ตุลารำลึก (6) รุ่งอรุณแห่งการสังหาร/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (6)

รุ่งอรุณแห่งการสังหาร

 

“ไม่มีใครคาดคิดหรอกว่า การออกจากธรรมศาสตร์ในวันนั้น จะแปรฐานะของเราจากนิสิตนักศึกษาธรรมดา มาเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอุกฉกรรจ์”

สุธรรม แสงประทุม

เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2519)

 

การเปิดยุทธการ “ขวาทมิฬ” ที่เริ่มด้วยการระดมพลของกลุ่มขวาจัด และเข้าพลบค่ำของวันที่ 5 ตุลาคม เริ่มมีการใช้อาวุธปืนสั้นยิงเป็นระยะ

แต่พอดึกขึ้นแล้ว การระดมยิงเริ่มเกิดขึ้นจริงๆ และคงจะไม่ใช่การใช้ปืนสั้นเช่นช่วงค่ำ และเสียงปืนดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพของคนเสียชีวิตบริเวณหน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ น่าจะเกิดจากพลซุ่มยิง เพราะเพื่อนเราที่เสียชีวิตอยู่ด้านข้างที่เป็นมุมเยื้องกับคณะนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นความชัดเจนว่า ถ้ายิงจากด้านหน้าทางด้านสนามหลวงเข้ามาแล้ว ย่อมไม่น่าจะทำให้เพื่อนๆ ที่อยู่บริเวณนั้นเสียชีวิต จึงเป็นไปได้อย่างมากว่า การยิงน่าจะเกิดจากทางด้านอาคารของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ

เวลาที่คล้อยดึกในยามนี้ ไม่ช่วยให้พวกเราที่เป็นกรรมการศูนย์นิสิตฯ หลับตาลงนอนได้เลย ผมตัดสินใจลงมาจากตึก อมธ. มาดูสถานการณ์ด้วยตัวเอง

พอถึงหน้าอาคารของคณะนิติฯ ผมตัดสินใจหลบตัวลงต่ำ และเริ่มคลานมาจนถึงหัวมุมตึก ภาพของเพื่อนที่นอนจมกองเลือดยังอยู่ในความทรงจำจนถึงวันนี้

ทุกครั้งที่ต้องเดินเข้าประตูทางด้านหอประชุมใหญ่ อดที่จะนึกถึงภาพของดึกวันนั้นไม่ได้ จนถึงวันนี้ผมยังไม่ทราบเลยว่าเพื่อนเหล่านั้นชื่ออะไร และเป็นใคร… พวกเขาเป็นผู้เสียชีวิตชุดแรกที่ผมเห็นด้วยตาตัวเอง

 

การโจมตีเริ่มแล้ว!

ผมเคยอยู่ในการชุมนุมที่ถูกฝ่ายต่อต้านก่อกวนหลายครั้ง จำได้ดีว่าในช่วงที่อยู่กับพี่ๆ กรรมกรที่อ้อมน้อย มีการก่อกวนด้วยการยิงปืนเข้ามาในที่ชุมชน มีพี่กรรมกรบาดเจ็บ และพวกเราต้องพาคนเจ็บไปโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ได้เป็นการโจมตี เป็นแค่การก่อกวน

หรือในหลายการชุมนุมที่กลุ่มปีกขวาจัดก่อกวนด้วยการยิงบ้าง ก็ไม่ใช่การยิงขนาดใหญ่

หรือแม้ในการเดินขบวนที่ต้องเผชิญกับการก่อกวนที่แรงที่สุดคือ การโยนระเบิดสังหารจากอาคารสูงในบริเวณสยามสแควร์ใส่ขบวนที่กำลังเคลื่อนไป แต่เป็นการโจมตีอย่างจำกัด และเรายังสามารถควบคุมการชุมนุมให้เดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

คงต้องยอมรับความจริงว่า พวกเราไม่เคยเผชิญกับการโจมตีในมิติทางทหารจริงๆ จึงไม่มีจินตนาการในประเด็นเช่นนี้มาก่อน

