ณหทัย ทิวไผ่งาม รีเทิร์นสนามการเมืองอีกหน? จุดยืน ความฝัน และอัตลักษณ์ไทยรักไทย/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

ณหทัย ทิวไผ่งาม

รีเทิร์นสนามการเมืองอีกหน?

จุดยืน ความฝัน และอัตลักษณ์ไทยรักไทย

 

ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย บอกกับมติชนสุดสัปดาห์ว่า ในสนามการเมืองเธอยังไม่ได้หายไปไหน แต่จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้มีโอกาสได้ไปช่วยงานพรรคประชาชาติ เพราะว่าส่วนตัวได้เคยทำโครงการด้านการศึกษาในพื้นที่โรงเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่จังหวัดนราธิวาส, ยะลา และปัตตานี โดยได้ลงพื้นที่ทำมาตลอดระยะเวลาที่ออกจากหน้าฉากการเมืองสมัยตั้งแต่มีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตั้งแต่ตอนนั้นมาก็ได้ทำเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ให้กับเด็กๆ ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่เริ่มทำ เราก็คิดว่า อยากจะไปทดสอบการเรียนภาษาอังกฤษในแผ่นดินที่ห่างไกลที่แม้กระทั่งคนไทยก็ยังไม่กล้าเข้าไปอยู่ คนติดตั้งเสาอินเตอร์เน็ตที่เป็นภาคเอกชนก็ยังไม่กล้าเข้าพื้นที่ ตอนเพื่อไทยมีนโยบายโครงการแท็บเล็ตใหม่เราก็ไปทดสอบดูว่าจะเวิร์กหรือไม่ด้วย แล้วตอนนั้นเราก็ลงไปทำโครงการการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโดยนำครูโรงเรียนทิวไผ่งาม ที่เป็นครูชาวต่างชาติสอนออนไลน์แบบ real-time ใน 3 จังหวัด

สิ่งที่ค้นพบคือเด็กในพื้นที่เขามีศักยภาพมาก โดยปกติเขาก็สามารถพูดได้ 2-3 ภาษาอยู่แล้ว ทั้งภาษาท้องถิ่น, ภาษายาวี บางคนพูดมาเลย์ได้ พูดภาษาไทยได้ แล้วถ้าได้พูดภาษาอังกฤษอีกเขาสามารถที่จะเป็นเด็ก 4 ภาษาได้ ด้วยภูมิศาสตร์เขาอยู่ชายแดนซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจติดต่อกับประเทศมาเลเซีย หรือบางคนจะบินไปตะวันออกกลางเพื่อไปศึกษาต่อ

เด็กเหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลที่มีศักยภาพสูง แต่ที่ยังเป็นปัญหาสมัยก่อนคือเวลามีการทดสอบวัดระบบ ผลปรากฏออกมาคือมีเด็ก 3 จังหวัดมีผลการสอบที่ต่ำ แต่ถ้าไปดูจริงๆ ในพื้นที่มันไม่ใช่เลย มันคือโอกาสที่เขาเข้าไม่ถึงมากกว่า ด้วยสถานการณ์ที่ไม่สงบในชายแดนภาคใต้ บางทีเราลงไปจริงๆ มันก็อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงขนาดนั้น

แต่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความที่ไม่ได้มีการพูดกัน ต่างคนก็ต่างสงสัยกันไปหมด ซึ่งใครก็ตามที่พยายามไม่ทำความเข้าใจความแตกต่างก็ไม่ควรสวมหัวใจความเป็นครูเลย

ดร.อ้อเผยว่า จริงๆ แล้วก็ไม่เคยทิ้งกันเมืองเลยตั้งแต่เข้าการเมือง 2542 แต่คิดว่าเราอยู่ตรงไหนมันก็คือการทำงานทางการเมืองได้หมด เพราะการเมืองคือเรื่องของทุกคน ไม่ว่าเราจะไปอยู่ตรงไหน การอยู่ตรงนั้นยิ่งถ้าเราไม่มีตำแหน่งแต่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อันนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากกว่า

เพราะฉะนั้น เมื่อเราตั้งอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประเทศแบบนี้มันก็ไม่จำเป็นจะต้องเข้ามามีตำแหน่งไปอยู่ตรงไหนก็ได้

จนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ปี 2562) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้เข้ามาชวนว่าอยากให้มาช่วยเรื่องการศึกษา เพราะว่าเห็นจากงานที่เราได้ไปทำอยู่กับเด็กที่มีภาษา-วัฒนธรรมแตกต่างกันไป ตัวเราก็ไปทำโครงการมาทุกที่ไม่ว่าจะโรงเรียนชายขอบหรือที่ไหนในประเทศ โดยตั้งใจอยากบุกเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเราดีรู้ว่าทำไมเด็กไทยถึงไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้สักที เพราะว่าไปเน้น Grammar กับการท่องมากเกินไป จริงๆ มันต้องเริ่มจากการฟัง ต้องฟังให้มากที่สุด เปรียบภาพให้เห็นเหมือนเด็กแรกเกิดทุกคนก็ฟังก่อน ถึงจะพูดได้ มันก็แบบเดียวกันเลย ดังนั้น การลงพื้นที่ชายแดน เหมือนกับว่าเราได้ลงไปทำงานวิจัยด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งผลก็เป็นจริงตามที่เราคิด

