Generation Pandemic ‘เด็กรุ่น COVID’ มองอนาคตผ่าน ‘กระจกฝ้า’/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Generation Pandemic

‘เด็กรุ่น COVID’

มองอนาคตผ่าน ‘กระจกฝ้า’

 

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีการศึกษา ที่ “เด็กรุ่น COVID” ยังไม่ได้ “ไปโรงเรียน” “ไปวิทยาลัย” หรือ “ไปมหาวิทยาลัย” อย่าง “เป็นชิ้นเป็นอัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เด็กไทย”

และในทางตรงกันข้าม ผู้ปกครองกลับต้อง “จ่ายค่าเทอม” อย่าง “เต็มเม็ดเต็มหน่วย” แถมด้วย “ค่าไฟ” “ค่าเน็ต” และ/หรือ “ค่าแอร์” เพิ่มอีกเกือบเท่าตัว เพื่อรองรับการ “เรียน Online” ของบุตรหลาน

แน่นอนว่า สถานการณ์เช่นนี้ ไม่เฉพาะ “เด็กไทย” เพราะ “เด็กรุ่น COVID” ทั่วโลกต่างเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน หนักบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่ฝีมือของผู้บริหารแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายสัมผัสได้ถึงความกังวลใจของคนหนุ่มคนสาว “เด็กรุ่น COVID” ทั่วทุกมุมโลก

ที่วันนี้ เขาและเธอ เสมือนนั่งมองอนาคตผ่าน “กระจกฝ้า” ที่แม้จะพอเห็นทางออก แต่ก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

เพราะคนสาวคนหนุ่ม เป็นกลุ่มคนผู้ขับเคลื่อนโลกทุกยุคทุกสมัย แต่ในสถานการณ์ของ “เด็กรุ่น COVID” อยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ไปเรียนหนังสือเหมือนเคย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความไม่แน่นอนหลังจบการศึกษา” กับ “สภาวะการมีงานทำ” ที่ดูเหมือนโลกจะยังไม่มีคำตอบให้กับพวกเขา!

เพราะก่อนหน้า COVID-19 จะบุก สภาพเศรษฐกิจของโลกก็ฝืดเคืองเต็มทน “คนรุ่นใหม่” หันไปทางไหนก็ดูเหมือนจะไร้ความหวัง

แม้ว่าคนหนุ่มคนสาวยุคใหม่สมัยนี้ ส่วนใหญ่มีแนวคิดหันหลังให้กับสถานะมนุษย์เงินเดือน หลายคนสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง เช่น กิจการเล็กๆ โดยเฉพาะการ “ขายของ Online”

ทว่า ก็ยังมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนไม่น้อย ยังต้องการมีงานที่มั่นคง ไม่ว่าจะในภาครัฐหรือเอกชน

การที่ “เด็กรุ่น COVID-19” หรือ Generation Pandemic ถูกกักตัวเป็นเวลานาน มีส่วนทำให้หลายคนเกิดความสับสน ไม่แน่ใจในอนาคตของตนเอง

เพราะอย่าว่าแต่คนหนุ่มคนสาว คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เองก็ใช่ว่าจะมีความมั่นคงในอาชีพ เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลก Lockdown

แน่นอนว่า จากรูปศัพท์ Generation Pandemic หรือ “เด็กรุ่น COVID” ต่างจากคำจัดความของ Generation อื่นที่เคยใช้เงื่อนเวลามากำกับ

 

The Greatest Generation (เกิด 1900-1920) ช่วงเวลาของคนที่เติบโตมาพร้อมกับการเกิด The Great Depression หรือ “ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

The Silent Generation (เกิด 1920-1940) ยุคสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม เป็นคนรุ่นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายในโลกทุกด้าน

The Baby Boomers (เกิด 1940-1960) หลายชาติส่งเสริมการมีลูก เพื่อเพิ่มประชากรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

Generation X (เกิด 1960-1980) ปัจจุบันคือกลุ่ม A-List หรือ “คนแถวหน้า” หลากหลายวงการบนโลกใบนี้

Generation Y (เกิด 1980-2000) หรือ “สหัสวรรษใหม่” จึงมีอีกชื่อว่า Millennial Generation กำลังครองโลกด้วย Facebook Google YouTube LINE twitter

Generation Z (เกิด 2000-2010) กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในสังคม และ Generation Alpha (เกิด 2010-2020)

แต่ทุกวันนี้ คนทุก Generation ได้หลอมรวมมาเป็น “คนรุ่นเดียวกัน” คือ Generation Pandemic หรือ “ยุคโรคระบาด” จากสถานการณ์ COVID-19

ความแตกต่างก็คือ Generation Pandemic ระดับ “ชนชั้นนำ” คือผู้กุมชะตาชีวิตของ Generation Pandemic ที่เหลือกว่า 90% บนโลก

 

แน่นอนว่า นิสิตนักศึกษาที่เรียนจบในปีการศึกษา 2021 กำลังเข้าสู่ชีวิตการทำงานท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ที่มาพร้อมกับรูปแบบ “การทำงานจากบ้าน” หรือ Work from Home

