ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 22-28 ตุลาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

วัลยา วิวัฒน์ศร จบประสบการณ์ “เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19” (หน้า 30) ลงในฉบับนี้

แต่เป็นการจบแบบ “ไม่จบ”

ในแง่ปัจเจก

อาจารย์วัลยายังต้องมีภาระฟื้นฟูทั้งทางกายและใจ

ทางกาย คำถาม “เหนื่อยไหม” คือสิ่งที่ต้องปลดเปลื้อง

ด้วยความเหนื่อยนั้นเป็นทุกข์สำคัญของผู้ป่วยเป็นโควิด

ทุกข์ขั้นว่าพูดเพียงสองสามประโยคก็เหนื่อยแล้ว

เขียนหนังสือแทบไม่เป็นตัว เพราะข้อมือและนิ้วไม่มีแรง

แม้แต่เปิดทีวียังไม่ได้ เพราะกดรีโมต 2 ตัวไม่ถูก

 

“คําว่า Long COVID…(เป็น) อาการเรื้อรังหลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีมากมาย

ที่เกิดแก่ดิฉันคือ นอนไม่หลับทั้งกลางวันกลางคืน ดิฉันไม่เคยมีปัญหาเรื่องการนอนมาก่อน

เส้นผมก็ร่วงมากกว่าปกติ…

ความจำเสื่อม (แต่อาจเป็นเรื่องของอายุด้วย)

…ดิฉันไม่คาดหวังให้ตนเองกลับมาแข็งแรง 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม

หากได้พละกำลังกลับมาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ดิฉันก็พอใจยิ่งแล้ว…”

 

นั่นคือ “เรื่องยังไม่จบ”

อันเป็นอาการทางกาย

แต่สำหรับทางใจ การสูญเสีย “คู่ชีวิต” ไปพร้อมๆ กับการป่วยของตนเองนั้น

แม้อาจารย์วัลยาจะเขียนถึงอย่างเรียบๆ

แต่ในภาวะเรียบๆ กลับมากด้วยความรู้สึก

“…น้องสาวและครอบครัวเป็นธุระในการฌาปนกิจ (สามี) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม

หลานส่งวิดีโอมาให้ดิฉันซึ่งยังรักษาตัวอยู่ที่ตึกสมเด็จย่าดู

เป็นธุระในการทำบุญครบ 7 วันเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม

ทำสังฆทานเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับครอบครัวผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ดิฉันได้ดูวิดีโอเช่นเดิม

เป็นธุระในการทำบุญครบ 50 วันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม

(ซึ่ง) เป็นงานแรกที่ดิฉันได้ไปร่วมอุทิศส่วนกุศลให้สามี”

การเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้ยากที่จะผ่านไปได้จริงๆ

ซึ่งเราคงต้องร่วมให้กำลังใจอาจารย์วัลยาให้สามารถฟื้นฟู “ใจ” กลับมาให้แข็งแรงโดยเร็วเช่นกัน

 

นั่นเป็นเรื่องในแง่ปัจเจก

ส่วนในแง่ “พหุ”—อันเป็นประสบการณ์ร่วมของคนในสังคมจากโรคโควิด-19

บทความพิเศษของ

จักรกฤษณ์ สิริริน

เรื่อง “Generation Pandemic/เด็กรุ่น COVID/มองอนาคตผ่านกระจกฝ้า” (หน้า 37)

ได้ฉายภาพของ “เด็กรุ่น COVID” ทั่วทุกมุมโลก อย่างน่าห่วงใย

ด้วยคนสาวคนหนุ่ม ควรเป็นกลุ่มคนผู้ขับเคลื่อนโลกทุกยุคทุกสมัย

แต่ในสถานการณ์ของ “เด็กรุ่น COVID” อยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ไปเรียนหนังสือเหมือนเคย

ประสบความไม่แน่นอนหลังจบการศึกษา และสภาวะการไม่มีงานทำ

 

จักรกฤษณ์ สิริริน บอกว่า การที่ “เด็กรุ่น COVID-19” หรือ Generation Pandemic ถูกกักตัวเป็นเวลานาน มีส่วนทำให้หลายคนเกิดความสับสน

นิสิตนักศึกษาที่เรียนจบในปีการศึกษา 2021 กำลังเข้าสู่ชีวิตการทำงานที่มาพร้อมกับรูปแบบ “การทำงานจากบ้าน” หรือ Work from Home

ดังนั้น ประสบการณ์ทำงานของเขาและเธอ จึงถูกจำกัดอยู่แค่พื้นที่เล็กๆ เป็นห้องส่วนตัว หรือห้องรับแขก

ซึ่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำชี้ว่า “การที่คนรุ่นใหม่เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยรูปแบบ Work from Home นั้น หลายคนประสบปัญหาเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน”

“เราเชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำในที่ทำงานจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพนักงานใหม่ในยุคโควิด ไม่มีทางเข้าถึงกลุ่มพนักงานหลักที่เคยทำงานในออฟฟิศช่วงก่อนโควิด”

 

นี่จึงเป็นชะตากรรมอันน่าห่วง

ของคนรุ่น Generation Pandemic

คำว่า Long COVID

คำว่า “ไม่จบ”

เป็นภาวะที่เราหลีกเลี่ยงยาก

รวมถึงเมื่อการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

คงมีเรื่อง “ไม่จบ” ให้เผชิญอีกมาก!!