และหากคิดจะวางแผนรับมือกับการโจมตีด้วยอาวุธยิงเช่นนั้น ก็อาจเป็นไปไม่ได้เลย ศูนย์นิสิตฯ ไม่ใช่องค์กรติดอาวุธ และผู้ชุมนุมเองไม่ใช่กำลังพลที่ได้รับการฝึกทางยุทธวิธีมาแล้ว อีกทั้งยังอาจกล่าวได้อีกว่า เราไม่ได้ดัดแปลงให้ตัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น “ป้อมสนาม” เพื่อรับมือกับการเข้าตีเช่นนั้น

เมื่อการโจมตีเกิดขึ้น ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตของผู้ชุมนุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้ว่าการต้านทานการเข้าตีของ “กองกำลังติดอาวุธ” ของฝ่ายขวาในรอยต่อจากช่วงดึกของคืนวันที่ 5 ต่อเข้ารุ่งสางของวันที่ 6 นั้น จึงไม่ต่างอะไรกับสำนวนที่ว่า “ปิดประตูตีแมว” หรือมีอดีตนายทหารบางท่านเคยกล่าวเปรียบว่า วันนั้นเป็นเสมือนการ “ยิงนกในกรง”

พวกเราที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เลย และมากที่สุดของการป้องกันตนเองได้คือ อาศัยตัวตึกเป็นที่หลบกำบังการถูกยิง และจินตนาการที่มีก่อนวันที่ 6 ที่มองว่า หากฝ่ายขวาจัดก่อการรัฐประหารแล้ว เราจะรับมือและสลายการชุมนุมได้ทัน เป็นอันว่าจบไปกับสถานการณ์หน้างานตั้งแต่เวลายามดึกของคืนวันที่ 5 แล้ว

แต่สิ่งที่จำจนวันนี้คือ การยิงเปิดทางด้วยเครื่องยิงระเบิดเอ็ม-79 พร้อมกับเสียงปืนที่ดังตลอดเวลา เสมือนเรากำลังตกอยู่ในภาวะสงครามจริงๆ

ซึ่งก็อาจจะต้องเรียกว่าเป็น “สงครามการล้อมปราบ” ของฝ่ายขวาจัดที่เดินหน้าด้วยความเชื่อว่า การล้อมปราบจะเป็นหนทางของชัยชนะ เพราะด้วย “แว่นตาที่ใช้เลนส์ขวาจัด” นั้น การจัดการกับฝ่ายตรงข้ามด้วยมาตรการของการใช้กำลังกับฝ่ายตรงข้ามดูจะเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายขวาคุ้นเคย

และทั้งเป็นประวัติศาสตร์ของฝ่ายขวาทั่วโลก ดังจะเห็นได้ว่าการขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายขวาที่สำคัญในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นมุสโสลินีในอิตาลี หรือฮิตเลอร์ในเยอรมนีก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กลไกของกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายขวาเป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายฝ่ายตรงข้าม…

บริบทที่กรุงเทพฯ ในปี 2519 ก็ไม่ได้แตกต่างกัน และฝ่ายขวาจัดไทยเองอยู่ในทิศทางเดียวกัน และอาจเปรียบในบางมุมได้ว่ากลุ่ม “กระทิงแดง” ตลอดรวมถึงองค์กรอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน อาจคล้ายคลึงกับองค์กร “เสื้อสีน้ำตาล” [หรือพวก Brownshirts (Braunhemden) ที่เป็นกองกำลังกึ่งทหารของพรรคนาซี] และมีหน้าที่คล้ายกันในการจู่โจมฝ่ายตรงข้าม

 

รุ่งสางที่รอคอย!

