วงค์ ตาวัน : บรรทัดฐานการสลายม็อบ

วงค์ ตาวัน

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจและต้องเห็นใจด้วยซ้ำ กับการเคลื่อนไหวของแกนนำม็อบ พธม. ที่เข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ใช้สิทธิ์อุทธรณ์คดีสลายม็อบ 7 ตุลาคม 2551 ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ในฐานะผู้นำการประท้วง และมีการสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้มวลชนของ พธม. ได้รับบาดเจ็บหลายราย เสียชีวิต 2 ราย

จึงต้องทวงความเป็นธรรมให้กับคนเหล่านี้อย่างถึงที่สุด ต้องหาคนรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้ได้

“แต่ทั้งหมด ย่อมขึ้นกับการพิจารณาของศาลสถิตยุติธรรม ว่าพยานหลักฐานของฝ่ายใดที่นำเสนอในชั้นการสืบพยานมีน้ำหนักมากกว่ากัน”

โดยในคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลย คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ขณะนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ขณะนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้น พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.ขณะนั้น

ศาลเห็นว่า จำเลยทั้ง 4 สั่งการให้ตำรวจปฏิบัติไปตามมาตรการแก้ปัญหาผู้ชุมนุมตามขั้นตอน จากเบาไปหาหนัก เพื่อเปิดทางให้ ครม. ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

จากนั้นเมื่อการประชุมเสร็จสิ้น แต่ผู้ชุมนุมยังปิดล้อมรัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องเปิดทางเพื่อให้ ครม. สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐสภา ออกมาได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเพื่อรักษาทรัพย์สินของราชการ

โดยปฏิบัติไปตามแผนกรกฎ 48 ตามขั้นตอน และการใช้แก๊สน้ำตาเป็นเรื่องจำเป็น

ส่วนที่พยานผู้เชี่ยวชาญทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย โต้แย้งกันในประเด็นแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งยังมีความเห็นแตกต่างกัน

“ศาลเห็นว่า ในสถานการณ์ขณะนั้น จำเลยและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่อาจทราบได้ว่าแก๊สน้ำตาจะมีเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเช่นนั้นได้”

ไม่อาจคาดเห็นได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่ออันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้

“ข้อเท็จจริงไม่ได้หมายความว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมเพื่อให้ได้รับอันตรายแก่การและเสียชีวิต!”

เป็นบทสรุปที่นำมาสู่คำพิพากษายกฟ้อง เห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง

แต่เมื่อ พธม. เรียกร้องต่อ สุดท้าย ป.ป.ช. จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

หรือหากอุทธรณ์ ผลสรุปจะเป็นเช่นไร ย่อมขึ้นกับการพิจารณาของศาล ตามข้อกฎหมาย ตามข้อเท็จจริงของพยานหลักฐาน

ขณะเดียวกัน ผลจากคดี 7 ตุลาคม 2551 ยังเป็นการกระตุ้นให้ม็อบ นปช. ลุกขึ้นมาทวงถามคดีสลายม็อบเสื้อแดงในปี 2553 ด้วย โดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ได้ออกมาแสดงความเห็นหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีสลายม็อบ พธม. ว่า เห็นใจผู้ชุมนุมที่สูญเสีย และยืนยันว่าเสื้อแดงไม่เคยยินดีที่ประชาชนฝ่ายเสื้อเหลืองต้องบาดเจ็บล้มตายจากการชุมนุม

พร้อมๆ กันก็อยากให้คดีพฤษภาคม 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 99 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้มีโอกาสพิสูจน์ความจริงแบบคดี 7 ตุลาคม 2551 บ้าง

“เมื่อฝ่ายเสื้อแดงลุกขึ้นมาทวงถามคดีปี 2553 บ้าง ย่อมกระตุ้นเตือนให้คนทั้งสังคมได้เห็นความแตกต่างอย่างมากมายของ 2 เหตุการณ์นี้”

จริงอยู่ ในแง่การพิสูจน์คดีในศาลนั้น ย่อมนำ 2 เหตุการณ์มาเทียบเคียงกันไม่ได้ พยานหลักฐานของแต่ละคดีย่อมไม่เหมือนกัน

“แต่ที่เทียบเคียงกันได้ คือ มาตรการในการปฏิบัติของ 2 รัฐบาล!?!”

รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และตำรวจในยุค พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้ใช้มาตรการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยยึดตามมติของรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี 2535

นั่นคือ ต่อไปนี้ประเทศไทยต้องสลายการชุมนุมประชาชน ด้วยตำรวจหน่วยปราบจลาจล ไม่มีอาวุธจริง ไม่ใช้กระสุนจริง

ใช้เฉพาะตำรวจที่ฝึกฝนมา แต่งกายในชุดหน่วยปราบจลาจลตามมาตรฐาน มีเครื่องป้องกันตัวเอง ไม่ให้เจ็บปวดจากการตอบโต้ของม็อบ เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์แล้วใช้ความรุนแรงกับประชาชน

มีโล่ป้องกันตัว มีกระบองไว้ตอบโต้ในระยะประชิด ใช้ปืนยิงกระสุนยาง ปืนยิงแห สเปรย์พริกไทย เครื่องชอร์ตไฟ ใช้รถฉีดน้ำ รถคลื่นเสียง

ไปจนถึงใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่โลกคิดค้นมาแล้วว่า เหมาะสมที่สุด ไม่ทำให้ประชาชนผู้ชุมนุมต้องบาดเจ็บหรือล้มตาย

“จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่หน่วยปราบจลาจลทั่วโลกใช้”

ถือว่ารัฐบาลสมชายและตำรวจยุคพัชรวาท ปฏิบัติตามมติของ ครม.อานันท์ ปี 2535

โดยเป็นมติที่สรุปขึ้นมาหลังรัฐบาลทหาร รสช. ปราบผู้ชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ด้วยการใช้ทหารพร้อมกระสุนจริงจนล้มตายไปครึ่งร้อย!

พฤษภาทมิฬ 2535 ควรเป็นเหตุการณ์ครั้งสุดท้าย ที่ประเทศไทยใช้กระสุนจริงปราบม็อบ เพราะรัฐบาลอานันท์สรุปผลการสอบสวนและมีมติให้ออกมาตรการสลายม็อบ เพื่อไม่ให้มีการนองเลือดเกิดขึ้นอีก

รัฐบาลหลังจากนั้นก็ยึดมาตรการนี้โดยตลอด เหตุการณ์ประท้วงในปี 2551 รัฐบาลสมชายก็ใช้หลักการนี้

แต่แล้วการชุมนุมของเสื้อแดงในปี 2553 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ กลับมีการนำเสนอข้อมูลว่า มีผู้ก่อการร้ายและชายชุดดำใช้อาวุธร้ายแรงปะปนอยู่ในผู้ชุมนุม นปช. จึงใช้อำนาจ ศอฉ.ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมา สั่งการให้ใช้เจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอนุญาตให้ใช้อาวุธจริงกระสุนจริง ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันตัวจากผู้ก่อการร้าย

เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่คืนวันที่ 10 เมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

“มีการเผยแพร่ภาพชายชุดดำ ใช้ปืนอาก้ารัวยิง โดยยืนอยู่ด้านหลังม็อบเสื้อแดงในคืน 10 เมษายน แต่คลิปนั้นไม่เห็นว่ากระสุนที่รัวยิงไฟแลบดังกล่าว ยิงใส่ใคร โดนใคร!?”

พร้อมๆ กับข้อเท็จจริงเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารถูกถล่มจนล้มตายเกือบสิบรายที่บริเวณถนนดินสอ ปรากฏในภายหลังว่า ถูกทำร้ายด้วยระเบิดมือ แสดงว่าคนลงมือต้องอยู่ไม่ไกลจากบริเวณ บก.ส่วนหน้าของทหารดังกล่าว ไม่ใช่การยิงด้วยเอ็ม 79 ในระยะไกล

ที่สำคัญ เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารล้มตาย ผู้ชุมนุมก็ล้มตาย จังหวะนั้นแกนนำ นปช. ได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง เรียกร้องให้ทหารหยุดปฏิบัติการ และให้ผู้ชุมนุมถอยออกมา เลิกการปะทะเพื่อยุติการสูญเสีย

“คำถามก็คือ ถ้าชายชุดดำที่โผล่ออกมา เป็นแผนร้ายที่เสื้อแดงวางเอาไว้ ทำไมจึงไม่ขยายผล ปลุกม็อบให้ลุกฮือ เพื่อเกิดจลาจลใหญ่ อันนำไปสู่การล้มรัฐบาลในที่สุด!??”

พอเริ่มรุนแรง เสียงปืนดังระงม คนที่ขอให้ยุติเหตุการณ์คือแกนนำเสื้อแดง

“แล้วเสื้อแดงจะไปเกี่ยวกับชายชุดดำอย่างไร”

ประการต่อมา 99 ศพที่ล้มตายในเหตุการณ์นี้ ด้วยข้ออ้างว่ามีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ แต่คนตายไม่มีแม้แต่ศพเดียวที่เข้าข่ายข้ออ้างนี้

ทำไมไม่สลายม็อบตามมติรัฐบาลอานันท์ ทำไมข้ออ้างเรื่องผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ จึงไม่มีตัวตนในหมู่ผู้ที่ถูกปราบปราม

แทนที่พฤษภาคม 2535 ควรจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ประชาชนซึ่งประท้วงทางการเมืองต้องถูกยิงด้วยกระสุนจริงตายเกลื่อน

กลับยังมาเกิดในพฤษภาคม 2553 อีก!?