จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (24) เส้นทางการล่มสลายของซ่งใต้/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (24)

เส้นทางการล่มสลายของซ่งใต้

 

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ภายหลังยุคทองของซ่งในสมัยซ่งเซี่ยวจงไปแล้ว ราชวงศ์ซ่งก็มีแต่จักรพรรดิที่ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถน้อย เวลานั้นแม้ราชวงศ์จินของหนี่ว์เจินยังคงเป็นภัยคุกคามของจีน

อีกด้านหนึ่งชนชาติมองโกลก็ได้สยายปีกแห่งอำนาจครอบคลุมแผ่นดินจีนมากขึ้น

ทัพมองโกลได้รุกตีชนชาติอื่นที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงไปแล้ว และได้รับชัยชนะโดยตลอด จนเหลือเพียงชนชาติหนี่ว์เจินโดยราชวงศ์จินกับชนชาติจีนโดยราชวงศ์ซ่งเท่านั้น ที่เป็นเป้าหมายต่อไปของมองโกล

ซึ่งก็มิใช่เรื่องง่ายนัก เพราะชนชาติทั้งสองนี้ยังคงมีความเข้มแข็งที่จะต่อกรกับมองโกลได้ เหตุฉะนั้น สถานการณ์ในตอนนั้นจึงกลายเป็นปฏิสัมพันธ์สามเส้าที่ต่างก็ต้องการซึ่งอำนาจ

ภายใต้ปฏิสัมพันธ์สามเส้านี้ดำรงอยู่นานนับสิบปี โดยมีมองโกลเป็นตัวแสดงหลักด้วยมีอำนาจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้นำคนใหม่ที่เป็นหลานปู่ของเตมูจินหรือเจงกิสข่าน

ผู้นำคนนี้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการศึกและการบริหาร เขาสามารถโค่นล้มราชวงศ์จินลงได้ หลังจากนั้นจึงพุ่งเป้ามายังราชวงศ์ซ่ง ถึงตอนนั้นวาระสุดท้ายของซ่งก็มาถึง

 

การล่มสลายของราชวงศ์จิน

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับหนี่ว์เจินเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ อยู่นั้น ชนชาติมองโกลที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงเมื่อก่อนหน้านี้ไปแล้วนั้น มาบัดนี้ได้เติบใหญ่จนเข้มแข็งขึ้นมาท้าทายทั้งซ่งและจิน

ภายใต้ดุลอำนาจสามเส้านี้หากไม่นับซ่งซึ่งอ่อนแอที่สุดแล้ว อำนาจระหว่างจินกับมองโกลนับว่ามีความใกล้เคียงกัน โดยใน ค.ศ.1123 ทัพจินของหนี่ว์เจินสามารถสยบให้เหลียวแห่งคีตันมาขึ้นต่อตนได้สำเร็จ

แต่หลังจากนั้นอีกร้อยกว่าปีมองโกลก็ผงาดขึ้นมาแล้วตีทังกุตแห่งราชวงศ์เซี่ยจนล่มสลายใน ค.ศ.1227 การล่มสลายของราชวงศ์เหลียวกับราชวงศ์เซี่ยทำให้เหลือชนชาติที่ทรงอิทธิพลอยู่สองชนชาติ นั่นคือ หนี่ว์เจินกับมองโกล แล้วการศึกระหว่างทั้งสองจึงเกิดขึ้น

ปี ค.ศ.1211 ทัพมองโกลเปิดฉากด้วยการบุกเข้าโจมตีดินแดนของจิน จน ค.ศ.1214 ก็สามารถปิดล้อมเมืองหลวงกลางจงตู (Central Capital Zhongdu) ที่ซึ่งปัจจุบันคือเป่ยจิงเอาไว้ได้ และเพื่อยุติการเป็นศัตรู จินมีราคาที่จะต้องจ่ายให้แก่มองโกลตามที่มองโกลเรียกร้องคือ ข้าทาสที่เป็นเด็กชายและเด็กหญิง 500 คน ม้า 3,000 ตัว และทองกับผ้าไหมอีกจำนวนหนึ่ง

และในฤดูร้อนปีเดียวกันนั้น จักรพรรดิของจินก็ทรงย้ายราชสำนักไปยังเมืองหลวงใต้จงตู (Southern Capital Zhongdu) ที่ซึ่งปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง จากนั้นก็มีราษฎรมากกว่า 400,000 ครัวเรือนได้หนีมุ่งลงไปทางใต้

พลันที่เจงกิสข่านทรงทราบก็บัญชาให้ทัพมองโกลรุกเข้าตีจงตูทันที

จนราวกลางปี ค.ศ.1215 จินก็ยอมแพ้หลังจากถูกปิดล้อมอยู่สิบเดือน จากนั้นก็เข่นฆ่าราษฎรตายไปหลายพันคน ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นกระดูกของมนุษย์ที่ถูกฆ่าอย่างทารุณก็ถูกทับถมเป็นกองมหึมา พื้นทรายเจิ่งนองไปด้วยน้ำมันที่มาจากไขมันของมนุษย์ และส่งกลิ่นเหม็นเน่าตลบอบอวลไปทั่ว

กล่าวสำหรับเจงกิสข่านแล้วนี่คือการล้างแค้นที่มีต่อหนี่ว์เจิน ที่พระองค์ทรงมองว่าเจ้าเล่ห์เพทุบายไปตั้งหลักอยู่ทางใต้แล้วหาทางกลับมาตีคืน

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มิได้ทำให้การขยายดินแดนของมองโกลหยุดชะงักไปด้วยไม่ ขุนศึกของมองโกลยังคงตียึดดินแดนทางเหนือของจีนต่อไป จนสามารถยึดมณฑลเหอเป่ย เหอหนัน ซันซี และสั่นซีเอาไว้ได้

ไกลออกไปจากนั้นคือ แมนจูเรีย บ้านเกิดของคีตันและหนี่ว์เจินก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของมองโกลไปแล้ว

มองโกลไม่เพียงคิดที่จะยึดดินแดนในอาณาบริเวณแผ่นดินจีนเท่านั้น หากยังได้กรีธาทัพไปยึดที่ราบทุ่งหญ้าเอเชียกลาง (Central Asian steppes) โดยเลือกเฉพาะรัฐที่มั่งคั่งร่ำรวยที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม

ชนชั้นปกครองและราษฎรในดินแดนนี้นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนทัพมองโกลนั้นขึ้นชื่อในเรื่องการดื่มเลือดของเหยื่อ และกินเนื้อสดๆ ของสุนัข หนู และมนุษย์เมื่อตีดินแดนนั้นมาได้ ขุนศึกมองโกลจะพูดกับเหยื่อของตนว่าการ “ยอมแพ้โดยไม่แข็งขืน” คือกุญแจที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัยตลอดเส้นทางเลือดของพวกเขา

แต่เมื่อชาวเมืองปฏิบัติตามคำพูดนั้นแล้ว ทัพมองโกลกลับบุกเข้าปล้นสะดมสมบัติสาธารณะและบ้านเรือนของชาวเมือง แต่เหลือบางส่วนเอาไว้สำหรับพักอาศัย เมื่อพักจนพอแล้วพวกเขาก็แจกจ่ายของที่ปล้นมา

จากนั้นก็บุกไปตีเมืองอื่นต่อไปโดยนำเอาช่างหัตถกรรมและหญิงสาวไปด้วยในฐานะทาส หรือแจกจ่ายแม่ทัพนายกองไว้ใช้สอยหรือบำเรอ

 

ใน ค.ศ.1219 ในขณะที่เจงกิสข่านกำลังเตรียมกรีธาทัพเข้าตีเอเชียกลางในส่วนที่เป็นเติร์กเมนิสถาน อิหร่านตะวันออก และอัฟกานิสถานในปัจจุบันอยู่นั้น พระองค์ทรงเรียกประชุมเหล่าเสนามาตย์ครั้งใหญ่เพื่อหาผู้สืบทอดตำแหน่งข่านองค์ต่อไป

ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นโอรสองค์ที่สามของเจงกิสข่าน นั่นคือ โอโกได (?g?dei, ค.ศ.1186-1241) จากนั้นทัพมองโกลภายใต้การนำของเจงกิสข่านก็บุกเข้าตีดินแดนดังกล่าวในระหว่าง ค.ศ.1219 จนถึง 1225 ทัพมองโกลของพระองค์ได้เข่นฆ่าราษฎรไปนับล้านคนอย่างอำมหิตและได้รับชัยชนะอีกเช่นเคย

ความอำมหิตนี้นักบันทึกชาวอาหรับจึงเปรียบเจงกิสข่านเป็นเสมือน “แส้แห่งพระอัลเลาะห์” (scourge of Allah)

อนึ่ง คำนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับคำว่า “หายนะแห่งพระเจ้า” (scourge of God) เพื่อเรียกการรุกรานโรมันของพวกฮัน (Hun, บางที่เรียกว่า ฮุน หรือ หุน) และยังเป็นคำที่ปรากฏในคัมภีร์ของศาสนาคริสต์เมื่อกล่าวถึงภัยพิบัติของมนุษยชาติ ว่าเป็นการถูกลงโทษโบยตีจากพระเจ้า

 

เมื่อเสร็จศึกในเอเชียกลางแล้วก็เคลื่อนทัพตีต่อไปจนถึงทุ่งหญ้าคิปชัค (Kipchak Steppes) ทางด้านเหนือของทะเลแคสเปียน (Caspian Sea) และไกลไปด้านใต้ของทะเลดำ (Black Sea) ในแถบเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) ก่อนที่จะยกทัพกลับไปสู่ดินแดนมองโกลเลียของตนในระหว่างปี ค.ศ.1224 ถึง 1225

ทัพมองโกลที่บุกเข้าตีดินแดนต่างๆ นี้ ทัพม้านับว่ามีบทบาทที่สำคัญยิ่ง ทหารม้าของมองโกลจะสวมชุดหนังวัวที่คลุมด้วยแผ่นเหล็ก และจะพักการเดินทางในช่วงเวลาสั้นๆ ในแต่ละวัน โกลนเหล็กของพวกเขาใช้แบบที่ได้มาจากหนี่ว์เจิน

ทหารม้าเหล่านี้เป็นผู้ฉมังธนูจนสามารถยิงธนูบนหลังม้าได้ ส่วนอาวุธหนักที่ทัพมองโกลใช้คือระเบิดเพลิง (Fire-bombs) และพลุหรือตะไลในการยิงข้าศึก อาวุธนี้มีส่วนประกอบสำคัญของดินปืน (gunpowder) อันเป็นภูมิปัญญาที่ได้มาจากจีน

และเป็นสิ่งประดิษฐ์ของอาวุธที่สำคัญที่ขาดไม่ได้

ส่วนกำลังพลสำรองจะเป็นเชลยที่พ่ายศึกซึ่งส่วนใหญ่คือ ชนชาติคีตัน หนี่ว์เจิน เกาหลี จีน และชนชาติอื่นๆ จำนวนมาก ส่วนพลเรือนของชาติที่แพ้สงครามจะถูกกันไว้ให้เป็นฝ่ายสนับสนุนด้านเสบียง เสื้อผ้า โลหะ ม้า และแรงงานให้แก่มองโกลผู้รุกราน

ทัพมองโกลจึงเข้มแข็งอย่างยิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม แนวรบด้านสุดท้ายของเจงกิสข่านคือการบุกเข้าตีดินแดนทังกุต ซึ่งก็คือมณฑลหนิงเซี่ยในปัจจุบัน และในปีที่พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ.1227 นั้นเอง ทัพมองโกลก็บุกเข้าตีเมืองหลวงของทังกุตได้สำเร็จ

และทำการเข่นฆ่าราษฎรจนหมดเมืองด้วยความโหดเหี้ยมอำมหิต

การสิ้นพระชนม์ของเจงกิสข่านทำให้การบุกเข้าตีราชวงศ์จินต้องเลื่อนออกไป จนเมื่อโอโกไดก้าวขึ้นมาเป็นข่านแทนแล้วพระองค์ก็สืบสานภารกิจนี้ต่อไป โดยใน ค.ศ.1230 ทัพมองโกลในยุคของโอโกไดได้แบ่งทัพที่เข้าตีจินเป็นสามสาย

คือสายตะวันออกที่มณฑลซันตง สายภาคกลางที่ซันซีซึ่งโอโกไดทรงเป็นผู้บัญชาการ และสายเหนือที่สั่นซีกับตะวันตกที่ซื่อชวน ทัพมองโกลสามารถยกเข้าประชิดเมืองไคเฟิงใน ค.ศ.1232

ครั้นพอปีถัดมาก็ให้ปรากฏว่า ทัพมองโกลได้ร่วมมือกับราชวงศ์ซ่งเพื่อเข้าตีจิน