ชะตากรรม ‘รุ้ง ปนัสยา’ กับบทบาท ‘แอมเนสตี้ฯ’ จดหมาย ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ‘ดร.เสกสกล’ ไม่พอใจสิ่งนี้/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ชะตากรรม ‘รุ้ง ปนัสยา’

กับบทบาท ‘แอมเนสตี้ฯ’

จดหมาย ‘เขียน เปลี่ยน โลก’

‘ดร.เสกสกล’ ไม่พอใจสิ่งนี้

 

สถานการณ์ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองมาถึงจุดที่แกนนำราษฎรและแนวร่วม

เผชิญข้อกล่าวหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อเนื่อง

ทั้งนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ทนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน

ทั้งหมดถูกดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ส่งเข้าคุมขังในเรือนจำ ไม่ได้รับสิทธิออกมาต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น

เพนกวิน-ไผ่ ถูกจองจำในคุกนานเกิน 100 วันแล้วจากการคุมขังรอบใหม่

ล่าสุดถึงคิวของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์

เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดสอบคำให้การเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

จากกรณีระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2563 ได้โพสต์ข้อความลงเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเฟซบุ๊กส่วนตัว เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมสวมชุดครอปท็อป เดินห้างสยามพารากอน

ศาลพิจารณามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดี ด้วยเหตุผลว่า หลังจำเลยถูกฟ้องคดีนี้แล้วได้เคยทำความผิดตามลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องอีก เกรงถ้าปล่อยไปจะไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก จึงให้ยกคำร้อง

คำสั่งดังกล่าวทำให้รุ้งต้องกลับเข้าไปใช้ชีวิตในทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้ง

 

การเดินหน้าเอาผิดแกนนำราษฎรด้วยมาตรา 112 ยังดำเนินต่อเนื่อง

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำสั่งตามที่อัยการยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวรุ้ง ปนัสยา, ไมค์ ภาณุพงศ์ และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์

คดีความผิดตามมาตรา 112 กรณีชุมนุมปักหมุดสนามหลวง 19-20 กันยายน 2563

แอมมี่เดินทางมาฟังคำสั่งศาลตามนัด ขณะที่รุ้งถูกเบิกตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางมายังศาล ส่วนไมค์ฟังคำสั่งผ่านระบบจอภาพทางไกลจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ศาลพิเคราะห์แล้วที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาเห็นว่า ในทางไต่สวน น.ส.ปนัสยาประกาศเชิญชวนให้ออกมาชุมนุมแต่งกายชุดดำวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เป็นการกระทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบัน ผิดเงื่อนไขคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา

จึงให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของ น.ส.ปนัสยาและออกหมายขังในคดี

ส่วนนายภาณุพงศ์และนายไชยอมร แม้ฟังได้ว่าร่วมชุมนุมด้วย แต่ไม่มีพฤติกรรมร้ายแรงจนถึงขนาดที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว

แต่เห็นสมควรกำชับนายไชยอมรให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมกำชับผู้กำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น

เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวอันจะก่อให้เกิดความเสียหาย จึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยห้ามมิให้ออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 16.00-05.00 น. เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล หรือเหตุอื่นเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล

พร้อมให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ให้ถอนประกันและขังไว้ในคดีนี้

สำหรับนายภาณุพงศ์ หากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีอื่น ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเช่นเดียวกับนายไชยอมร

ก่อนศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายภาณุพงศ์ และนายไชยอมร

 

ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญา รัชดาฯ มีคำสั่งที่นายภาณุพงศ์ จาดนอก ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

กรณีระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคม 2563 ได้โพสต์ข้อความลักษณะหมิ่นสถาบัน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่ไม่ปล่อยชั่วคราวเรื่อยมาเพราะเกรงจะก่อเหตุร้ายอีก กรณีที่เห็นว่าจำเลยถูกขังมานานพอสมควร จนรู้สึกระมัดระวังตัวต่อการจะก่อเหตุร้ายแล้ว

จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลย อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

โดยกำหนดเงื่อนไข 1.ห้ามกระทำการเสื่อมเสียต่อสถาบัน 2.อยู่ในเคหสถานตลอดเวลา 3.ติดกำไลอีเอ็ม 4.ให้ตั้งผู้กำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไมค์จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ แต่ยังถูกหมายขังในสำนวนอื่นของศาลอาญาอีกไม่ต่ำกว่า 3 สำนวน

ทำให้ต้องถูกคุมขังต่อไปตามหมายอื่น

 

บทบาทการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของรุ้ง ปนัสยา ทั้งบนเวทีปราศรัยและในกระบวนการยุติธรรม เป็นบทพิสูจน์ชัดถึงความแข็งแกร่ง

แม้ต้องไร้อิสรภาพ ถูกจองจำ แต่การยืนหยัดต่อสู้เพื่อไปให้จุดหมายที่วางไว้ไม่เคยสั่นคลอน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.คนเสื้อแดง และแกนนำเครือข่ายขับไล่ประยุทธ์ หรือ อ.ห.ต. โพสต์เฟซบุ๊กมองผ่านบทบาทการเคลื่อนไหวของรุ้ง ปนัสยา ต่อการออกมาเรียกร้องว่า

“จากการได้พูดคุยกับรุ้ง ปนัสยา ผมไม่เห็นความก้าวร้าวในตัวเด็กสาวคนนี้ รุ้งเป็นคนอ่อนหวานและน่าจะอ่อนไหวบางเวลา”

การต่อสู้ของรุ้ง ทั้งบนเวที ในกระบวนการยุติธรรมและช่วงเวลากดดันต่างๆ โดยเฉพาะภาพของรุ้งนอนให้เจ้าหน้าที่อุ้มตัวไป

รวมถึงรุ้งให้สัมภาษณ์คู่กับพี่สาวใจ ทำให้รู้สึกจุก เพราะรุ้งเป็นน้องเล็กของบ้าน เป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเหมือนคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน

รุ้งมีฝันมีพลังของตัวเองและมีความมุ่งมั่นที่จะทำตามฝัน ทั่วโลกมีคนหนุ่ม-สาวเหล่านี้ แต่ประเทศนี้นอกจากไม่รับฟังแล้วยังจับขังและบังคับให้ดับฝัน

การต่อสู้ของเด็กๆ อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

แต่การรักษาอำนาจของผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกครั้งที่ก่อการอยุติธรรมย่อมมีค่าใช้จ่าย สำหรับผู้มีอำนาจคือความเสียหาย

“ที่ผมได้ยินมาคือน้องๆ อาจถูกขังยาว ถ้าเป็นจริงจะไม่เกิดผลดีกับใครฝ่ายใดเลย ยืนยันวิธีการแบบนี้แก้ปัญหาไม่จบ ขังได้ก็แค่ตัวไม่กี่คน แต่ความคิดคนอีกทั่วประเทศจะเอาอะไรขังไว้”

ตั้งหลักกันใหม่ดีๆ เงื่อนไขแบบแอมมี่ หรือจะเพิ่มอะไรอีกบ้าง ถือว่าพบกันครึ่งทางดีกว่าหรือไม่

“นายกฯ ควรคิดเอาเด็กออกจากคุกบ้าง นี่ไม่ใช่เรื่องล้มล้างใดๆ แต่ผมสงสารเด็ก ไม่อยากให้พวกเขาล้มลง ทั้งที่ยังมีศักยภาพนำพาสังคมได้อีกไกล ปล่อยเด็กออกจากคุกเถอะ” นายณัฐวุฒิระบุ

 

สถานการณ์แกนนำกลุ่มราษฎรและม็อบคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับการรุกไล่เอาผิดอย่างไม่เป็นธรรมจากฝ่ายรัฐและผู้มีอำนาจ

ทำให้องค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ต้องออกมาร่วมปกป้อง

ที่ผ่านมาบทบาทของแอมเนสตี้ฯ ทำหน้าที่รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและความไม่เป็นธรรมในสังคม

นั่นทำให้อีกมุมหนึ่งแอมเนสตี้ฯ ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

กรณีแกนนำราษฎรและการชุมนุมเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ประชาชนคนรุ่นใหม่

ในสายตาของฝ่ายอำนาจ แอมเนสตี้ฯ ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งถูกกล่าวอ้างเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสนับสนุนชี้นำการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่

ล่าสุดจากกรณี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในประเทศไทย และทั่วโลก เปิดตัว Write for Rights แคมเปญเพื่อการ “เขียน เปลี่ยน โลก”

ด้วยการเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วทุกมุมโลก เขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง

นอกจากส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิ ยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ

ปีนี้เคสของ “รุ้ง ปนัสยา” จากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ด้วย

 

แน่นอนว่าแคมเปญนี้ของแอมเนสตี้ฯ ย่อมนำมาซึ่งความไม่สบอารมณ์ของฝ่ายอำนาจในไทย

เห็นได้ชัดจากการตอบโต้ของนายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ ดร.เสกสกล หรือแรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ด้วยการเตรียมจัดแคมเปญรวบรวมคนไทย 1 ล้านรายชื่อ เสนอขับไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ไม่ให้แทรกแซงประเทศไทย

นายเสกสกลกล่าวด้วยว่า องค์กรแอมเนสตี้ฯ อุปโลกน์ตัวเองเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่การกระทำเข้าข่ายสนับสนุนกลุ่มบุคคลละเมิดอำนาจศาลและประชาชนส่วนใหญ่

“ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยและคนไทยควรพิจารณาขับไล่องค์กรแห่งนี้พ้นผืนแผ่นดินไทย เหมือนหลายๆ ประเทศ เพราะการเคลื่อนไหวเป็นการทำลายประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายเสกสกลกล่าว

 

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เพียงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ คนอื่นๆ อีกมากมายก็ได้ยินมาเช่นกัน

ว่านักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้อาจถูก “ขังยาว” ในระหว่างการต่อสู้คดีชั้นศาล เนื่องจากทุกครั้งที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะไม่ได้รับอนุญาต หรือยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

การรณรงค์ “เขียน เปลี่ยน โลก” ของแอมเนสตี้ฯ ผ่านจดหมายนับล้านฉบับ จึงเป็นวิธีหนึ่งในการสื่อข้อความไปทั่วโลก ว่าประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบ

ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม