ตุลารำลึก (5) ฟ้าไม่ทันสาง!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (5)

ฟ้าไม่ทันสาง!

 

“น้ำตาที่ปนไปกับสายเลือดวันนั้น ไม่ใช่เพราะความกลัว แต่มันคือความแค้นที่สุมแน่นอยู่เต็มอกของเยาวชนคนหนุ่มสาวอย่างเรา”

สุธรรม แสงประทุม

เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2519)

 

สถานการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่ช่วงเย็นต่อเข้าช่วงค่ำของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 มีความไม่ปกติเป็นอย่างยิ่ง

การปลุกระดมของกระแสขวาจัดทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการสื่อสารของสถานีวิทยุยานเกราะ ที่นำเอาภาพของการแสดงละครที่ลานโพธิ์ในวันที่ 4 ตุลาคม มาเป็นประเด็นการเคลื่อนไหว

และดูเหมือนว่ายิ่งค่ำมากเท่าใด การปลุกระดมก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการเปิดประเด็นในเรื่องของการ “หมิ่นสถาบัน” ซึ่งถูกนำเอามาเป็นจุดหลักของการปลุกระดม และฝ่ายขวาจัดเชื่อเสมอว่า การนำเอาเรื่องสถาบันระดับสูงของชาติมาใช้จุดกระแสการเคลื่อนไหว จะยิ่งทำให้คนออกมาร่วมในการต่อต้านการชุมนุมของนิสิตนักศึกษามากขึ้น

และที่สำคัญคือ ความเชื่อว่าการใช้ประเด็นเรื่องสถาบันในการจุดกระแสการเคลื่อนไหว จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายขวาจัด

ผมยังจำได้ดีจนวันนี้ว่า เสียงปลุกระดมที่ดังขึ้นตลอดเวลาจากสถานียานเกราะนั้น เป็นความน่ากลัวอย่างมาก เพราะทั้งเสียงและข้อความที่นำมาใช้ในการโจมตีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บ่งชี้ถึงทิศทางการเมืองในอนาคตอย่างชัดเจนว่า กระแสขวาจัดกำลังรุนแรงขึ้นจริงๆ แล้ว

ในด้านหนึ่งผมเริ่มรู้สึกอย่างมากว่าสถานการณ์ดูท่าจะหนักหน่วงมากกว่าที่เราคิด

และมองไม่เห็นเลยว่า กระแสขวาที่ถูกปลุกขึ้นมาจะกดให้ลดลงได้อย่างไร ด้วยประเด็นที่ถูกนำขึ้นมาใช้ในการสร้างกระแสนั้น ยากที่ลดกระแสลงได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความแรงของกระแสขวาทำให้ต้องตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังก้าวจาก “ขวาพิฆาตซ้าย” ไปสู่สิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่า “ขวาทมิฬ” ที่มีทั้งความ “เกลียดชังและความเกรี้ยวกราด”

เพราะการปลุกระดมโดยสถานีวิทยุยานเกราะกำลังเดินไปสู่การเรียกร้องให้เกิด “การสังหาร” อย่างชัดเจน

 

ปลุกกระแสขวา

เมื่อเวลาย่ำค่ำมากขึ้น สิ่งที่ผมเริ่มกังวลอย่างมากก็คือ เสียงเตือนจากอาจารย์จุฬาฯ เมื่อพลบค่ำยังคงก้องอยู่ในความคิดถึงการรัฐประหารที่กำลังจะมา

ขณะเดียวกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เริ่มบอกถึงความไม่ปกติ ซึ่งคงต้องยอมรับว่าแนวคิดในการต่อต้านรัฐประหารที่เคยคุยกันมาบ้างนั้น อาจจะเป็นเพียงภาวะ “ฝันกลางวัน”

เช่น เราเคยคิดกันว่าถ้าฝ่ายขวาจัดตัดสินใจทำรัฐประหารแล้ว พวกเขาจะต้องเคลื่อนย้ายกำลังออกจากหน่วยรถถังที่เกียกกาย และกว่ารถถังจะมาถึงบริเวณสนามหลวง ก็น่าจะใช้เวลาพอสมควร และจะเป็นโอกาสให้พวกเราพาผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทันท่วงที

คงต้องยอมรับว่าเราประเมินสถานการณ์เช่นนี้ด้วย “ความไร้เดียงสา” เป็นอย่างยิ่ง

หากย้อนเวลากลับไปแล้ว ผมรู้สึกกับตัวเองเสมอว่า การเตรียมรับมือกับการรัฐประหารในช่วงนั้น เป็นความ “ละอ่อน” ในทางความคิดเป็นอย่างยิ่ง พวกเราคิดแบบเด็กๆ ว่า เราจะรู้ทันทีที่รถถังออกจากกองพันทหารม้าที่เกียกกาย แล้วเราจะมีเวลารับสถานการณ์

แต่เราไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะประเมินว่า รัฐประหารครั้งใหม่อาจไม่มีความจำเป็นต้องเคลื่อนกำลังรบในแบบเดิม

เพราะเกมการเมืองในสภาวะเช่นนี้กำลังหลักย่อมไม่ใช่รถถังและกำลังทหาร

แต่กลายเป็น “มวลชนที่โกรธเกรี้ยว” ซึ่งพร้อมที่จะเล่นบทเป็น “นักฆ่า” ฝ่ายตรงข้ามได้โดยไม่ต้องยั้งคิด

เวลาค่ำที่คล้อยไปมากขึ้นเท่าใด โอกาสของการตัดสินใจสลายการชุมนุมยิ่งเป็นความยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น แต่เราก็มีความหวังว่าเราจะฝ่าข้ามคืนวันที่ 5 ไปได้ เพื่อที่จะสลายการชุมนุมในวันรุ่งขึ้น

พร้อมกันนั้นในช่วงราวสามทุ่มเศษ รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ออกประกาศที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้แสดงละคร แล้วเราก็ไร้เดียงสากันอีกครั้ง เพราะเรามองเพียงว่ารัฐบาลจำเป็นต้องลด “ความเชี่ยวกราก” ของกระแสขวาลง

เราไม่สามารถล่วงรู้สถานการณ์ในทางลึกในขณะนั้นได้เลยว่า เกิดอะไรกับความขัดแย้งในระดับบน โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหาร… พวกเขามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

ที่สำคัญพวกเขาจะตัดสินใจที่จะ “ปิดเกม” การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาหรือไม่ และใครจะฉวยโอกาสชิงอำนาจก่อน?

แต่สำหรับผมแล้ว ดูเหมือนว่าความหวังที่จะฝ่าข้าม “ค่ำคืนอันยาวนาน” ไปได้นั้น ชักเริ่มไม่แน่นอน

จำได้ดีว่าสักราวสี่ทุ่มเศษ ความผิดปกติเริ่มปรากฏชัด เมื่อมีคนมาแจ้งพวกเราที่เป็นกรรมการศูนย์กลางนิสิตฯ เป็นระยะว่า สถานการณ์ด้านนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางฝั่งประตูสนามหลวงดูจะไม่ปกติแล้ว

เราไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ความผิดปกติเช่นนี้กำลังจะนำไปสู่อะไร แต่เท่ากับยิ่งยืนยันความคิดในขณะนั้นว่า การตัดสินใจที่ไม่ยุติการชุมนุม และให้คนกลับในคืนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เรายังเชื่อว่าเราน่าจะฝ่าข้ามคืนนั้นไปได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ที่ประชุมศูนย์กลางนิสิตฯ ก็มีความเห็นว่า เราจะยุติการชุมนุมในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเรายังมีความหวังว่าเราจะคงสถานการณ์ของฝ่ายเราไปได้จนถึงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเราทั้งหมดและผู้ชุมนุมกำลังมีสภาพเหมือน “ติดกับ” อยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการปิดล้อมค่อยๆ เริ่มขึ้น พร้อมกับเริ่มมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ

 

ยิ่งดึก ยิ่งแรง!

สถานการณ์ที่คล้อยหลังไปกับเวลาที่เดินไปสู่ยามวิกาลมากขึ้นนั้น ไม่มีข่าวดีเข้ามาเลย มีข้อมูลเข้ามาว่า หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางด้านสนามหลวงมีกระทิงแดงเข้ามารวมพล และแฝงตัวรวมอยู่กับมวลชนฝ่ายขวาที่ถูกปลุกขึ้นมา

อีกทั้งข่าวรัฐประหารที่อาจารย์มาบอกตั้งแต่ตอนหัวค่ำ ยังคงวนเวียนอยู่ในหัว อันทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่ารัฐประหารน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

แต่จะเกิดในรูปแบบใด และเราจะพาคนออกจากพื้นที่การชุมนุมอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่

ความดึกของค่ำคืนวันที่ 5 ตุลาคม เป็น “ความน่ากลัว” อย่างยิ่ง ชัดเจนว่าการออกจากธรรมศาสตร์ทางด้านหน้าเป็นไปไม่ได้แล้ว พอจะเหลือทางออกได้บ้างทางประตูด้านท่าพระจันทร์ แต่ก็อาจจะอันตราย เพราะคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีกลุ่มขวาจัดอย่างกลุ่มกระทิงแดงดักคอยทำร้ายอยู่หรือไม่

ดังนั้น เมื่อเวลาล่วงเลยไปมากขึ้นเท่าใด สถานการณ์ก็ยิ่งดูจะทรุดลงไปมากขึ้นเท่านั้น

สภาวะเช่นนี้ ทำให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเป็นเสมือน “ป้อมค่าย” ที่ถูกปิดล้อม หรือหากมองจากวิชาประวัติศาสตร์สงครามแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคืนวันนั้นกำลังเผชิญกับ “สงครามป้อมค่ายประชิด”

แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้คิดทำสงครามกับรัฐ… เราไม่ได้มีขีดความสามารถที่จะแปลงให้พื้นที่การชุมนุมให้กลายเป็นป้อมสนามเพื่อรับมือกับการเข้าตีของข้าศึก และที่สำคัญ

เราไม่ได้มีขีดความสามารถทางทหารอย่างหนึ่งอย่างใดในการเตรียมต่อสู้กับฝ่ายเข้าตี

แต่ด้วยการปลุกระดมอย่างหนักและการป้ายสีอย่างต่อเนื่อง ภาพของศูนย์กลางนิสิตฯ ถูกสร้างให้เป็น “องค์กรติดอาวุธ” จนไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดากลุ่มขวาจัดทั้งหลายจะเชื่อว่า ในธรรมศาสตร์มีการซ่องสุมอาวุธ

เช่น เชื่อว่าตึกโดมเป็นที่เก็บอาวุธ หรือมีอุโมงค์ลับที่ตึกโดม เป็นต้น

หรือแม้กระทั่งในกรณีของตึกจักรพงษ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถูกมองด้วยความเชื่อแบบเดียวกัน พวกเราถูกสร้างภาพให้เป็นดัง “นักรบที่มีอาวุธครบมือ” และพร้อมที่จะใช้กำลังเข้าตอบโต้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่

ผมมาทราบในภายหลังว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วนถูกทำให้เชื่อว่า ผู้นำนักศึกษาบางส่วนและอาจจะรวมถึงผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าไปฝึกอาวุธในป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์

หรือแม้กระทั่งถูกสร้างว่าพวกเราเคยเข้าไปฝึกอาวุธในเวียดนามมาแล้ว เป็นต้น

การใส่ร้ายป้ายสีในยุคที่โลกยังไม่มีโซเชียลมีพลังมาก และมากพอที่จะทำให้คนส่วนหนึ่งมองโลกด้วยความ “สุดโต่ง” และเชื่อคล้อยตามไปกับการสร้าง “วาทกรรมของความเกลียดชัง” ที่เกิดจากการปลุกกระแสขวา

