‘ประกันรายได้’…ระเบิดเวลาลูกใหม่ รัฐบาลบิ๊กตู่ย่ำรอยเดิมโครงการจำนำข้าว มุ่งประชานิยมจนเสี่ยงผิดวินัย… ปูดหนี้ก้อนโต/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

‘ประกันรายได้’…ระเบิดเวลาลูกใหม่

รัฐบาลบิ๊กตู่ย่ำรอยเดิมโครงการจำนำข้าว

มุ่งประชานิยมจนเสี่ยงผิดวินัย…

ปูดหนี้ก้อนโต

 

เรื่องร้อนขณะนี้ นอกจากราคาขายปลีกน้ำมันแพงดันค่าครองชีพขยับสูงตาม ยังมีเรื่องวุ่นๆ ของประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณโครงการประกันรายได้ข้าว เพียงบางส่วน 1.3 หมื่นล้านบาท จากงบฯ ที่ขอทั้งหมด 8.9 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลว่าหนี้ใกล้เต็มเพดาน อาจเสี่ยงผิดวินัยการเงินการคลังได้

ส่วนหนี้ที่กำลังเป็นปัญหา คือมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่าด้วยการกําหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ในการดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมด รวมกันไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจําปี

ดังนั้น จะมีหนี้สะสมได้ไม่เกิน 9.3 แสนล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท

ผลพวงจากการใช้นโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ดำเนินโครงการต่างๆ แทน ตั้งแต่อดีต เช่น โครงการจำนำข้าวซึ่งปัจจุบันยังต้องตามแก้หนี้คงค้างอยู่อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท

แต่ปัจจุบันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังเดินนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รัฐบาลตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท เพดานก่อหนี้จึงต้องลดลงตาม

กลายเป็นปัญหา “วัวพันหลัก” ของรัฐบาลที่จะไม่สามารถให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยออกเงินแทนในการดำเนินโครงการต่างๆ ได้ หรือหากทำได้ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

เมื่อสำรวจพบว่าหนี้ที่สะสมส่วนใหญ่ อยู่ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีหนี้สะสมมากสุดจากโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตรถึง 6-7 แสนล้านบาท ธนาคารออมสิน มีหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการสินเชื่อช่วยเหลือประชาชน และยังมีสะสมเล็กน้อยในธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)

ตัวอย่างในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับความนิยมสูงจากโครงการจำนำข้าว แต่เป็นโครงการที่ทิ้งหนี้ก้อนโตที่ยังสะสางไม่จบสิ้น ก็มีให้เห็นแล้ว

แต่รัฐบาล “ลุงตู่” ก็ยังย่ำเดินตาม เปลี่ยนจาก “จำนำ” เป็น “ประกัน” ไอเดียของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องการเรียกคะแนนนิยมที่หวังผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้ง

แต่การใช้นโยบายที่ให้คนฐานรากต้องคอยพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นๆ ยิ่งสะท้อนภาพชาวนาไทยอ่อนแอลงเรื่อยๆ หรือไม่ การช่วยเหลือรูปแบบ

ก็จะไม่ถึงจุดสิ้นสุดเสียที

เพราะระบบเกษตรกรรมไทยยังไม่ได้รับการพัฒนา

 

หากเจาะลึกในรายละเอียด พบว่าการประกันรายได้ข้าวมียอดการสะสมมากที่สุด ในฤดูการผลิต 2562/2563 ใช้วงเงินจำนวนเงิน 19,416.99 ล้านบาท และในปี 2563/2564 ใช้จำนวนเงิน 48,178.37 ล้านบาท

และในปี 2564/2565 กระทรวงพาณิชย์ โดยรัฐมนตรีว่าการ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอวงเงินงบประมาณที่ 89,306 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกๆ ปี

ผิดกับภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่า แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชชนิดใดก็งอกงาม แถมมีสินค้าเกษตรที่ขึ้นชื่อหลายตัว ทั้งทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม หรือข้าวหอมมะลิ ที่มีการส่งออกจำนวนมากต่อปี ซึ่งข้อมูลอาจจะสะท้อนให้เห็นว่า อาชีพเกษตรกรไทยมีรัฐบาลสนับสนุน มีรายได้ และฐานะที่ดี ซึ่งคงอาจจะเป็นความจริงในบางส่วน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์แม้จะรับทราบถึงวิกฤตมาตรการทางเงินการคลัง มาตรา 28 ก็ยังยืนยันจะหางบประมาณมาสนับสนุนประกันรายได้ให้เกษตรกรต่อไป

สวนทางกับคำสั่งการถึงทุกกระทรวงให้ปรับโครงสร้างการเกษตร ให้เกษตรกรไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 

“ต้องเร่งสำรวจว่า คนที่ได้รับรายได้จากการประกันราคาได้จริงหรือเปล่า ข้าวที่ออกมาแล้วอยู่ที่ไหน แล้วทำไมชาวบ้านถึงบ่นว่าได้ 6 พัน เป็นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่เรามีการประกันรายได้ไปแล้ว โรงสี ต้องสำรวจกันใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่า พยายามหาเงินมาดำเนินการ ซึ่งต้องหาวิธีการทางการเงินว่าจะทำได้อย่างไร คิดออกแล้ว ขอเวลาสักนิด จะทยอยจ่ายให้ตามลำดับ” คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนหน้านี้

สำทับด้วยคำกล่าวของเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายดนุชา พิชยนันท์ “เรื่องประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร ในฤดูการผลิต 2564/2565 คงไม่มีการสะดุด เนื่องจากยังคงมีมาตรการอยู่ รัฐบาลคงจะดำเนินการจ่ายต่อไป แต่ว่าต้องดูเรื่องที่มาของแหล่งเงินด้วย เนื่องจากงบประมาณของภาครัฐมีข้อจำกัด โดยกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างช้าไม่เกินกลางเดือนธันวาคมนี้ น่าจะมีวิธีแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนออกมาแน่นอน”

เลขาฯ ดนุชากล่าวย้ำอีกว่า ครั้งนี้คงไม่มีการทบทวนหรือปรับปรุงโครงการใหม่ ต้องดูเรื่องของแหล่งเงินว่าจะเอามาจากไหนไปจ่ายคืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และให้นำไปใช้ชดเชยในโครงการประกันรายได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องมีการปรับระบบการเกษตร จะให้อยู่กับโครงการประกันรายได้อย่างเดียวคงไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะช่วยในเวลาที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับปรุงระบบการผลิตด้วย ให้มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้เกษตรกร เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันหลายฝ่าย

แต่เลขาฯ ดนุชาก็มีข้อท้วงติง มองการประกันรายได้จะมีผลต่อเรื่องคุณภาพของสินค้าที่จะไม่เกิดการพัฒนา เพราะถึงอย่างไร ผลผลิตจะได้รับการประกันราคาอยู่ดี แม้จะพัฒนาหรือไม่ก็ตาม

ที่สำคัญโครงการประกันรายได้กำลังกลายเป็นภาระของรัฐบาลก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หากว่าในอนาคตเกิดสินค้าเกษตรพร้อมใจลดราคาลงพร้อมกันทั้งหมด แล้วรัฐบาลจะนำเงินที่ไหนไปจ่ายประกันรายได้!!