บีอาร์ไอ ในอุษาคเนย์ : สถานะปัจจุบัน (2)/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

บีอาร์ไอ ในอุษาคเนย์

: สถานะปัจจุบัน (2)

 

เมียนมา-จีน : มิตินอก มิติใน

ต้องประหลาดใจ จีนเผชิญหน้าปัญหาใหญ่ที่สุด ทำให้บีอาร์ไอเกิดขึ้นบนแผ่นดินเมียนมาล่าช้า แม้เมียนมาต้องการโครงสร้างพื้นฐานอย่างยิ่ง และจีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่อุปถัมภ์เมียนมาหลังจากรัฐบาลประเทศนี้ถูกกล่าวหาว่า ไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 750,000 คนออกนอกประเทศช่วงปลายปี 2017

ปี 2018 เมียนมาและจีนบรรลุข้อตกลงลดขนาดโครงการก่อสร้างที่จ้าวผิว (Kyaukphyu) ช่วยให้จีนเข้าถึงมหาสมุทรอินเดีย

แต่ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี ลดเงินทุนจาก 7 พันล้านเหรียญ เหลือ 1.3 พันล้านเหรียญซึ่งรัฐบาลทหารเคยตกลงไว้ในปี 20151

ทางการเมียนมายังเจรจาด้วยการให้ตัดสัดส่วนของเมียนมาในโครงการเหลือแค่ 15% กลุ่มบริษัทจีนจะถือหุ้น 70%

แต่แล้วเกือบไม่มีการก่อสร้างเลยนับตั้งแต่เริ่มโครงการ

หนึ่งเดือนต่อมา ทั้งเมียนมาและจีนลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding-MOU) สถาปนา China-Myanmar Economic Corridor-CMEC เชื่อมระยะทาง 1,060 ไมล์ระหว่างเมืองคุนหมิง เมืองทางใต้ของจีนกับมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง และท่าเรือจ้าวผิวของเมียนมา

แต่งานดำเนินไปล่าช้ามาก ยกเว้นการศึกษาความเป็นไปได้การสร้างทางรถไฟมูลค่า 9 พันล้านเหรียญจากมูเซ่ (Muse) ตามแนวชายแดนจีนไปที่ท่าเรือของมหาสมุทรอินเดีย2

ปี 2011 รัฐบาลทหารได้ยกเลิกการก่อสร้างเขื่อนมิตโซน (Myitsone) ทางเหนือของเมียนมา มูลค่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากมีการประท้วงทั่วประเทศ3

ผู้ประท้วงโกรธแค้นที่เขื่อนจะสร้างขึ้นบนแผ่นดินชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงและเหนือแม่น้ำอิระวดี ที่จะสร้างความหวาดกลัวให้คนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงและชาวเมียนมา เขื่อนจะขับไล่ชาวบ้านนับหมื่นคน ก่อกวนปลาที่แหวกว่ายไหลเวียนในแม่น้ำ และก่อกวนความสามารถของชาวบ้านที่อยู่อาศัยท้ายน้ำ

ปีต่อมา ทางการจีนไม่ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนมิตโซน ทูตจีนประจำเมียนมามักหยิบยกเรื่องเขื่อนมิตโซนในย่างกุ้งเพื่อกดดันรัฐบาลเมียนมาให้กลับมาพิจารณาตัดสินในโครงการสร้างเขื่อนนี้ต่อไป4

เพื่อช่วยให้บางโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอนุมัติได้ ออง ซาน ซูจี จัดตั้ง Project Bank ซึ่งรวบรวมนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก ประเมินความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของข้อเสนอโครงการต่างๆ

นักเศรษฐศาสตร์บางคนได้ประเมินโครงการต่างๆ ของจีนก่อนหน้านั้น

มีโครงการหนึ่ง จีนจัดให้ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืชและปั๊มสูบน้ำแก่กระทรวงเกษตรเมียนมา ประเมินมูลค่าราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดดอกเบี้ย 4.5% และเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาจ่ายคืนเงินกู้นี้ภายในระยะเวลา 10 ปี

 

หนักมากเลย เพื่อนเรา

สปป.ลาว : กับดักหนี้ (Debt trap)

เป็นข่าวใหญ่โตในระดับโลก วันที่ 2 ธันวาคม 2021 นี้ รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ชื่อ ล้านช้าง รถไฟจีน-ลาวจะเริ่มวิ่งจากเมืองสิบสองปันนา จีน เข้าแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มาที่ เวียงวัง แล้วสิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

ทางการจีนและชนชั้นนำลาวเห็นว่า นี่เป็นความสำเร็จของบีอาร์ไอของจีน และจะเป็นความสำเร็จอันน่าภูมิใจ วิน วิน ทุกฝ่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

คิดสักนิด ถ้าผมไม่ผิด คำว่า ล้านช้าง เป็นชื่อจีนก็ได้คือ แม่น้ำลาน กาง หรือแม่น้ำโขงในจีน ไม่ใช้ชื่ออาณาจักรล้านช้างตามความเข้าใจของไทยและ สปป.ลาว

รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (เปลี่ยนเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง) วิศวกรจีนระเบิดภูเขาเปลี่ยนเป็นอุโมงค์ใน สปป.ลาว เปลี่ยน สปป.ลาวจากประเทศ Land lock เป็น Land Link ด้วยมูลค่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1 ใน 3 ของ GDP สปป.ลาว

เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทจีน-ลาวที่ได้เงินกู้จากธนาคารจีน China’s Export-Import Bank ราว 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 70% เป็นค่าก่อสร้างเส้นทางรถไฟ

ต้องรู้ด้วยว่า ทางการจีนจัดเงินทุนให้ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และทางการ สปป.ลาวต้องจ่ายเงินทุนสมทบ 531 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเงิน 459 ล้านเหรียญสหรัฐมาจาก China’s EXIM Bank คิดดอกเบี้ย 2% ต้องจ่ายภายใน 25 ปี

รถไฟความเร็วปานกลางเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างที่ สปป.ลาวก่อหนี้กับจีน

เงินกู้จีนยังเป็นเงินทุนในโครงการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เตือน สปป.ลาวเมื่อปี 2017 ถึงหนี้สาธารณะ (public debt) และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ของ GDP ในปี 2019

 

มากกว่าครึ่งหนึ่ง

เป็นหนี้ของทางการจีน5

ทางการจีนทำศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง จีน-ลาวสูญเสียเงินในช่วง 11 ปีแรกที่ดำเนินการ และคาดว่าทางการไทยจะก่อสร้างเส้นทางรถไฟไปทางใต้เชื่อมต่อทางมาเลเซีย

ถ้าไทยใช้เวลายาวนานเป็นทศวรรษในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ สปป.ลาวก็จะไม่มีความเชื่อมโยงทางใต้ โครงการจะยังต้องกู้เงินต่อไป

น่าสนใจคือ อัตราดอกเบี้ย จีนเสนอที่ 3% แต่ สปป.ลาวอ้างไทยได้รับข้อเสนอจากจีน 2%

แล้วการเจรจาเพื่อย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำได้ล่าช้ามาก

ชนกลุ่มน้อยลาวจะถูกย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่รอบๆ 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งบริษัทจีนเพิ่งก่อสร้างขึ้นใกล้ชายแดนจีน ได้แก่ ในแขวงบ่อแก้ว ใกล้บ่อนกาสิโน Kings Romans casino ที่จะมีแรงงานทำงานในโรงแรม ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ

 

ไทย บีอาร์ไอ : ขุนศึกและนายทุน

หลังรัฐประหาร 2014 (พ.ศ.2557) ขุนศึกไทยจะสร้างผลงานชิ้นเอก จึงตัดสินใจสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ต่อจากพรมแดน สปป.ลาวไปมาเลเซีย เพื่อเชื่อมโยงคุนหมิง จีน และสิงคโปร์

แต่หลังจากนั้น เส้นทางรถไฟเกิดขึ้นเล็กน้อย อาจเป็นไปได้ว่า การวิจารณ์รัฐประหารจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นเหตุผลหนึ่งให้ไทยร่วมมือกับจีนภายใต้บีอาร์ไอ

ทั้งสองฝ่ายมีการเจรจากันหลายรอบเรื่อง เงื่อนไขทางการเงิน วิศวกร สิทธิ์การใช้ที่ดินและเทคโนโลยี และว่า แรงงานจีนสามารถมาทำงานในโครงการได้ด้วย6

ด้วยความไม่ลงตัว จีนปฏิเสธเชิญนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปประชุมบีอาร์ไอครั้งแรกที่ปักกิ่งปี 20177

มีข้อน่าสังเกตว่า ทางการไทยเน้นและให้ความสนใจการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินนานาชาติ ที่ผู้ลงทุนคือท่านเจ้าสัวมากกว่า

การที่นายกรัฐมนตรีไทยไม่ได้รับเชิญไปร่วมงานบีอาร์ไอที่ปักกิ่ง เนื่องจากความไม่พอใจของทางการจีน ซึ่งคล้ายกับที่ไม่ได้เชิญนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

แทนที่จะสนใจบีอาร์ไอจีน ไทยกลับสนใจเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนานาชาติ หรือบีอาร์ไอไทยที่อาจเป็นประโยชน์ต่อภายในไทยมากกว่า

แต่ด้วยความบังเอิญ บีอาร์ไอจีนสั้นจู๋ที่เมืองไทย จึงเป็นผลดีโดยบังเอิญ คือ เรายังไม่ได้ติดกับดักหนี้ โชคดีโดยไม่ได้ตั้งใจ

ดูแล้ว เรายังบอกความสำเร็จของบีอาร์ไอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เลย

1″Myanmar scales back Chinese-back port project due to debt fears,” Reuter, 2 August 2018.

2Nan Lwin, “Muse-Mandalay Railway Agreement with China Raises Debt, Conflict Fears,” The Irrawaddy, 31 October 2018.

3Thomas Fuller, “Myanmar Backs Down, Suspending Dam Project,” The New York Times, 30 September 2011

4Nan Lwin, “Foreign Countries Behind Myitsone Dam Opposition : Chinese Ambassador,” The Irrawaddy, 22 May 2019.

5Kenji Kawase, “Laos stresses the need to borrow as West raise debt alarm,” The Neikki Asian Review, 13 June 2018.

6″Thailand to speed up train link with China,” Bangkok Post 26 April 2019.

7Shawn W. Crispin, “China can’t always get what it wants,” Asia Times, 12 December 2018