พวกเราที่เป็นกรรมการศูนย์นิสิตฯ ยังมีความหวังอยู่บ้างว่า หากรุ่งสางของวันที่ 6 มาถึงได้จริงแล้ว จะยังพอมีโอกาสของการประกาศยุติการชุมนุม และพาผู้ชุมนุมออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างปลอดภัย

และคาดคะเนในอีกมุมหนึ่งว่า ถ้าเดินไปในทิศทางเช่นนั้น พวกเราอาจต้องมอบตัวหรือถูกจับกุม แต่แอบฝันอยู่สักนิดว่า พวกเขาอาจยอมให้ผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษากลับออกไป

แต่ความหวังดูจะหดหายไปกับความรุนแรงที่ทวีมากขึ้น เพราะแม้ขอบฟ้าจะเริ่มสว่างขึ้นก็จริง แต่เสียงปืนจากการระดมยิงยังคงดังขึ้นต่อเนื่อง

ทางเลือกที่เหลืออยู่และดีที่สุดในขณะนั้นคือ ต้องหาทางติดต่อกับรัฐบาลให้ได้ เพื่อเจรจาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าควบคุมการยิงจากภายนอกเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพราะในช่วงที่ฟ้าสางแล้ว เราเริ่มเห็นชัดเจนถึงการเสียชีวิตและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น

ซึ่งต้องขอยกเครดิตอย่างมากให้กับฝ่ายแพทย์และพยาบาลในช่วงนั้น เพราะพวกเขาหลายคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือคนเจ็บ และพยายามพาผู้บาดเจ็บเข้ามาด้านใต้ถุนตึกของคณะบัญชี ซึ่งพอจะเป็นที่ใช้กำบังการยิงจากภายนอกได้ เพราะพื้นที่ของสนามฟุตบอลนั้น มีความไม่ปลอดภัย และเห็นภาพของผู้เสียชีวิตบางคนนอนสงบนิ่งอยู่กลางสนาม…

ไม่เคยคิดเลยว่า ชีวิตในความเป็นนิสิตนักศึกษานั้น เราจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้

พร้อมกันนั้น เสียงจากเวทียังคงประกาศขอให้ผู้ที่ใช้อาวุธจากภายนอกหยุดยิง เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารเดียวที่จะส่งข้อความออกไปยังนอกรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งที่รู้ว่ากองกำลังกึ่งทหารของฝ่ายขวาที่มีเจ้าหน้าที่บางส่วนเข้ามาร่วมสมทบทุนด้วยนั้น อาจจะไม่ฟังเสียงสื่อสารจากพวกเรา เพราะ “จักรกลสังหาร” ได้เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่การยิงเอ็ม-79 เข้ามาในสนามฟุตบอลแล้ว

ซึ่งการยิงดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการจู่โจมในการเข้าตีที่หมายของฝ่ายข้าศึก ในมุมมองของพวกเขานั้น นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ “ข้าศึก” ในทางทหาร อีกทั้งการปลุกระดมและการใส่ร้ายป้ายสีที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง ทำให้กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายขวาเชื่อว่า การสังหารในเช้าวันที่ 6 มีความชอบธรรมในตัวเอง ดังเช่นการนำเสนอวาทกรรมเรื่อง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

การติดต่อกับทางรัฐบาลใช้เวลานานมากกว่าที่เราคิด และยิ่งในสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้ เวลาแต่ละนาทีที่เนิ่นนานออกไป มีความหมายอย่างยิ่งกับชีวิตของผู้ชุมนุม

จนในที่สุดคุณเจษฎา อังวิทยาธร (รองนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล) ก็สามารถติดต่อกับทางรัฐบาลได้ และทางเราได้รับแจ้งว่า พวกเราจะได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักซอยเอกมัย

และทราบจากคุณสุธรรม ซึ่งเป็นเลขาฯ ศูนย์นิสิตฯ ในเวลาต่อมาว่า คนที่เราติดต่อได้คือ คุณเจริญ คันธวงศ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

และทางรัฐบาลยังแจ้งว่า จะมีเจ้าหน้าที่มารับเราออกไปบ้านนายกรัฐมนตรี โดยจะออกทางประตูท่าพระจันทร์ เนื่องจากประตูด้านอื่นนั้น ไม่ปลอดภัย แม้กระทั่งประตูท่าพระจันทร์เองก็ตาม