ดังนั้น ประสบการณ์ทำงานของเขาและเธอ อาจถูกจำกัดอยู่แค่พื้นที่เล็กๆ ที่อาจจะเป็นห้องส่วนตัว หรือห้องรับแขก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Mabel Abraham แห่งมหาวิทาลัย Columbia Business School ในมหานคร New York ประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่า หากเราตัดเรื่อง “เรียน Online” ออกไป สำหรับบัณฑิตจบใหม่แล้ว พวกเขาได้รับผลกระทบจาก COVID เป็นอย่างมาก

“การที่คนรุ่นใหม่เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยรูปแบบ Work from Home เราพบว่า คนรุ่นใหม่หลายคนประสบปัญหาเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับตัวเข้าหาผู้บังคับบัญชา รวมถึงพนักงานอาวุโสจำนวนมากก็ไม่สันทัดเรื่องการทำงานจากที่บ้าน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Mabel Abraham กระชุ่น

เธอกล่าวต่อไปว่า แม้หลายฝ่ายจะไม่มีปัญหากับนโยบาย Work from Home แต่สำหรับเธอแล้ว Work from Home อาจให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม

“เราเชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำในที่ทำงานจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพนักงานใหม่ในยุค COVID ไม่มีทางเข้าถึงกลุ่มพนักงานหลักที่เคยทำงานในออฟฟิศช่วงก่อน COVID ดังนั้น คนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงประสบปัญหาในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงานอย่างแน่นอน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Mabel Abraham สรุป

 

Sohini Sengupta เจ้าหน้าที่น้องใหม่ในห้องข่าวของ India Today ระบุว่า อันที่จริง Work from Home ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าใดนักสำหรับคนรุ่นเธอ

“แน่นอน พวกเราหลายคนคุ้นเคยกับการเรียน Online มาก่อนหน้านี้ อย่างน้อยก็คนละ 1 ปี” Sohini Sengupta กล่าว และว่า

อย่างไรก็ดี บัณฑิตจบใหม่ที่เข้าสู่โลกแห่งการทำงานในขณะนี้ บอกตรงกัน ว่าเขาและเธอขาดความรู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

“พวกเราสัมผัสได้เพียงรูปถ่ายกิจกรรมเก่าๆ ของพนักงานรุ่นพี่ใน Website บริษัทเท่านั้น” Sohini Sengupta ตัดพ้อ

ขณะเดียวกัน ก็มีพนักงานหน้าใหม่หลายคน ที่ชื่นชอบการทำงานแบบ Work from Home อาทิ Matthew Toale ที่กำลังอยู่ในช่วงทดลองงานที่บริษัทการตลาด Find Your Flex ในกรุง London ประเทศอังกฤษ ที่เผยว่า เขาชอบ Work from Home เพราะไม่ต้องเดินทางไปที่ Office ทุกวัน

“ผมรู้สึกว่า การผูกสัมพันธ์กับพนักงานรุ่นพี่ กระทั่งลูกค้า ผ่าน Online นั้น คนรุ่นผมสามารถทำได้ง่ายกว่าการเจอกันตัวต่อตัว หรือ Face to Face เสียอีก” Matthew Toale ระบุ

ตรงกันข้ามกับ Liza Streiff ผู้บริหารระดับสูง หรือ CEO ของ Knopman Marks Financial Training บริษัทฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการเงินในมหานคร New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เผยว่า เธอเชื่อในระบบ Face to Face มากกว่า

“ฉันมักจะเชิญให้พนักงานของเรามาปิ้ง Barbecue กินกันที่บ้านของใครสักคนใน Office แต่ส่วนใหญ่มักจัดกันที่บ้านของฉัน เพราะงานเลี้ยงเล็กๆ แบบนี้มีความหมายต่อพนักงานมาก”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับพนักงานใหม่ที่จะได้พบกับรุ่นพี่ทุกคนในสำนักงาน Liza Streiff ทิ้งท้าย

 

หากคนหนุ่มคนสาว คือผู้ขับเคลื่อนโลกในฐานะแรงงานภาคการผลิต ชะตาชีวิตของพวกเขากลับขึ้นอยู่กับนโยบายของ “ชนชั้นนำ” ไม่กี่คนบนโลก

ขณะที่หลายประเทศเผชิญสถานการณ์ในบริบทที่ต่างกันของวิกฤต COVID-19 ทว่า คนหนุ่มคนสาวกลับมีภาพสะท้อนที่คล้ายๆ กัน

เพราะคนสาวคนหนุ่ม เป็นกลุ่มคนผู้ขับเคลื่อนโลกทุกยุคทุกสมัย แต่ในสถานการณ์ของ “เด็กรุ่น COVID” อยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ไปเรียนหนังสือเหมือนเคย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความไม่แน่นอนหลังจบการศึกษา” กับ “สภาวะการมีงานทำ” ที่ดูเหมือนโลกจะยังไม่มีคำตอบให้กับพวกเขา!

ที่วันนี้ เขาและเธอ เสมือนนั่งมองอนาคตผ่าน “กระจกฝ้า” ที่แม้จะพอเห็นทางออก แต่ก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน