เปิดหู | อูคูเลเล่เดือนละตอน : จากฮาวายสู่โลกกว้าง

อัษฎา อาทรไผท

หลังจากที่ฮาวายตกเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาได้ไม่นาน ดินแดนสวรรค์แห่งนี้ก็กลายเป็นจุดหมายสุด exotic ของนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักในยุคนั้น ที่จะนั่งเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาพักผ่อนหย่อนใจที่ดินแดนหาดสวรรค์ที่ร่ำรวยวัฒนธรรมแห่งนี้

ในปี ค.ศ. 1915 ได้มีการจัดงานใหญ่ Panama-Pacific International Exposition โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการขุดคลองปานามา ( คลองนี้ใช้เป็นทางลัดเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิก และแอตแลนติกเข้าด้วยกัน เหมือนที่ไทยพยายามจะมีคอคอดกระ ) อีกจุดประสงค์คือต้องการจะแสดงให้เห็นว่า ซานฟรานซิสโก ได้ฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว หลังจากประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 1906 ทว่าผลพลอยได้คือ หลังจากงานยาวนาน 10 เดือนนี้จบลง สิ่งที่แจ้งเกิดจากงานนี้อย่างสถาพรคือ อูคูเลเล่!

ในงานมีส่วนแสดงวัฒนธรรมจาก 32 รัฐและเขตปกครองของอเมริกา และ 28 ประเทศทั่วโลก ( รวมทั้งไทย ) แน่นอนว่าฮาวายก็มาเปิดนิทรรศการด้วย และไม่ได้มาเล็กๆ เพราะขณะนั้นฮาวายเป็นสถานที่สุดฮิปของชาวอเมริกัน หาดทรายสุดสายตา ทะเลฟ้าใส ภูเขาไฟและลาวา กระดานโต้คลื่น ระบำฮูล่า และ รูปปั้นทิกิ ล้วนเป็นมนต์ขลังของฮาวายที่น่าค้นหา จึงมีการยกฮาวายมาไว้ที่นี่เลยภายในฮาวายพาวิลเลี่ยน

ว่ากันว่าในแต่ละวันมีผู้คนมาเยือน ฮาวาย พาวิลเลี่ยน ราว 34,000 คน และส่วนมากจะตื่นตาตื่นใจไปกับธีมฮาวาย ที่เมื่อเดินเข้าไปจะเสมือนเข้าประตูทะลุมิติ ไปโผล่ในหมู่เกาะฮาวายสวรรค์กลางมหาสมุทรแปซิฟิค ด้วยการตกแต่งแบบจัดเต็มด้วยพฤษชาติแปลกตาจากทะเลใต้ ภูเขาไฟจำลอง รูปปั้นทิกิของชาวเกาะ ลูกมะพร้าว มาลัยห้อยคอ สาวฮูล่า และที่สำคัญ เสียงเพลงฮาวายเช่น Aloha Oe หรือ On the Beach at Waikiki จากวง Kailimai Hawaiian Quintet ที่บรรเลงสดขับกล่อมตลอดงาน โดยมีพระเอกเป็นอูคูเลเล่

เนื่องจากงาน Exposition นี้เป็นงานใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ผู้มาเยือนจึงมีจำนวนมาก ทั้งบุคคลสำคัญและประชาชนทั่วไป ร่วม 18.8 ล้านคน ได้มาสัมผัสกับบรรยากาศของฮาวาย และประทับใจกับเสียงเพลงที่ขับกล่อมด้วยอูคูเลเล่ ทำให้มีการกล่าวถึงเสียงอันไพเราะของดนตรีที่เพียงหลับตาฟังก็เห็นภาพ หรืออาจจะได้กลิ่นทะเล รู้สึกได้ถึงความอบอุ่นของอากาศ และความหอมของดอกไม้ แห่งฮาวาย

หลังจากเสร็จสิ้นงาน กระแสเพลงฮาวายมาแรงมากที่สหรัฐอเมริกา เป็นกระแสดนตรีใหม่ที่ใครๆ ก็อยากได้ยิน มีการนำดนตรีฮาวายไปบรรเลงตามคลับชั้นนำและงานสำคัญๆ ต่างๆ จนเป็นที่กล่าวถึงไปทั่ว และชาวอเมริกันที่ไม่สามารถเดินทางไปสัมผัสฮาวายจริงๆ ได้ ก็สามารถเข้าถึงมนต์ขลังของฮาวายได้ด้วยอูคูเลเล่ ที่ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้ไม่ยาก

