ตุลารำลึก (8) จากขังสู่คุก!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (8)

จากขังสู่คุก!

 

“ลัทธิฟาสซิสต์เกิดขึ้นจากความกลัวเสรีภาพ และถูกกระตุ้นแม้เพียงการปรากฏตัวแวบเดียวของเสรีภาพ”

Paul Mason (2021)

 

พวกเราทั้งหกถูกจับกุมและอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อครบ 7 วันโดยกระบวนการทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะต้องนำเราไปศาลเพื่อขออำนาจในการฝากขังต่อ โดยมีข้ออ้างปกติคือ ยังมีพยานอีกหลายปากที่ต้องรอการสอบสวน และเป็นคดีที่มีความผิดร้ายแรง ประกอบกับเป็นคดีด้านความมั่นคง จึงไม่สมควรได้รับการประกันตัว ซึ่งก็ไม่ผิดคาด และมีนัยว่าพวกเราจะต้องถูกย้ายที่คุมขัง

พวกเราถูกควบคุมตัวอย่างแน่นหนาไปศาลอาญาที่สนามหลวง อดคิดไม่ได้ว่าตำรวจไม่จำเป็นต้องใช้กำลังพลเป็นจำนวนมากในการควบคุมนักศึกษาเพียง 6 คนเลย เรื่องคิดหนีเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ด และพวกเราก็ไม่ใช่ “แรมโบ้” ที่จะแหกการคุมขังได้อย่างง่ายดาย…

จากศาลอาญามองออกไปเห็นสนามหลวง แต่ไม่ใช่สนามหลวงเดิมอีกต่อไป หากเป็น “สุสานสนามหลวง” ที่มีเพื่อนหลายคนต้องฝากร่างไว้ที่ต้นมะขาม ผมมาทราบในภายหลังว่าหนึ่งในนั้นเป็นรุ่นน้องที่คณะชื่อ “วิชิตชัย”

เราไม่รู้เลยว่าจากศาลอาญา พวกเราจะถูกส่งไปคุมขังที่ไหนต่อ จนกระทั่งรถควบคุมข้ามสู่จังหวัดนนทบุรี และหยุดลงที่เรือนจำกลางบางขวาง พวกเรามาถึงนิวาสสถานแห่งใหม่แล้ว และไม่เคยคิดเลยว่า จากนี้พวกเราทั้งหกต้องย้ายสถานศึกษามาเรียนหลักสูตรพิเศษที่ “มหาวิทยาลัยบางขวาง” ภายใต้การอำนวยการของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

หรืออาจจะต้องเรียกว่า “รัฐบาลฟาสซิสต์ไทย 2519”

 

คุก!

มีคนเคยเปรียบเทียบเสมอว่า คุกคือ “มหาวิทยาลัยชีวิต”…

เป็นมหาวิทยาลัยที่นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยหลายคนล้วนต้องเข้ารับการศึกษา

บางคนเข้าเรียนในหลักสูตรระยะสั้น บางคนต้องเรียนระยะยาว

แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยเช่นนี้มีรัฐบาลเผด็จการเป็น “อธิการบดี” และมีพัศดีเรือนจำเป็น “คณบดี”

เราทั้งหกเดินเข้ามหาวิทยาลัยบางขวางในฐานะนักศึกษาใหม่ หรืออาจกล่าวได้ว่าพวกเราเป็น “นักโทษการเมืองรุ่น 1” หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และต้องเริ่มเรียนรู้ชีวิตใหม่ ไม่เหมือนตอนเป็นนิสิตปี 1 ที่จุฬาฯ ตอนนั้นมีแต่ความตื่นเต้น แต่ตอนนี้มีแต่ความกังวล

และเมื่อเดินเข้าสู่ “บางขวางแคมปัส” แล้ว เป็นสัญญาณว่าเราคงได้อยู่ในหลักสูตรนี้อีกนาน เราไม่กล้าคิดว่า แล้วจะนานแค่ไหน

เมื่อย่างก้าวเข้าสู่บางขวาง แปลว่าเราจะทิ้งทุกอย่างของเราไว้เบื้องหลัง เสื้อผ้าและของติดตัวทุกอย่างถูกนำไปรวมกัน รอญาติมารับไป พร้อมกับเปลี่ยนเป็นชุดนักโทษ หรือที่เรียกกันว่า “ชุดลูกวัว” เพราะเป็นสีน้ำตาลอ่อน เราจึงถูกนำไปทำทะเบียนประวัติอีกครั้ง และรับวัคซีน

นับจากนี้เราจะมีสมบัติติดตัวไม่ใช่เสื่อผืนหมอนใบ แต่เสื่อผืนผ้าห่มผืน เพราะคุกไม่อนุญาตให้มีหมอน เพื่อป้องกันการซุกซ่อนสิ่งผิดกฎหมาย

ชีวิตในมหาวิทยาลัยมักจะเริ่มต้นด้วยการรับน้องใหม่ และที่บางขวางรับน้องใหม่ด้วยการ “ตีตรวน” คือนำโซ่มาล่ามที่ข้อเท้าทั้งสอง พี่นักโทษช่วยพวกเราด้วยการเอาตรวนเล็กมาใส่ แต่พอเราเดินออกมาผ่านจุดที่เรียกว่า “ศาลานกกระจอก” ได้ยินเสียงตามมาว่า ให้ใส่ตรวนใหญ่ แล้วเราก็มีโซ่ที่ข้อเท้าใหญ่ขึ้น…

รายการรับน้องใหม่ในแบบที่ไม่พบในจุฬาฯ และธรรมศาสตร์

และสิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้คือ เราจะมีชีวิตอยู่กับโซ่ตรวนที่ข้อเท้าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเวลานอน หรือเวลาที่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำ

เราถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่ใหม่ที่อยู่ใจกลางเรือนจำกลางบางขวางในชื่อ “แดนพิเศษ” ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งนับจากนี้ต่อไป ชีวิตพวกเราทั้งหกจะอยู่ในพื้นที่ส่วนนี้ และดูจากสถานการณ์ในขณะนั้นแล้ว สงสัยว่าพวกเราจะต้องเรียนในหลักสูตรนี้อีกนาน เพราะการปลุกระดมที่กระทำมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2518 และเข้มข้นมากขึ้นในปี 2519 นั้น

เห็นชัดว่า กระแสขวาจัดยังเป็นดัง “ลมแรง” ที่คนหนุ่ม-สาวอย่างพวกเราไม่อาจต้านทานได้เลย

นอกจากพวกเราทั้งหกที่บางขวางแล้ว มีนิสิต-นักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมากที่ถูกจับในวันนั้น แต่สุดท้ายแล้วก็ได้รับการประกันตัวออกไป ทราบในเวลาต่อมาว่าหลายคนกลับเข้าเรียน หลายคนหายหน้าหายตาไปจากสังคม

และหลังจากนั้นจึงได้รับรู้ว่าเพื่อนๆ เหล่านั้นเดินเข้าร่วม “การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบท”

พวกเขามองด้วยความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกันว่า “สงครามปฏิวัติ” คือ ทางออกของสังคมไทยในยุคนั้น เพราะการปราบปรามจากปฏิบัติการ “ขวาทมิฬ” ทำให้ทางเลือกในทางการเมืองเป็นเพียงถนนสายเดียว ที่เดินทางจาก “เมืองสู่ป่า” และเป็นทางเลือกที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อชีวิตของคนหนุ่ม-สาว ที่เป็นลูก-หลานชนชั้นกลางในเมือง ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในป่าระยะยาว ไม่เคยได้รับการฝึกทางทหารด้วยการใช้อาวุธและหลักสูตรทางยุทธวิธี และที่สำคัญ ไม่เคยเข้าร่วมในสงคราม

แต่การล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม ทำให้ชีวิตเหลือเพียงความมุ่งมั่น และกล้าตัดสินใจเข้าสู่สงครามปฏิวัติไทย ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน

พวกเราจึงล้อกันเล่นว่า คงต้องรอชัยชนะ และเพื่อนคงจะลงจากฐานที่มั่นมาปลดปล่อยพวกเรา

 

ข้อหา!

สิ่งหนึ่งที่อยากจะขอบันทึกไว้จากการจับกุมพวกเรา ซึ่งในเบื้องต้นมีข้อหาหลักคือ “หมิ่นองค์รัชทายาท” (อันอาจเรียกได้ว่า คดี 6 ตุลาฯ คือ ต้นทางของคดี 112 ในปัจจุบัน) แล้วต่อมาจึงมีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 9 ประเด็น คือ

1) ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น

2) ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน

3) ร่วมกันสะสมคนและอาวุธเพื่อการก่อกบฏ

4) ร่วมกันกระทำการเพื่อให้เกิดความไม่สงบในประเทศ

5) มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อใช้กำลังประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่

6) ร่วมกันกระทำการเป็นซ่องโจร

7) ร่วมกันต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงาน

8) ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

9) ร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการและทำให้เสียทรัพย์

ดังนั้น เมื่อรวมกับข้อหาแรก จึงเท่ากับพวกเราทั้งหมดมีคดี 10 ข้อหา

จากข้อหาเหล่านี้ สิ่งที่ต้องเตรียมจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของการเตรียมสู้คดี เพราะในทางคดีนั้น เป็นคดีการเมือง จนการคิดเตรียมอาจไม่มีความหมายเลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความต้องการของรัฐบาลมากกว่า

อีกทั้งเราเองก็รับรู้กันเสมอมาว่า กระบวนการยุติธรรมภายใต้เงื่อนไขการรัฐประหารนั้น เป็นสิ่งที่คาดหวังความ “ถูกต้องและเป็นธรรม” ไม่ได้ อีกส่วนเป็นเพราะนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม ก็มาโดยตรงจากศาล เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้สิ่งที่ต้องเตรียมมีประการเดียวคือ “เตรียมใจ” ที่จะอยู่นาน หรืออย่างน้อยก็ต้องอยู่จนกว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นจริง

กล่าวคือ “นักโทษการเมืองเข้าคุกด้วยการเมือง และก็ออกจากคุกด้วยการเมือง” ไม่มีเป็นอื่น!

ในช่วงนั้น จึงมีที่ฝ่ายขวาจัดปล่อยออกมาพร้อมกับการจัดฉาก เพื่อแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยเป็น “คลังแสง” ที่ศูนย์นิสิตฯ ใช้ในการสะสมอาวุธ ข่าวของอุโมงค์ที่ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของความขบขันที่เห็นชัด แต่สำหรับพวกฝ่ายขวาแล้ว พวกเขาเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัย

ในส่วนที่จุฬาฯ เองก็ตกเป็นเป้าหมายของตรวจค้นอย่างหนัก ผมทราบว่ามีการส่งกำลังเข้าตรวจค้นตึกจักรพงษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่านอกจากอาวุธที่ถูกสร้างให้เป็นข่าวที่ธรรมศาสตร์แล้ว จุฬาฯ ก็น่าจะมีอาวุธซุกซ่อนอยู่เช่นกัน

เพดานของห้องประชุมสโมสรนิสิต ชั้น 2 ของตึกจักรพงษ์เป็นจุดที่ถูกเพ่งเล็ง เมื่อไม่พบอาวุธ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ละความพยายาม เป้าหมายต่อมาคือ ท่อแอร์ของห้องประชุมดังกล่าว เพราะเชื่อว่าน่าจะมีอาวุธในท่อนี้ จึงมีการใช้เครื่องตัด ตัดท่อแอร์ออกเป็นส่วนๆ เพื่อค้นหาอาวุธ และลงเอยด้วยการไม่พบอาวุธ

คงไม่แปลกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้จะเชื่อเรื่องคลังแสงหรือที่สะสมอาวุธในมหาวิทยาลัยอย่างไม่ต้องคิดด้วยเหตุผลใดๆ

คงต้องยอมรับว่าสื่อฝ่ายขวาจัดประสบความสำเร็จอย่างมากในการ “ปลุกระดมและโฆษณาชวนเชื่อ” เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมพวกเราในสายของวันที่ 6 นั้น มีความรู้สึกว่า พวกเราไม่ได้แสดงอาการกลัว จึงเป็นคำตอบสำหรับพวกเขาว่า เป็นเพราะพวกเราผ่านการฝึกยุทธวิธีทางทหารมาแล้ว จึงไม่กลัวการจับกุม…

ยืนยันเลยครับว่า “กลัว” เพราะเรามักจะถูกถามเสมอว่า ไปฝึกอาวุธที่ไหนมา อยากจะตอบจริงๆ ว่า ไปฝึกที่ “เขาชนไก่” ตอนเรียน รด.ปี 3 เท่านั้น ไม่ได้เคยเดินทางไปไกลในลาวเหนือ หรือในเวียดนามเหนือ ซึ่งถ้าพวกเรามีอาวุธและได้ฝึกทางยุทธวิธีจริงแล้ว เช้าวันที่ 6 จะเป็นอีกแบบหนึ่งแน่นอน

ดังนั้น หลังจากรัฐบาลยอมให้มหาวิทยาลัยมาเป็น “นายประกัน” เพื่อนำนิสิต-นักศึกษาออกจากที่ควบคุมของตำรวจแล้ว พวกเราทั้งหมดจึงถูก “สกรีน” ให้เหลือเพียง 18 คน และแบ่งที่คุมขัง 3 แห่ง คือ 6 คนที่ถูกจับชุดแรกในฐานะคณะเจรจาของศูนย์นิสิตฯ อยู่บางขวาง

ผู้นำนักศึกษา ผู้นำกรรมกร และประชาชนอีก 10 คนอยู่บางเขน (คุมขังที่โรงเรียนพลตำรวจที่บางเขน)

ส่วนผู้นำนักศึกษาหญิงอีก 2 คนอยู่ที่เรือนจำหญิงคลองเปรม

และพวกเรามีชื่อที่ใช้ในการรณรงค์ทางสากลว่า “คดีกรุงเทพฯ 18” (The Bangkok 18) แม้ต่อมาจะมีผู้แสดงละครถูกจับกุมเพิ่มเติมอีก 1 คนก็ตาม

 

เพิ่มข้อหา!

เพื่อให้การควบคุมตัวพวกเราไม่ต้องพึ่งอยู่กับกฎหมายปกติ ในเวลาต่อมาจึงมีการตั้งข้อหา “การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” เพิ่มเติมเข้ามา (รวมเป็น 11 คดี)

ว่าที่จริงก็ไม่ผิดคาด เพราะเราถูกมองด้วย “แว่นตาขวาจัด” มาก่อนแล้วว่า เป็น “สหาย” และเชื่ออีกว่าศูนย์นิสิตฯ เป็นองค์กรบังหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์ อีกทั้งการตั้งข้อหาเช่นนี้ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมพวกเราด้วยกฎหมายพิเศษ และยังเป็นเงื่อนไขโดยตรงที่คดีจะถูกนำขึ้นสู่ศาลทหาร แม้การจับกุมจะเกิดก่อนการรัฐประหารก็ตาม ข้อหาคอมมิวนิสต์จึงไม่เกินความคาดหมาย

ดังนั้น พวกเราจึงเริ่มปรับตัวกับชีวิตในบางขวาง และตระหนักดีว่านักต่อสู้ทางการเมืองในทุกยุคล้วนเดินทางผ่านเส้นทางนี้ไม่แตกต่างกัน พวกเราทั้ง 18+1 เป็นเพียงคนอีกรุ่นหนึ่งที่เดินบนถนนนี้

ฉะนั้น จึงอยู่ด้วยความเชื่อมั่นเสมอว่า คุกขังคนได้ แต่ขังจิตวิญญาณของเสรีชนไม่ได้!