ดังนั้น พวกเขาจึงมั่นใจอย่างมากว่า จะมีอาวุธเป็นจำนวนมากถูกซ่อนเก็บไว้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตัวอย่างของการป้ายสีที่เกิดกับบรรดาผู้นำนักศึกษาอาจจะดูเป็นเรื่องชวนหัวสำหรับคนในยุคปัจจุบัน เช่น พี่เกรียง (คุณเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ – เลขาฯ ศูนย์กลางนิสิตฯ ปี 2518) มีชื่อเรียกในสื่อฝ่ายขวาว่า “ตี๋เคี้ยง” ซึ่งโดยนัยของคำเรียกคือ การเป็นสายคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ในยุคนั้น พวกเราเลยเรียกพี่เกรียงด้วยชื่อเล่นว่า “ตี๋เคี้ยง” ไปด้วย

หรือไม่บางทีพวกเราก็ถูกสวมว่าเป็น “เหงียน…” เพื่อชี้ว่าเป็นพวกญวน เป็นต้น

ซึ่งดูเหมือนพวกฝ่ายขวาจะปักใจเชื่อกับการป้ายสีเช่นนี้ รวมทั้งการใส่ร้ายในเรื่องอื่นๆ ด้วย อันทำให้การเคลื่อนไหวของศูนย์กลางนิสิตฯ ในสายตาของพวกเขากลายเป็น “สายจีน” หรือไม่ก็เป็น “สายญวน”…

นักศึกษาในขณะนั้นจึงมีนัยของการเป็นภัยด้านความมั่นคงโดยตรง และความเป็นภัยคุกคามเช่นนี้ จึงทำให้ฝ่ายขวาจัดเชื่อว่า นักศึกษาคือข้าศึกที่จะต้องใช้กำลังในการปราบปราม

 

รุ่งสางที่ห่างไกล

แล้วในที่สุด ปฏิบัติการเปิดการโจมตีเป้าหมายของข้าศึกในความหมายทางทหารก็เริ่มขึ้น เริ่มมีการระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากทางด้านประตูสนามหลวง เสียงปืนเริ่มดังต่อเนื่องมากขึ้น

แล้วสิ่งที่เราไม่เคยประเมินมาก่อนเกิดขึ้นตามมาในตอนดึก (น่าจะราวตี 3 เศษ) คือมีการใช้เครื่องยิงระเบิดแบบเอ็ม-79 ยิงเข้ามาในบริเวณสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีนิสิตนักศึกษาและประชาชนนั่งฟังการปราศรัย

ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้ลิ้มรสแรงระเบิดชนิดนี้ เพราะเคยทราบถึงอานุภาพจากหนังสือ

ผมยังจำได้ดีว่า เราอยู่กันในห้องประชุมขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) มีเสียงระเบิดดังอย่างมาก พวกเรารีบออกมาดูสถานการณ์ ถึงตอนนี้ต้องให้เครดิตกับผู้ควบคุมเวทีทั้งสามคือ หง่าว (คุณชวลิต วินิจจะกูล) ธง (อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล) และหัวโต (อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ซึ่งพวกเขาพยายามจะตรึงคนที่กำลังตื่นกลัวจากกระสุนระเบิดเอ็ม-79 พร้อมกับพยายามประกาศให้ผู้ชุมนุมถอยออกไปจากสนามฟุตบอล เพื่อเข้าไปหลบในตึกของคณะบัญชี

แล้วอีกสักพักใหญ่ กระสุนเอ็ม-79 ลูกที่สองก็ตามมา แต่โชคดีว่าลูกที่สองไม่ระเบิด ทำให้การสูญเสียไม่เกิดมากขึ้น

ต้องยอมรับว่า พวกเราเอง “ช็อก” กับการใช้ความรุนแรงของฝ่ายขวาจัดอย่างมาก ขณะเดียวกัน เราเริ่มเห็นผู้ชุมนุมบางส่วนต้องเสียชีวิตจริงๆ ทั้งที่สนามฟุตบอล และด้านหน้าหอประชุมใหญ่…

ความหวังที่จะพาการชุมนุมผ่านให้ได้ถึงเช้าเริ่มหมดลง

จนราวกับว่าเวลาของเช้าวันที่ 6 เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลอย่างมาก ทั้งที่นาฬิกาบนข้อมือผมก็เดินเป็นปกติ!