็กลายเป็นเพลงฮิต ระดับที่ Louise Armstrong ราชาเพลงแจ๊สสมัยนั้นนำไปบันทึกเสียงเลยทีเดียว

เมื่อเวลาผ่านไป แม้ผู้แต่งจะล้มหายตายจากไปแล้ว แต่เพลง 12th Street เพลงนี้ ยังถูกนำไปบันทึกเสียงอยู่ตลอด และได้ปรากฏอยู่ตามรายการโทรทัศน์ และภาพยนต์ต่างๆ เรื่อยมา การนำเสนอมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เปียโนแบบดั้งเดิม อูคูเลเล่ แบนโจ กีตาร์ หรือเล่นแบบเต็มวงก็มี และมาสร้างภาพจำครั้งใหญ่ จากการมาเป็นดนตรีแบ็คกราวด์ในอนิเมชั่นสุดฮิต SpongeBob SquarePants ในปี 1999 เรื่อยมาจนจบซีรีย์

เพลง 12th Street Rag เพลงนี้ เป็นเพลงที่คนเล่นก็เล่นสนุก เพราะมีการใช้โน๊ตไม่มาก วนไปวนมา แต่เล่นเร็วท้าทายความสามารถ ส่วนผู้ฟังได้ยินก็มีความรู้สึกสนุกสนาน จากอาณุภาพของ syncopation ที่แม้จะไม่ทะลุต่อมแดนซ์ของคนในปัจจุบัน แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราย้อนเวลา แล้วนำเพลงนี้ไปเปิดให้กระหึ่มกรุงเมื่อสักร้อยกว่าปีที่แล้ว ผู้คนคงพากันออกมาดิ้นกันอย่างมีความสุข

หากสนใจอยากลองฟัง ผมขอแนะนำไว้หลายๆ เวอร์ชั่น แบบสนุกสนาน ฟังของ Roy Smeck หรือ Kid Ory แบบหรูหรามาเนิบๆ ฟังของ Louise Armstrong  แบบโปร่งโล่งสบายมีเนื้อร้องฟัง The Bad Mouse Orchestra แบบสไลด์กีตาร์ฟังของ SpongeBob และยังมีอีกหลากหลายเวอร์ชั่นให้คุณค้นหา ไม่แน่เพลงนี้อาจทำให้คุณหลงรักดนตรีย้อนยุค ที่เขาเรียกมันว่า Ragtime นี้ก็ได้