นักธุรกิจหลายรายเห็นความนิยมในดนตรีฮาวายที่เบ่งบานอย่างรวดเร็ว จึงได้ผลิตอูคูเลเล่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทั้งที่สร้างในอเมริกา และนำเข้ามาจากฮาวาย จำหน่ายพร้อมโน๊ตเพลง และด้วยความที่เล่นไม่ยาก ทำให้ทุกคนสามารถสร้างเสียงดนตรีฮาวายเองได้ที่บ้าน

อีกเหตุผลที่ทำให้อูคูเลเล่เกิดได้รับความนิยมอย่างมากในครั้งนั้น เพราะการจะได้เสพย์เสียงเพลงไม่ได้สะดวกเหมือนทุกวันนี้ เพราะต้องไปหาฟังเอาจากการแสดงสด หรือไม่อาจจะฟังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงราคาแพง ที่ไม่ใช่ทุกคนในสมัยนั้นจะมีได้ ครั้นจะเล่นเองฟังเอง หากเป็นเปียโนก็เป็นเครื่องดนตรีที่มีราคาสูง การมาของอูคูเลเล่ที่ราคาไม่แพง แต่สามารถเอามาสร้างเสียงเพลงเองได้ ร้องตามได้ จึงเป็นการแก้ปัญหาของคนรักเสียงเพลงในสมัยนั้น

ในช่วง 1920’s ศิลปินกระแสหลักในยุคนั้นเริ่มหันมาใช้อูคูเลเล่เป็นเครื่องดนตรีหลัก เพื่อเล่นไปพร้อมๆ กับร้องเพลงของพวกเขา ซึ่งเมื่อต้องไปออกรายการวิทยุ ก็สามารถเอาไปแค่อูคูเลเล่ได้ ทำให้เคลื่อนย้ายได้สะดวกรวดเร็ว หรือหากแฟนเพลงอยากจะเล่นและร้องตาม ก็ทำได้ง่ายดายเพียงหาซื้ออูคูเลเล่และโน๊ตเพลงมาฝึก

หากสนใจลองหาฟังเพลง “Say It with a Ukulele” ของ Frank Crumit ( 1924 ) เพลงสนุกๆ ที่มาครบวง โดยมีพระเอกเป็นเสียงสตรัมคอร์ดของอูคูเลเล่ ที่จะได้ยินอย่างชัดเจนตั้งๆ แต่ช่วงหลัง 1.12 นาทีไปแล้วจนจบเพลง ซึ่งเสียงสตรัมอูคูเลเล่ของเขาแม้เล่นมาจะ 100 ปีแล้ว ก็ยังฟังสดใสมีชีวิตชีวาเหลือเกิน

อีกเพลงที่น่ากล่าวถึงคือ “Singing in the Rain” ของ Cliff “Ukulele Ike” Edward ( 1929 ) เพลงดังมากเพลงหนึ่งตลอดกาล ที่น้อยคนในปัจจุบันที่รู้จักเพลงนี้ในเวอร์ชั่นใหม่ๆ จะทราบว่าต้นฉบับเป็นเพลงที่สตรัมอูคูเลเล่ไปทั้งเพลง ภายหลังศิลปินท่านนี้โด่งดังมากๆ กับเพลง “Wishing Upon A Star” ที่ดีสนีย์นำมาใช้ประกอบอนิเมชั่นคลาสสิค พินอคคิโอ

อูคูเลเล่เฟื่องฟูมาโดยตลอดตั้งแต่ Panama-Pacific International Exposition ในปี ค.ศ. 1915 จนกระทั้งปลาย ค.ศ. 1920’s และเริ่มค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กับวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกนามว่า The Great Depression ในช่วงปี ค.ศ. 1929 ถึง 1933 ยาวนาน 43 เดือน ส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมของโลกลดไป 26.7% และอัตราการตกงานสูงสุด 24.9%

ในเวลาที่ยกเข็ญนี้ ผู้คนเลิกสนใจที่จะหาอูคูเลเล่มาเล่น และพยายามหาหนทางที่จะมีชีวิตต่อไป ซึ่งหากใครสามารถอยู่ได้ยาวนานถึง ค.ศ. 1960 ก็จะพบกับการกลับมาระลอกสองของอูคูเลเล่ ที่คราวนี้มาในอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อตลาดอีกแบบหนึ่ง

ติดตามเรื่องราวของอูคูเลเล่ต่อได้ในเดือนหน้าครับ