คุยกับทูต เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย ชีวิตนักการทูตสเปนในช่วงโควิด (ตอน 1)

 

คุยกับทูต เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย

ชีวิตนักการทูตสเปนในช่วงโควิด (ตอน 1)

 

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดต่องานทางการทูต วิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2020 แต่ด้วยสถานการณ์ที่ค่อยๆ กลับสู่สภาวะปกติอย่างช้าๆ หลายคนจึงตั้งตารอที่จะกลับมาดำเนินการตามกำหนดการอย่างเต็มรูปแบบ

“ผมเกิดที่กรุงมาดริดในปี 1965 คุณพ่อซึ่งเป็นทนายความได้จากไปแล้ว ส่วนคุณแม่และพี่สาวอีกสองคนอยู่ที่ประเทศสเปน ผมเรียนกฎหมายตามคำแนะนำของคุณพ่อ แต่ในความจริงผมสนใจและติดตามเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งวัฒนธรรม และการเดินทาง จึงเป็นเรื่องปกติที่ผมต้องการเป็นนักการทูต”

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย เล่าความเป็นมา

“เริ่มจากการเข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงต่างประเทศของสเปนในปี 1990 จนกระทั่งมีโอกาสได้เดินทางไปประจำการยังพื้นที่หลายแห่งห่างไกลจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ได้แก่ ประเทศแคเมอรูนในแอฟริกา ต่อด้วยยูโกสลาเวียและโบลิเวียในอเมริกาใต้ และในที่สุดก็มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“ครั้งนี้เป็นการมาประจำประเทศไทยครั้งที่สามของผม แต่เป็นการมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรก”

“ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก และฟิลิปปินส์ เป็นเวลาสี่ปี”

 

เป้าหมายและแรงจูงใจ

“ดังที่กล่าวมาแล้วว่าผมชอบและสนใจการเดินทางมาโดยตลอด เพราะการเดินทางช่วยทำให้ได้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในฐานะนักการทูต ผมจึงมีโอกาสได้รู้จักประเทศอื่นๆ ในแบบที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่อาจทำได้ ซึ่งไม่เพียงเป็นเรื่องของการเดินทางเท่านั้น แต่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมของประเทศที่ไปพำนักอาศัยอยู่ด้วย”

“ประจำการประเทศไทยครั้งแรกในปี 1996 ผ่านมาถึงตอนนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป สังคมไทยเปิดรับโลกภายนอกมากขึ้น ประเทศไทยได้รับการกล่าวขวัญถึงมากขึ้น แต่ลักษณะความเขินอายแบบไทย ไม่ค่อยกล้าแสดงออกหายไป ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะคนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่แปลกใหม่ และเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความเป็นสากลมากที่สุดในโลก”

“สำหรับผม กรุงเทพฯ ได้สูญเสียเอกลักษณ์บางส่วนไปอย่างน่าเศร้า ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และอาคารบ้านเรือนเก่าซึ่งเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมได้ถูกรื้อถอนสร้างเป็นตึกสูงอย่างมากมาย ไม่ต่างจากหอคอยในประเทศอื่นๆ”

“การมาเมืองไทยครั้งที่สามนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกลับมาอยู่บ้าน และผมก็โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากทีมงานสถานทูตที่ยอดเยี่ยม ทั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่จากสเปน”

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

ประเทศไทยเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะท่านทูตมีความสามารถทั้งพูด และอ่านภาษาไทยได้

“ภาษาไทยนั้นยากมาก โทนเสียงก็มีมากกว่าภาษายุโรป สมัยที่ผมเรียนภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ ได้เห็นคำศัพท์ที่คล้ายคลึงกันหลายคำ เช่น คำในภาษาอังกฤษ constitution ในภาษาฝรั่งเศส constitutionnel ในรัสเซีย konstitutsiya ในภาษาสเปน constitución ซึ่งคำทั้งหมดที่กล่าวนี้มีความหมายเดียวกันหมด ตรงกับคำในภาษาไทยคือ ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ตัวสะกดภาษาไทยไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย ผมจึงเขียนภาษาไทยไม่ได้”

“นอกจากภาษาสเปนแล้ว ผมพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้ดี เคยเรียนภาษารัสเซียเมื่อนานมาแล้ว ถ้าได้เรียนอีกครั้ง ภาษารัสเซียของผมจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายในหนึ่งหรือสองเดือน”

