ธปท.ย้ำปชช. ขออย่าหลงเชื่อ SMS ปล่อยสินเชื่อปลอม เร่งแก้ปัญหาด่วน

ธปท.เผยเร่งแก้ปัญหา SMS ปล่อยสินเชื่อปลอมระบาด วอนปชช.อย่าหลงเชื่อ เร่งแก้ปัญหา เผยช่วงโควิด คนทำธุรกรรมออนไลน์เฉียด 30 ล้านรายการต่อวัน

วันที่ 11 ต.ค.2564 ทางน.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวงปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชน ว่าธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แต่ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อความเหล่านี้โดยเด็ดขาด

ที่ผ่านมาทางธปท.ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนถึงกรณีที่ได้รับ sms หรือลิ้งค์หลอกลวงปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ รวมถึงได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile operator) เพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าว อีกทั้งยังได้หารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการดูแลเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินในการแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ส่วนการส่ง sms นั้น สถาบันการเงินยืนยันว่าไม่ได้มีการส่ง sms หาลูกค้าโดยตรง ทั้งหมดเป็นมาตรการเร่งด่วนในการดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น

ส่วนในระยะยาวคงต้องทำในลักษณะดังกล่าวในหลาย ๆ ด้านควบคู่กันไป ทั้งการแจ้งเตือนประชาชน การให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจ รวมถึงการเร่งดำเนินการในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมา

ทั้งนี้การป้องกันต้องทำหลายด้านด้วยกัน ทั้งการเตือนประชาชน และการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการมีการป้องกันเรื่องพวกนี้ด้วย โดยในส่วนของประชาชนก็ต้องไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการหลอกลวงหรือปลอมแปลงเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ส่วนการคลิกลิ้งค์ ก็ขอให้หยุดคลิกก่อน หรืออาจจะสอบถามไปยังหน่วยงานต้นทางที่ส่งลิ้งค์ หรือ sms มาก่อน ต้องระวังไม่คลิกง่าย ๆ ด้วย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่งดการเดินทางออกจากบ้าน ได้ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านรายการต่อวัน หรือในช่วงพีคๆ จะอยู่เกือบ30 ล้านรายการต่อวัน จากช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านรายการต่อวัน

ทั้งนี้เชื่อว่าแนวโน้มหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว การทำธุรกรรมทางการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการให้บริการทางการเงินและการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน สะท้อนว่าหลังโควิด-19 ภาคการเงินจะพัฒนา ปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงไปสู่บริการทางการเงินดิจิทัลแบบก้าวกระโดดด้วย