ตลาดมือถือสะท้าน ‘ทรู’ ผนึก ‘ดีแทค’ ขึ้นแท่น ‘ยักษ์เทคคอมปานี’ แซงหน้า ‘เอไอเอส’ – ‘วัดใจ กสทช.’/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ตลาดมือถือสะท้าน

‘ทรู’ ผนึก ‘ดีแทค’

ขึ้นแท่น ‘ยักษ์เทคคอมปานี’

แซงหน้า ‘เอไอเอส’ – ‘วัดใจ กสทช.’

 

ผลจากการประกาศบิ๊กดีลควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้ขึ้นแท่น ยักษ์เทคคอมปานี แซงหน้าหมายเลข 1 วงการมือถือ ‘เอไอเอส’ กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายถกเถียงกันอย่างมาก

โดยประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลหลักๆ คือ การผูกขาดบนตลาดมือถือ และลิดรอนสิทธิผู้บริโภค

เพราะตระหนักดีว่า เครือข่ายมือถือเป็นปัจจัย 5 ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจในยุคนิวนอร์มอล

หากย้อนพิจารณาดีลนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มเทเลนอร์ มีเป้าหมายตรงกันว่า ต้องการขยับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะตระหนักดีว่า แข่งกันไปก็ไม่โต เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนจากการขยายตัวของเทคโนโลยี และที่สำคัญพื้นที่การแข่งขันก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศใดประเทศหนึ่งอีกแล้ว

แต่หมายถึงการแข่งขันถูกขยายพื้นที่เป็นระดับภูมิภาค ระดับโลกมากขึ้น

 

“ซิกเว่ เบรกเก้” ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวในการแถลงข่าวความร่วมมือที่จัดขึ้นผ่านออนไลน์ (วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564) ว่า เป้าหมายความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีเติบโตขึ้น ทำให้การแข่งขันในอนาคตไม่จำกัดแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

โดยบริษัทใหม่นี้ตั้งอยู่บนหลักการของความเท่าเทียมกัน เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดจากดีแทคและทรูมารวมกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ระดับโลก

เพราะเชื่อว่าอีก 20 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีใหม่ ทั้ง 5 G คลาวด์ จะทำให้เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ

อีกทั้งผลจากดีลนี้ยังจะตั้งกองทุนมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนเทคสตาร์ตอัพบนแพลตฟอร์มดิจิตอล

ซึ่งหลังดีลนี้สำเร็จ บริษัทใหม่นี้จะมีรายได้ถึง 2.17 แสนล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดในเชิงรายได้ 40%

คาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2565

 

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า เป้าหมายครั้งนี้ชัดเจน คือ การปรับโครงสร้างสู่การเป็นเทคคอมปานีระดับโลก

เนื่องจากสนามการแข่งขันเปลี่ยนไป บทบาทของผู้ประกอบการธุรกิจนี้ก็ลดลงตามไปด้วย เพราะปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนเร็ว ซึ่งผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะทำหน้าที่แค่ท่อส่งข้อมูล (Data) อย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องร่วมสร้างระบบนิเวศน์ ที่จะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกัน

เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับภูมิภาคและระดับโลก

ขณะที่มุมมองทางธุรกิจนั้น แหล่งข่าววงการโทรคมนาคม วิเคราะห์ว่า การควบรวมครั้งนี้ต้องใช้ระยะเวลา จึงอาจเกิดสุญญากาศระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ทำให้อาจเกิดปัญหาขึ้นภายในองค์กรของทั้งสองฝ่าย

ขณะที่ลูกค้าก็อาจจะไม่ได้อะไรใหม่ๆ เป็นพิเศษ ทั้งด้านบริการ เครือข่าย เพราะยังอยู่ในช่วงรอยต่อ จึงยังไม่มีการทำอะไรใหม่ขึ้นในช่วงนี้

แต่หากมองระยะยาวก็ต้องดูว่ารวมกันจะสามารถลดต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน และสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ เพิ่มอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ รวมถึงดีกรีการแข่งขันก็อาจจะลดลง

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองรายยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการจัดการที่ต้องใช้ระยะเวลา ลูกค้าทั้งดีแทคและทรู ที่อาจจะไม่ได้อยากรวมกันก็ได้ ในระยะสั้นน่าจะส่งให้การเข้ามาของลูกค้าใหม่น้อยลง หรือมีลูกค้าเก่าย้ายไปอยู่กับคู่แข่ง

แต่ระยะยาวขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการหลังการควบรวมแล้ว

 

มุมมองทางเศรษฐศาสตร์นั้น คาดการณ์ว่า ดีลนี้กำลังจะเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคมไทย ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า หากดีลนี้เกิดขึ้น จะทำให้โครงสร้างบริการกลับไปเหมือน 20 ปีก่อน ซึ่งในอดีตมีรายหนึ่งล็อก IMEI ผูกขาดการใช้เครื่องโทรศัพท์ด้วย ดังนั้น สำนักงาน กสทช.ต้องเร่งเข้าไปแก้ไข ไม่ใช่ให้การควบรวมแล้วเสร็จก่อน

เพราะหากดีลนี้เกิดขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการ 3 รายเหลือ 2 ราย เมื่อรวมกันเหลือเอไอเอส ซึ่งเป็นผู้นำตลาดปัจจุบันจะมีส่วนแบ่งตลาดเชิงรายได้ 47% ขณะที่ทรู-ดีแทค จะรวมกันได้ 52% ถือเป็นโครงสร้างตลาดที่น่าเป็นห่วง เพราะการแข่งขันจะลดลง ราคาค่าบริการก็จะลดลงช้าตามไปด้วย

เท่ากับว่า หากดีลนี้เกิดขึ้น จะส่งผลต่อธุรกิจโทรคมนาคมทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ ซัพพลายเออร์ ร้านค้ามือถือ ไปจนถึงภาครัฐเอง เพราะหากเปิดประมูลคลื่น 6 G ก็จะมีผู้เข้าร่วมประมูลลดลง รายได้ของรัฐก็จะลดลงตามไปด้วย

ดีลนี้จึงมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

 

เช่นเดียวกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ก็ออกมาค้านเรื่องนี้แบบจัดเต็ม โดยเตรียมจะยื่นหนังสือต่อ กสทช. เพื่อไม่ได้ให้ดีลนี้เกิดขึ้น ซึ่ง “บุญยืน ศิริธรรม” ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า การควบรวมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ ไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าจะไม่ลิดรอนสิทธิของผู้บริโภค และไม่มีการเอาเปรียบผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่

โดยเบื้องต้นจะทำหนังสือยื่นต่อ กสทช. เพื่อสั่งห้ามไม่ให้เกิดการควบรวมนี้ เนื่องจากทำให้มีอำนาจเหนือตลาด

และเตรียมทำหนังสือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ด้วย

และหากทั้ง 2 หน่วยงานไม่ฟีดแบ็กก็จะเสนอรัฐบาลต่อไป

 

เมื่อดีลนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงข้อดี-ข้อเสียในวงกว้าง โดยอำนาจการดูแลควบคุม ก็ถูกโยนกลับมาที่หน่วยงานของรัฐ

โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ของการควบรวมกิจการกัน คือ ยื่นเอกสารตามประกาศ กสทช.เกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจโทรคมนาคมกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช.ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการดำเนินการ โดยแจงรายละเอียด ความจำเป็น โครงสร้างที่เปลี่ยนไป ผลกระทบ

หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช.จะทำหน้าที่ตรวจสอบ และตั้งเป็นที่ปรึกษาอิสระในการศึกษาผลกระทบ โดยต้องเสนอสำนักงาน กสทช.ใน 30 วัน และสำนักงาน กสทช.ต้องนำไปวิเคราะห์ต่อ โดยไม่ต้องรอให้เกิดผลกระทบจริง

เมื่อได้รับรายงานต้องเสนอบอร์ด กสทช.ใน 60 วัน เพื่อกำหนดมาตรการเฉพาะออกมาก่อนจะเกิดการควบรวมกิจการขึ้น

 

ส่วน “สันติชัย สารถวัลย์แพศย์” กรรมการการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจนี้เข้าข่ายได้รับยกเว้นตามมาตรา 4 ข้อ 4 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้าอยู่ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กสทช. ผู้บังคับใช้กฎหมายว่า “จะพิจารณาอย่างไร”

ไล่ไทม์ไลน์มาถึงจุดนี้ ก็ชัดเจนในระดับหนึ่งว่า ดีลนี้กำลังเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนการแข่งขันตลาดโทรคมนาคมไทย ลดจำนวนผู้แข่งขันลง เพิ่มอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์

ขณะที่กลไกของผู้กำกับดูแลรัฐ ทั้งผู้กำกับดูแลโดยตรงอย่าง กสทช. หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ยังอยู่ในช่วงสุญญากาศ

และคาดเดาไม่ได้ว่าจะออกมาแสดงบทบาทต่อกรณีนี้แข็งขันเพียงใด