ในประเทศ/ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง “สมชาย-จิ๋ว-พัชรวาท” รอดคดีสลายม็อบ พธม.

ในประเทศ

ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง

“สมชาย-จิ๋ว-พัชรวาท”

รอดคดีสลายม็อบ พธม.

เป็น 1 ในคดีการเมืองที่เข้าสู่ขั้นตอนตัดสินชี้ชะตาในเดือนสิงหาคม 2560 สำหรับคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ตุลาคม 2551

ทั้งยังเป็นคดีแรก ในจำนวน 3 คดี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาตัดสิน

จำเลยในคดีนี้มีทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.

ซึ่งการมีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท รวมอยู่ด้วย ทำให้คดีเพิ่มความน่าสนใจ เนื่องจากจำเลยเป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในรัฐบาล คสช.ชุดปัจจุบัน

โดยเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม ศาลฎีกาฯ โดย นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ว่าที่รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะผู้พิพากษา รวม 9 คน

นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.2/2558

ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องนายสมชาย พล.อ.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ เป็นจำเลย 1-4

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

กรณีกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 รัฐบาลนายสมชาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา

ซึ่งเป็นการสลายการชุมนุมโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามหลักสากล กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 471 ราย โดยจำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี

ภายหลังไต่สวนพยานนัดสุดท้าย และนายสมชายแถลงปิดคดีด้วยวาจาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560

ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาในวันที่ 2 สิงหาคม เวลา 09.30 น. ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที

“ยกฟ้อง” จำเลยทั้งสี่

คําพิพากษาสรุปความได้ว่า

จากการพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ ที่มีแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ และผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุ

ฝ่ายจำเลยมี ส.ส. ที่ติดอยู่ในอาคารรัฐสภา ในวันเกิดเหตุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญการเก็บกู้วัตถุระเบิด ประกอบรายงานการทดสอบยิงแก๊สน้ำตา

เห็นว่า กรณีเหตุการณ์ช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นายสมชาย จำเลยที่ 1 โดยมติ ครม. ให้ พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดตามและควบคุมเหตุการณ์

พล.อ.ชวลิต มอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ปฏิบัติตามมติ ครม. ในการผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อให้ ครม. ส.ส. และ ส.ว. เข้ารับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา

ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติการเพื่อให้ ครม. ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมประตูเข้า-ออกทุกด้านของอาคารรัฐสภา เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบสันติตามที่แกนนำผู้ชุมนุมประกาศ

เนื่องจากตามแนวทางนำสืบของเจ้าหน้าที่พบว่า

หลังเกิดเหตุในพื้นที่พบระเบิดปิงปอง ตามรายงานทางการข่าวพบว่าผู้ชุมนุมพกอาวุธ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่ผลักดัน ผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกเหล็ก หัวน็อต ลูกแก้ว รวมทั้งขว้างปาไม้ ขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่

การปิดล้อมอาคารรัฐสภา ก็นำรั้วลวดหนามที่คล้ายกับใช้ในทางการทหาร และแผงกั้นเหล็กมาวางไว้กลางถนน นำยางรถยนต์ขวางทางและราดน้ำมันบนพื้นผิวจราจร

อีกทั้งยังพบอาวุธที่มีดินระเบิดจากสถานที่ผู้ชุมนุมเข้าไปในภายหลังด้วย

จึงไม่ได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า

เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยตามที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติตามขั้นตอนแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้ว เท่าที่ทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น

ส่วนเหตุที่ไม่สามารถใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งใช้รถส่องสว่างในช่วงค่ำ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีการติดต่อประสานผู้ว่าฯ กทม. แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้

พยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

สำหรับเหตุการณ์ช่วงบ่ายและช่วงค่ำ ที่โจทก์ร้องขอให้ลงโทษนายสมชาย จำเลยที่ 1 พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 เนื่องจาก พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งหลังเกิดเหตุการณ์ช่วงเช้า

การที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับมาปิดล้อมอาคารรัฐสภาหลังจากช่วงเช้า

เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามผลักดันผู้ชุมนุมไปยังถนนอู่ทองใน โดยใช้รถโมบายประชาสัมพันธ์ให้ถอยร่น แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม เรียกพรรคพวกมาเพิ่ม ปิดล้อมรัฐสภา เป็นเหตุให้ ครม. ส.ส. ส.ว. และเจ้าหน้าที่รัฐสภาติดอยู่ในอาคาร

จำเลยที่ 1 ต้องปีนกำแพงหนี

ซึ่งการปลุกระดมผู้ชุมนุมและจะบุกเข้าไปข้างในรัฐสภา ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามขั้นตอนแผนกรกฎ/48

และจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตา เพื่อช่วยเปิดทางให้ผู้ติดอยู่ในรัฐสภาได้ออกมา

แม้พยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแก๊สน้ำตา ยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา

พยานโจทก์ระบุว่า แก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีนมีส่วนประกอบสาร RDX ที่จะเป็นอันตราย และการทดสอบพบแรงการยิงแก๊สน้ำตาทำให้เกิดหลุมกว้าง

แต่พยานจำเลยระบุว่า แก๊สน้ำตาไม่เป็นอันตราย สาร RDX ที่ผสมมีจำนวนน้อยเพื่อให้เกิดการฟุ้งกระจาย

จะไม่เป็นอันตรายหากไม่ผสมรวมกับสารเคมีอื่นอีก 3 ชนิด ที่จะมีฤทธิ์คล้ายระเบิดซีโฟร์

ส่วนที่การทดสอบทำให้เกิดหลุมกว้าง เนื่องจากก่อนทดสอบฝนตก ทำให้ดินนิ่ม

แม้เหตุการณ์จะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

แต่ศาลเห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ

ขณะเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามไม่อาจอนุมานได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุม

ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาหรือเจตนาพิเศษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต

ดังนั้น นายสมชาย จำเลยที่ 1 และ พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-4

ภายหลังศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น

นายสมชาย ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกยินดีที่การต่อสู้ได้รับความยุติธรรม เป็นความทราบซึ้งใจที่ความยุติธรรมยังมีอยู่ ทำให้มั่นใจว่าสถาบันตุลาการยังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

ส่วน พล.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ แยกย้ายเดินทางกลับโดยไม่ปรากฏตัวให้สัมภาษณ์กับสื่อ

ท่ามกลางบรรยากาศมวลชนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มารอฟังคำตัดสิน ต่างตะโกนส่งเสียงด้วยความไม่พอใจว่า “ฆาตกรๆ” “ทำไมไม่ติดคุก” “ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน” บางคนถึงกับร้องไห้

เจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การคุมทีมของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ใช้แผน “กรกฎ 52” ควบคุมมวลชนรอบศาล ป้องกันการเกิดเหตุรุนแรง เช่นเดียวกับที่ใช้ในวันแถลงปิดคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม

แผนกรกฎ 52 นี้ยังจะครอบคลุมถึงสถานการณ์วันที่ 25 สิงหาคม วันตัดสินคดีจำนำข้าวและคดีจีทูจี ที่คาดว่าจะมีมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนมาก

ซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ผลชี้ชะตาคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์วันนั้น จะออกมาเหมือนหรือแตกต่างกับคดีของนายสมชาย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม อย่างไร

เป็นเรื่องต้องเฝ้าลุ้นระทึกกันต่อไป