“ช่วงเวลาปัจจุบันของการเก็บตัวอยู่ในสถานที่โดย WFH นั้น นับว่ามีข้อดี คือ จากชีวิตที่มีแต่ความเคร่งเครียดเกินไป ตอนนี้ก็มีโอกาสได้พักบ้าง”

“งานหลักของสถานทูตเมื่อปีก่อน คือการส่งพลเมืองสเปนที่ไม่ได้มีถิ่นพำนักที่นี่กลับบ้าน ตอนนี้แรงกดดันในการให้นักท่องเที่ยวสเปนกลับบ้านอย่างปลอดภัยลดลง เช่นเดียวกับงานทางกงสุล แต่เริ่มมีการประชุมทางการทูตด้านเศรษฐกิจและการค้า”

“ในขณะที่ชีวิตกลับคืนสู่ปกติทีละเล็กทีละน้อย ผมก็มุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสเปนและไทยมากขึ้น มีการจัดประชุมทางวิดีโอ ส่วนการติดต่อระหว่างบุคคลมีน้อยกว่า แต่ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม การติดต่อกันทางดิจิตอลจะมีความสำคัญกว่าในอนาคตอันใกล้”

กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย จัดงานฉลองครบรอบ ๑๕๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – สเปน

“สเปนเปิดสถานทูตในกรุงเทพฯ เมื่อปี 1961 แต่สเปนและไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1870 นับจนถึงปัจจุบันก็ 151 ปีแล้ว”

“เป็นที่เข้าใจได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราตอนนี้อยู่ในระดับที่ยังไม่สูงมากนัก ด้วยเพราะโควิด-19 แต่เรายังคงมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และมีความเคารพซึ่งกันและกันในระดับสูงเหมือนเดิม เราไม่มีปัญหาสำคัญระหว่างประเทศ นอกจากมองหาวิธีการที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ทวิภาคี”

“ผมสังเกตว่าหลายคนในประเทศไทยมีความรู้ที่ไม่ค่อยถูกต้องนักเกี่ยวกับประเทศสเปน จึงขอฝากบอกเพื่อนชาวไทยว่า

สเปนเป็นประเทศที่มีความทันสมัยและมีเทคโนโลยีระดับสูง สเปนมีวัฒนธรรมอันรุ่มรวยมาแต่อดีต อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายแนว ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกรูปแบบอีกด้วย นี่คือภาพที่เราต้องการจะสื่อถึงประเทศไทย”

“ทั้งสเปนและไทยมีวัฒนธรรมประจำชาติที่คล้ายคลึงกัน โดยต่างก็ให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก เพราะครอบครัวมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา คนไทยและคนสเปนยังชอบแบ่งปันอาหารให้กันในหมู่เพื่อนสนิท การปรุงอาหารจึงไม่ใช่เพื่อการรับประทานอาหารที่อร่อยด้วยรสชาติเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่มีความหมายยิ่งไปกว่านั้น”

“ในด้านการค้าระหว่างไทยและสเปน ก็ดำเนินไปได้ดีพอสมควร แม้การค้าระหว่างประเทศได้ลดลงแทบทุกแห่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสเปนขาดดุลการค้ากับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน”

ตามข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ สเปน ในปี 2020 มีมูลค่ารวม 1,527.5 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 19.34 จากปี 2019 เป็นการส่งออกมาไทย มูลค่า 501.75 ล้านยูโร (ลดลงร้อยละ 24.7 จากปี 2019) สูงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) และคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของมูลค่าการส่งออกสเปนทั่วโลก

โดยสินค้าส่งออกสำคัญของสเปน ได้แก่ อะไซคลิกไฮโดรคาร์บอน (ลดลงร้อยละ 36.1) ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ลดลงร้อยละ 34.5) เนื้อสัตว์ป่น (ลดลงร้อยละ 2.8) และเครื่องเรดาร์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5,655)

ในส่วนของการนำเข้าของสเปนจากไทย มีมูลค่า 1,025.75 ล้านยูโร (ลดลงร้อยละ 16.3) คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของการนำเข้าสเปนจากทั่วโลก

สินค้าหลักของไทยที่สเปนนำเข้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (ลดลงร้อยละ 11) อัญมณีและเครื่องประดับเงิน (ลดลงร้อยละ 4) เครื่องปรับอากาศอื่นๆ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 112) และยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9)

อย่างไรก็ดี มูลค่านำเข้าจากไทยยังคงน้อยกว่าบางประเทศในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม (2,462.92 ล้านยูโร) อินโดนีเซีย (1,761.94 ล้านยูโร) มาเลเซีย (1,209.5 ล้านยูโร) แต่สูงกว่าสิงคโปร์ (319.66 ล้านยูโร) และฟิลิปปินส์ (234.17 ล้านยูโร)

งานฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสเปน ครบรอบ 150 ปี

 

สเปนเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีในการพัฒนาผลผลิตทางเกษตรกรรมและเทคโนโลยีการผลิตระดับสูงที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งด้านพลังงานทดแทน โดยมีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งในภูมิภาคละตินอเมริกา

กองทัพเรือไทยและสเปนมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และไทยได้ว่าจ้างสเปนต่อเรือรบหลวงจักรีนฤเบศร

“มีบริษัทสัญชาติสเปนประมาณ 40 แห่งที่ดำเนินงานในประเทศไทย หอการค้าสเปน-ไทย ได้ตั้งขึ้นในปีที่ผ่านมา บริษัทสเปนรายใหญ่ที่เปิดในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท Amadeus (เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการท่องเที่ยว) บริษัท Indra (บริษัทให้คำปรึกษาด้านการขนส่ง พลังงานและกลาโหม) และ Roca ผู้ผลิตอุปกรณ์อาบน้ำ”

หอการค้าสเปน-ไทย (Cámara de Comercio Hispano Tailandesa) ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 ที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทย-สเปน

“สังคมของเรากำลังใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีชาวสเปนประมาณ 1,200 คนอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่มีชาวสเปนน้อยกว่า 200 คนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ปีก่อนมีนักท่องเที่ยวสเปน 200,000 คนมาเที่ยวที่ประเทศไทย แต่ผมไม่สามารถบอกจำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปสเปนได้เพราะใช้วีซ่าเชงเก้น (Schengen Visa)”

บุคคลที่ได้รับวีซ่าเชงเก้นจะสามารถเดินทางได้โดยเสรีไปยัง 26 ประเทศเชงเก้น โดยไม่ต้องขอตรวจวีซ่าที่ชายแดนของแต่ละประเทศอีกเพราะมีนโยบายด้านวีซ่าร่วมกัน

เปิดหอการค้าสเปน-ไทย ภาพจาก ICEX Tailandia (httpstwitter.comicextailandia)

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน กำหนดให้วันที่ 27 กันยายนของทุกปี เป็น “วันท่องเที่ยวโลก” (World Tourism Day) โดยจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1980 จากมติเห็นชอบของที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 1979 และสำหรับปี 2021 กำหนดธีมคือ “การท่องเที่ยวเพื่อการเติบโตแบบทั่วถึง” (Tourism for Inclusive Growth)

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลก เมื่อปี 2016 ที่จังหวัดขอนแก่น ภายใต้ธีม “การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลเข้าถึงอย่างเท่าเทียม” (Tourism For All)

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

รายงานของ UNWTO กล่าวว่า ปี 2021 ยังเป็นปีที่ยากลำบาก (ปี 2020 ถูกกำหนดว่าเป็น “ปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว”) แม้มีความเป็นไปได้สูงที่การเดินทางระหว่างประเทศจะเป็นไปอย่างปลอดภัย

แต่ตระหนักว่าวิกฤตครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ความร่วมมือและการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลของมาตรการลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่น การทดสอบ การติดตามและการฉีดวัคซีน จะเป็นรากฐานสำคัญของการเดินทางที่ปลอดภัย และการเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทันทีที่ปัจจัยต่างๆ เอื้ออำนวย

“กระทรวงการต่างประเทศของไทยร่วมกับสถานทูตจัดฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสเปน ครบรอบ 150 ปีเมื่อวันที่ 10 กันยายน ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปีนี้นับเป็นปีที่สองแล้วที่สถานทูตไม่ได้จัดงานฉลองวันชาติราชอาณาจักรสเปน ในวันที่ 12 ตุลาคม”

ท่านทูตกาลาเบียชี้แจงเพิ่มเติมว่า

“สเปนซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางแยกของสามทวีป อเมริกา ยุโรป และแอฟริกา ได้เริ่มโครงการสู่เอเชีย (Strategic Vision for Spain in Asia 2018-2022) โดยกำหนดแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสเปนกับประเทศในเอเชีย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การร่วมมือกัน ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองฝ่ายให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต”