ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 15-21 ตุลาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516

มองในแง่ “สีสัน”

แตกต่างจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 9 ตุลาคม 2564

ชนิดคนละ “ทีป”

เมื่อ 48 ปีแล้ว รายรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเต็มไปด้วยนิสิตนักศึกษา

ซึ่งมีแรง “ดาลใจ” อันสำคัญจากความต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แน่นอน บรรยากาศย่อมมากด้วยความเข้มขรึม-จริงจัง

 

แต่วันที่ 9 ตุลาคม 2564 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลับมากด้วยความจัดจ้าน

ตัวอนุสาวรีย์ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าสีรุ้งผืนใหญ่

รายรอบด้วยกลุ่มคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแฟนซีน้อยชิ้น ชุดว่ายน้ำทูพีซ ชุดสายเดี่ยว เอวลอย

มาร่วมทำกิจกรรมแบบหลุดโลก– “เปลือย”

เปลือย เพื่อโยงไปสู่แคมเปญการทลายอคติทางเพศ

เปลือยจารีต เพื่อสนับสนุนสมรสเท่าเทียม

เปลือยกฎหมายอยุติธรรม เพื่อยกเลิก 112

เปลือยเรื่องต้องห้าม เพื่อรณรงค์ปฏิรูปสถาบัน

และเปลือยรัฐธรรมนูญปิตาธิปไตย ให้เป็นรัฐธรรมนูญสีรุ้ง เพื่อสะท้อนความหลากหลาย

หลากหลายดังกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรม

อาทิ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กลุ่ม Drag Queen กลุ่มทะลุฟ้า กลุ่ม iLaw กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา กลุ่มผู้ขับเคลื่อนด้านสิทธิแรงงาน กลุมราษฎรมูเตลู กลุ่มคนตาสว่าง ฯลฯ

 

หากเปรียบเทียบระหว่างสองเหตุการณ์ “เดือนตุลาฯ” จากอดีตถึงปัจจุบัน

เหมือนจะมากด้วยความแตกต่างๆ

แต่เมื่อพิจารณา “เป้าหมาย” หลักแล้ว แทบมิได้แตกต่างกันเลย

ยังมีเข็มมุ่งไปทิศเดียวกัน นั่นคือ ความเป็นประชาธิปไตยอันเปิดกว้าง

ผ่านมา 48 ปี คนรุ่นใหม่ยังคงต้องต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพอยู่เหมือนเดิม

อาจจะแตกต่างกันที่ “รูปแบบ”

แตกต่างที่การนำเสนอ

แต่เนื้อหายังเข้มข้นเหมือนเดิม

คือการเรียกร้องหาสิทธิเสรีภาพ

กระนั้นก็อดสะท้อนใจไม่ได้ 48 ปีผ่านไป

ความเป็นประชาธิปไตยของเรามิได้ก้าวหน้าไปไหน

ยังคงถูก “เผด็จการ” จากการรัฐประหารครอบงำอย่างเข้มข้น

 

กล่าวถึงการรัฐประหาร

คอลัมน์ อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ ของภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

พาไปชมงานศิลปะ น่าสนใจ

“PRICELESS ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ จากการรัฐประหาร”

ของสุรเจต ทองเจือ

ศิลปินชาวกรุงเทพฯ ที่ทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “ใบเสร็จรับเงิน”

ทำไมต้อง “ใบเสร็จรับเงิน”

 

“งานชุดนี้ผมเริ่มทำขึ้นตอนช่วงรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557

ผมคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้

พอมีประกาศรัฐประหารออกมา ผมก็เริ่มสำรวจว่ามีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราและครอบครัวบ้าง

ก็นึกได้ว่าในขณะที่เกิดเหตุการณ์ ผมมีใบเสร็จธุรกรรมทางการเงินอยู่ในมือ

ผมก็มองว่านี่เป็นตัวอย่างที่มองเห็นได้ชัดเจนและเร็วที่สุด

คือการที่เราต้องเสียภาษีให้แก่คณะรัฐประหารและองคาพยพของมันทันที

สิ่งนี้ส่งผลกระทบกับเราโดยตรง

ผมก็เลยเริ่มสะสมใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีต่างๆ เอาไว้

เริ่มจากของตัวผมเอง ของภรรยาและลูก และเริ่มขยับมาสะสมใบเสร็จของพี่-น้อง พ่อ-แม่ และคนในครอบครัว

ผมเก็บสะสมใบเสร็จเหล่านั้นโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร จนครบสามปี…”

 

ที่สุดใบเสร็จดังกล่าวก็ถูกสุรเจต ทองเจือ แปรเป็นงานศิลปะ

ศิลปะที่ถูกตีความเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้จากการรัฐประหาร

ใบเสร็จรับเงิน กลายเป็นงานศิลปะ อะไร อย่างไร

โปรดพลิกอ่านที่หน้า 62