ปัจจุบันนี้ก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานกับคณะกรรมการอำนวยการทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่มี ดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นคณะทำงานอยู่ด้วย ได้มีการมอบหมายคน 7 กลุ่มเพื่อทำวิชาออกมาเสริมการพัฒนาสมรรถนะ 6 ด้านที่เราอยากให้เด็กไทยเป็น ในปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป ซึ่งโรงเรียนทิวไผ่งามของเราได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปช่วยทำวิชาภาษาอังกฤษว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถพูดได้ เลยอยากจะบอกว่าไม่ได้หายไปไหนเลย แค่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองตลอดระยะเวลาเท่านั้นเอง

ส่วนที่เคยได้รับการเสนอชื่อจากพรรคประชาชาติให้เป็น 1 ในแคนดิเดตนายกฯ นั้น จริงๆ แล้วเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคประชาชาติที่อยากสื่อให้เห็นว่าความแตกต่างไม่ใช่เส้นกั้นของการที่คนคนหนึ่งจะไปสู่จุดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยได้ เป็นนัยยะที่พรรคประชาชาติเขาต้องการชูให้สังคมได้เห็นเท่านั้นเอง มีการเสนอ 3 คนก็มี 3 ศาสนา และก็มีผู้หญิงด้วย

ตอนนั้นถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคเขาอยากแสดงให้เห็น

 

ดร.อ้อบอกอีกว่า มาจนถึงวันนี้ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนหน้าเราก็ฟ้องอยู่แล้วว่านี่คือคนของไทยรักไทย จึงไม่ว่าจะอยู่ไหน ต้องบอกว่าที่พรรคเพื่อไทยเหมือนบ้าน Home is where the heart is คือมันไม่สำคัญว่าเวลาจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ แต่เรากลับมาบ้านเดิมเราก็พร้อมเสมอ จะอยู่ตรงไหน จะอยู่ตำแหน่งอะไร ทำอะไร ที่ให้เราได้มีโอกาสได้ผลักดันนโยบายที่ดีให้กับคนส่วนรวมให้กับประเทศชาติโดยเฉพาะในฐานะที่เราเป็นครู

ทุกคนก็รู้ว่าเรารักเรื่องนี้และทำเรื่องนี้มาตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ก่อนเข้าการเมืองมาจนถึงวันนี้และเราก็ไม่ได้ทำแค่เฉพาะบทบาทการเมือง เพราะเราก็ทำผลักดันเรื่องการศึกษาในชีวิตประจำวันจริงๆ

สิ่งที่เราเคยคิดไว้ในองค์กรเล็กๆ วันนี้ถ้าได้มาสังกัดพรรคการเมืองที่สามารถจะทำหน้าที่เป็นรัฐบาลได้ในอนาคตมันก็จะนำมาซึ่งการผลักดัน-การแก้ไขปัญหาซึ่งเราในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่เป็นแม่คนหนึ่งเป็นครูคนหนึ่ง ด้วยความที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษามาตลอดชีวิตและมีพลังที่อยากจะผลักดันตรงนี้ให้มันเกิดขึ้นให้มันมาอยู่ในนโยบาย ที่เชื่อได้ว่าพรรคการเมืองไหนที่คิดจริงทำจริง อันนี้เราว่ามันน่าสนใจ ดีกว่าอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วก็แก่ไป

วันนี้ก็เป็นช่วงจังหวะที่เป็นการปรับองคาพยพของพรรคก็เห็นมีเด็กๆ รุ่นใหม่เข้ามาเยอะหรือแม้แต่กระทั่งตอนเราไปช่วยพรรคประชาชาติก็มีคนรุ่นใหม่ๆ ก็ที่สนใจการเมืองเข้ามา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราชอบและดีใจว่าคนรุ่นใหม่มีความใส่ใจ

อย่างที่บอกว่าเวลาเด็กๆ เขาออกมาบอกอยากให้ผู้ใหญ่ฟังที่เขาออกมาตามท้องถนนนั่นคือเขาสนใจเรื่องการเมืองแล้ว แต่เราเองจะมีวิธีจัดการตัวเองอย่างไรให้มันเป็นการออกมาโดยสันติสุขและสร้างสรรค์

ภาพฝันที่เราอยากจะเห็น คือการที่จะพัฒนาคนหนึ่งคนและต่อเติมให้เขาไปถึงจุดที่เขาอยากจะไปได้ เช่น บางคนเขาไม่ได้อยากอยู่ในระบบการศึกษาแบบนี้ แต่เขาเป็นอยากจะเป็นนักดนตรี เขาอยากจะเป็นนักเล่นสเก๊ตบอร์ดระดับ Champion และเลี้ยงดูคนที่เขารักอยู่กับคนที่เรารักได้ โดยไม่เป็นภาระของคนอื่น

ถ้ามีประชากรแบบนี้ทั้งประเทศในไม่ช้า เราก็จะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วท็อปไฟว์ก็เป็นไปได้ เพราะจริงๆ แล้วทรัพยากรทั้งคนและทรัพยากรธรรมชาติเมืองไทยมันสมบูรณ์มหาศาล เชื่อว่าสังคมเราถ้าคนฟังกันให้มากขึ้นคุยกันให้มากขึ้น

ส่วนตัวคิดว่าก็คงไม่ต้องมีการออกมากลางถนนแบบทุกวันนี้

 

ปัจจุบันนี้ก็รู้สึกดีใจมากที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนและบทบาททางการเมืองมากขึ้น ตัวเองมีโอกาสเก็บบ้านจนไปเปิดเจอเอกสารเก่า ๆ ก็มีหนังสือพิมพ์ที่เราเคยลงในสมัยที่เราเป็น ส.ส.สมัยแรก

เราจดจำได้ว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตอนสมัยไทยรักไทยแรกเริ่ม เขามาชวนให้เรามาทำงานการเมืองเพราะว่าแทบจะไม่มีผู้หญิงอยากเข้าการเมืองเลย แล้วก็ตอนนั้นมีคุณพรพรรณ ฝึกการค้าที่เป็นเพื่อนกัน ก็เข้ามา

เราก็คิดว่าตอนแรกๆ ที่เข้ามาเป็นนักการเมืองคิดว่าจะมีแต่เรื่องเสียและต้องใช้เงินมโหฬารมหาศาล

แต่มาถึงวันนี้มันชัดเจนแล้วว่าการลงทุนทางการเมืองมันอยู่ที่ “สมอง” กับ “หัวใจ” เมื่อเรามีความตั้งใจและมีปัญญาที่จะช่วยคิดเอาประสบการณ์และความรู้ที่มีมาช่วยสร้างนโยบายที่ดีเพื่อเดินไปข้างหน้ากับการแก้ปัญหาย้อนไปข้างหลังได้

ดร.ณหทัยเล่าด้วยว่า สนามการเมืองที่เคียงคู่กับข่าวไม่ดี มีความเกลียดชังกันนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองหรอก ยุคนี้เป็นยุค Social Media ที่ข้อมูลไปเร็วมากแค่คุณโพสต์อะไรผิดนิดเดียว จนเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาให้เป็นที่กล่าวถึงคุณก็จะตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ มันไม่จำเป็นแล้วที่จะเป็นแค่นักการเมืองเท่านั้นที่จะโดนวิเคราะห์วิจารณ์

ถามถึงจุดยืนอุดมการณ์ ดร.อ้อบอกว่า ถ้าเราดูประชาธิปไตยในรอบโลกไม่มีรูปแบบไหนที่ซ้ำกันเลยเพราะว่าแต่ละที่มันบวกด้วยวัฒนธรรมความเป็นมาของประเทศนั้นๆ ในประเทศไทยนั้นความเป็นตัวตนของเราบวกเข้ากับความเป็นประชาธิปไตย ในชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมันไม่สามารถสุดโต่งไปได้ทุกอย่าง บางทีเราสุดขอบมากไปแล้ว ก็ต้องเอาตัวเองกลับมาอีกจุดหนึ่ง แล้วมาวิเคราะห์ดู ไม่มีอะไรที่จะสุดโต่งได้ ประชาธิปไตยต้องอยู่ด้วยความเข้าใจ ประเทศไทยเรามีตัวตนของเราอะไรที่มันจะเปลี่ยนเป็นหน้ามือหลังมือมันเป็นไปไม่ได้ แล้วที่เรายังอยู่ได้ทุกมาถึงทุกวันนี้ก็เพราะเรามีความเป็นไทยและวัฒนธรรมแบบนี้นี่แหละ

ส่วนตัวคิดว่าเรื่องความรักและถ้าฟังกัน ยิ่งเป็นผู้ใหญ่เท่าไหร่ต้องยิ่งฟังให้มากขึ้นเพราะเด็กจะเคารพเราที่เราฟังและเมื่อเด็กบ่นอยากระบาย เราต้องใช้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่มีเพื่ออธิบายให้เขาฟัง อย่าไปใช้อารมณ์อยู่กับเด็กรุ่นใหม่

เด็กจะนับถือเราเมื่อเรานิ่งฟังและให้ข้อคิดที่ดีกับเขาได้ให้เขาเดินไปในทางที่ถูกต้อง