ผู้แทนรัฐบาลได้ขอให้คุณสุธรรมพาตัวผู้แสดงละครในวันที่ 4 มาด้วย ทางกรรมการศูนย์นิสิตฯ ได้ตกลงกันว่า นอกจากคุณสุธรรมแล้ว จะมีคุณประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ (นายกองค์กรนักศึกษาเทคโนโลยีพระจอมเกล้า) พร้อมกับกรรมการอีกคน แต่เผอิญกรรมการคนดังกล่าวไม่พร้อม ผมจึงถูกขอให้ไปกับคณะนี้ ฉะนั้น นอกจากจะมีกรรมการศูนย์นิสิตฯ 3 คนแล้ว ก็มีผู้แสดงละครอีก 3 คน ไปด้วยกัน

ภารกิจของการไปบ้านนายกฯ ครั้งนี้ จึงเป็นดัง “คณะผู้เจรจา” เพราะเป้าหมายหลักของการเดินทางคือ ต้องการเจรจาให้รัฐบาลเข้าควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงจากบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขอที่จะพาผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่

ดังนั้น จึงอยากขอยืนยันว่า กรรมการศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้เดินทางเข้ามอบตัว ดังที่ปรากฏจากข่าวของรัฐบาลในเวลาต่อมา

หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่ปรากฏในนิทรรศการในวาระครบรอบ 40 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ก็ยังถูกนำเสนอว่า กรรมการศูนย์นิสิตฯ เข้ามอบตัวกับรัฐบาลในเช้าวันที่ 6

สาเหตุที่ต้องกล่าวให้ชัดเจนในประเด็นนี้ เพราะต่อมาในภายหลัง ข่าวชิ้นนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการโจมตีทางการเมืองว่า พวกเราทั้งสามคนที่เป็นกรรมการนั้น หนีเอาตัวรอด ไปมอบตัวกับรัฐบาล

ฉะนั้น จึงต้องขอยืนยันอีกครั้งว่า พวกเราไม่ได้ไปมอบตัว แต่ไป “เจรจาหยุดยิง” และหวังอย่างมากว่า เราจะสามารถยุติความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นได้

แต่เราแทบไม่เฉลียวใจเลยว่า การเดินทางไปพบนายกฯ ในเช้าวันที่ 6 นั้น อาจจะเปลี่ยนชีวิตของพวกเราทั้งหมด ไม่ใช่แค่พวกเราทั้งหกคนที่กำลังจะออกเดินทางจากท่าพระจันทร์ไปเอกมัย

 

ไปถึง แต่ไม่ถึง!

แล้วรถกระบะตำรวจของสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามก็มารอเราที่ประตูท่าพระจันทร์ สารวัตรใหญ่มาพร้อมกับตำรวจจำนวนหนึ่ง เราออกเดินทางราวเจ็ดโมงเช้า โดยมีบ้านนายกฯ ที่เอกมัยเป็นจุดหมายปลายทาง

ผมยอมรับว่าเป็นการเดินทางที่มีความว้าวุ่นใจอย่างมาก เพราะสถานการณ์ที่เราผ่านมามีความรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนอดคิดไม่ได้ว่า การพบนายกฯ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จดังที่พวกเราหวังเพียงใด เพราะการพบครั้งนี้มีชีวิตของพวกเราอีกหลายคนเป็นเดิมพัน

ในที่สุด รถตำรวจได้พาพวกเรามาถึงบ้านนายกฯ แต่เมื่อมาถึงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้คุณสุธรรม แจ้งรายชื่อของคณะพวกเราทั้งหมด และคำตอบในเวลาถัดมาที่ทำให้พวกเราต้องแปลกใจอย่างมากคือ ท่านนายกฯ ไม่อยู่บ้าน และขอให้ไปพบอธิบดีตำรวจแทน…

ความอึมครึมเริ่มเกิดในใจ แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเดินทางต่อไปกับตำรวจ โดยไม่ได้รับรู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นที่ธรรมศาสตร์

สิ่งที่เกิดขึ้นจากนี้จึงเป็นดัง “การเดินทางไกล” ของชีวิตของคนรุ่นผมในปีนั้น!