เปิดหู | อูคูเลเล่เดือนละตอน : อูคูเลเล่ไม่ได้กำเนิดที่ฮาวาย

อัษฎา อาทรไผท

อูคูเลเล่เดือนละตอน : อูคูเลเล่ไม่ได้กำเนิดที่ฮาวาย

ถ้าเป็นเมื่อสักสิบสี่ปีก่อน หากได้ยินคำว่า อูคูเลเล่ จะมีชาวไทยไม่มากที่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ในทุกวันนี้ หลังจากที่อูคูเลเล่เข้ามาในไทยและโด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงปี 2010 คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ยิ่งเยาวชนที่เกิดหลังจากนั้น จะเห็นอูคูเลเล่เป็นเครื่องดนตรีสามัญ ที่ทุกวันนี้มีสอนกันเป็นปกติในระดับประถมตามโรงเรียนต่างๆ

เดิมที อูคูเลเล่ มีไว้บรรเลงเพลงสำเนียงฮาวาย และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของมนต์ขลังแห่งฮาวายชนิดแยกกันไม่ออก แต่แท้ที่จริงแล้ว อูคูเลเล่ ไม่ได้ถือกำเนิดที่ฮาวาย แต่มันเดินทางมาจากอีกซีกหนึ่งของโลก

ในปี 1879 เกิดวิกฤตภัยแล้งขึ้นที่เกาะมาเดรา ของประเทศโปรตุเกส ผู้คนประสบความยากลำบาก และอดอยากเนื่องจากทำการเพาะปลูกไม่ได้ ในเวลาเดียวกัน ณ ฮาวาย ซึ่งยังเป็นประเทศอยู่ในขณะนั้น มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่ขาดแรงงาน เพราะประชากรมีน้อย ทางการฮาวายจึงประกาศเปิดประเทศต้อนรับแรงงานจากต่างชาติ ให้อพยพเข้ามาทำไร่อ้อยที่ฮาวาย

ชาวมาเดราจำนวนหนึ่ง เห็นว่าภูมิประเทศของฮาวายก็คล้ายๆ กัน แม้อยู่คนละมหาสมุทร แต่ตั้งอยู่เส้นศูนย์สูตรใกล้ๆ กัน บรรยากาศน่าจะไม่ต่างกันนัก จึงตัดสินใจเดินทางข้ามมหาสมุทร รอนแรมกลางทะเลร่วม 120 วัน สู่ฮาวาย ดินแดนอันเป็นความหวังครั้งใหม่ของพวกเขา

การเดินทางยาวนานแบบนี้ ชาวมาเดราคลายเครียดบนเรือด้วยการร้องรำทำเพลง พวกเขาติดเอาเครื่องดนตรีตัวเล็กๆ มีสี่สาย นามว่า Machete de Braga (มาเชเต เด บรากา) มาด้วยเพื่อขับกล่อมจิตใจ

มีบันทึกไว้ว่า เมื่อเรือ Ravens Crag ซึ่งเป็นเรือที่พาชาวมาเดรากลุ่มแรกๆ มาถึงฮาวาย ผู้มาเยือนดีใจมาก คว้าเครื่องดนตรีออกมาร้องรำทำเพลงกันยกใหญ่ เจ้าบ้านนอกจากจะตื่นเต้นกับการมาของชาวโปรตุเกสแล้ว ชาวฮาวายยังได้พบเห็นกับสิ่งแปลกใหม่ เป็นเครื่องดนตรีที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน ต่างจากเครื่องดนตรีดั้งเดิมที่มีในฮาวาย ที่เป็นเครื่องเคาะ เครื่องเพอร์คัสชั่นทั้งสิ้น ไม่สามารถเล่นเป็นคอร์ดหรือเมโลดี้ได้อย่างเครื่องดนตรีแปลกใหม่ที่มาพร้อมชาวมาเดรานี้

ด้วยท่วงท่าของนิ้วที่ขยับไปมาอย่าว่องไวบนเฟร็ตขณะบรรเลงเพลง ชาวฮาวายเห็นว่าลักษณะการขยับนิ้วอันรวดเร็วนี้ แลดูเหมือนกับตัวหมัดกำลังกระโดด พวกเขาเลยเรียกเจ้าเครื่องดนตรีนี้ว่า “หมัดกระโดด” โดย “อูคู” แปลว่า ตัวหมัด และ “เลเล่” แปลว่า กระโดด ความหมายของชื่ออูคูเลเล่ คือ หมัดกระโดด นั่นเอง

สำหรับชื่อของอูคูเลเล่ ที่อื่นๆ ไม่ค่อยมีปัญหาในการเรียกนัก แต่ในไทย ผมพบว่ามักเรียกและเขียนกันไม่ถูกต้อง ที่พบบ่อยมากคือ อะคูเลเล่ และ อูกูเลเล่ ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้องทั้งคู่ สำหรับ อะคูเลเล่ อะคู ไม่ได้แปลว่า ตัวหมัด ส่วน อูกูเลเล่ นั้นยิ่งไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะภาษาฮาวายไม่มีออกเสียงตัว กอไก่ ปัญหานี้พบไปถึงใน วิกิพีเดียภาคภาษาไทยเลยทีเดียว (ใครมีส่วนเกี่ยวข้องรบกวนด้วยครับ)

ทุกๆ เย็นหลังเลิกงาน ชาวมาเดราจะมาร้องรำทำเพลงกันอย่างมีสีสัน เป็นที่ชื่นชอบของชาวฮาวายมาก ความนิยมชมชอบไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ประชาชนคนฮาวายทั่วไป แต่ไปถึงพระราชาของฮาวายในตอนนั้น พระราชาคาลาเคาอะ ( บางทีมีคนไทยเขียนชื่อท่านว่าเพี้ยนไปเป็น คาลาคาอัว )

ในยุคนั้นพระราชาของฮาวายพยายามอย่างแรงกล้า ที่จะปรับภาพลักษณ์ชาวเกาะดิบเถื่อน ให้เป็นผู้มีวัฒนธรรมตามแบบตะวันตก มีการปรับการแต่งตัว เครื่องยศแบบยุโรป มีการก่อสร้างพระราชวังหรูหรา และเดินทางเจริญสัมพันธไมตรีไปยังหลายๆ ประเทศ ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ฮาวายตกเป็นเมืองขึ้นของใครได้

พระราชาคาลาเคาอะถือเป็นผู้มีส่วนอย่างมาก ที่นำอูคูเลเล่มาผนวกกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของฮาวาย จากเดิมระบำฮูล่าจะเต้นไปกับการร้องและเครื่องเคาะ ก็ได้มีการปรับให้นำอูคูเลเล่มาเล่นประกอบด้วย ซึ่งเข้ากันได้เป็นอย่างดี ดั่งบรรยากาศอูคูเลเล่และฮูล่าแดนซ์อย่างที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้

น่าเสียดายที่ แม้จะพยายามอย่างยิ่งยวดเพียงไหน ในรัชสมัยต่อมาเมื่อน้องสาวของพระราชาคาลาเคาอะขึ้นครองราช ฮาวายก็ตกเป็นดินแดนของอเมริกาไปอย่างง่ายดาย สำหรับชาวฮาวาย มันเป็นเรื่องไม่น่ายินดี แต่สำหรับอูคูเลเล่ นี่คือสิ่งที่จะทำให้ อูคูเลเล่ ไม่ใช่เครื่องดนตรีท้องถิ่นอีกต่อไป

โปรดติดตามตอนต่อไปเดือนหน้าครับ