จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (23) ซ่งในแดนใต้ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (23)

ซ่งในแดนใต้ (ต่อ)

 

หลังจากมีข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ซ่งก็ผ่อนคลายความตึงเครียดด้านความมั่นคงลงมาได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับจินแล้วกลับเกิดความขัดแย้งภายในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง มีการแย่งชิงอำนาจและเข่นฆ่ากันในหมู่เครือญาติสายเลือดเดียวกัน

สาเหตุของความขัดแย้งส่วนหนึ่งมีที่มาจากนโยบายจีนานุวัตรที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ ซึ่งฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย

โดยเฉพาะหลังจากที่จินยึดครองดินแดนทางเหนือของจีนได้ใน ค.ศ.1127 แล้ว ก็ได้มีการเคลื่อนย้ายราษฎรหนี่ว์เจินของตนไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนดังกล่าว แต่ด้วยเหตุที่ชาวหนี่ว์เจินมีอยู่ไม่กี่ล้านคน ในขณะที่ชาวจีนที่เป็นเจ้าของพื้นที่มีอยู่ราว 20 ล้านคน

จึงทำให้ชาวหนี่ว์เจินต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบการเมืองและวัฒนธรรมของจีนไปด้วย

แต่ความขัดแย้งนี้ยังไม่ถึงกับทำให้จินอ่อนแอลง โดยในปลายปี ค.ศ.1161 จินได้ฉีกข้อตกลงสันติภาพที่มีกับจีนทิ้ง แล้วกรีธาทัพลงใต้เพื่อจะยึดครองดินแดนทางใต้ที่ซ่งยึดครองอยู่ให้ได้

การศึกในปีนั้นปรากฏว่า ทัพซ่งสามารถตั้งรับและตีโต้ทัพจินจนล่าถอยกลับไปได้

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้อำนาจต่อรองของจีนมีมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงขึ้นมาใหม่ที่ทำให้ฐานะของจีนดูดีขึ้น

โดยเปลี่ยนจากที่จักรพรรดิจีนเป็น “ข้าพระองค์” มาเป็น “นัดดา” (หลาน) และจินเป็น “ปิตุลา” (อา) แทน และเปลี่ยนคำว่า “บรรณาการรายปี” ที่ต้องส่งให้จินมาเป็นคำว่า “เงินรายปี” และลดจำนวนเงินรายปีจาก 250,000 ตำลึง เหลือ 200,000 ตำลึง ผ้าไหม 250,000 พับ เหลือ 200,000 พับ

ข้อตกลงนี้สำเร็จลงในปี ค.ศ.1165 อันตรงกับรัชสมัยหลงซิงของจักรพรรดิซ่งเซียวจง ข้อตกลงนี้จึงถูกเรียกว่า ข้อตกลงสันติภาพหลงซิง (หลงซิงเหออี้) โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ราวกลาง ค.ศ.1162 ซ่งเกาจงทรงสละราชสมบัติ และผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิสืบแทนเป็นโอรสบุญธรรมของพระองค์ นั่นคือ ซ่งเซี่ยวจง

 

จากความเจริญสู่ความเสื่อม

ยุคสมัยของซ่งเซี่ยวจง (ค.ศ.1127-1194) เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยว่าเป็นยุคทองของราชวงศ์ซ่ง ซ่งเซี่ยวจงทรงจริงจังและพยายามวางพระองค์ตามมาตรฐานจริยธรรมของลัทธิขงจื่อ

พระองค์ทรงใส่ในใจกิจของราชสำนักและเหล่าเสนามาตย์อย่างใกล้ชิดและสมดุล อีกทั้งยังมีนโยบายที่ตรงกันข้ามกับฉินฮุ่ยอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อพระองค์ทรงกอบกู้ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของเยี่ว์ยเฟยและครอบครัว

ตลอดจนเหล่าเสนามาตย์ที่ได้รับความขมขื่นจากนโยบายสันติภาพก่อนหน้านี้

ศพของเยี่ว์ยเฟยถูกย้ายมาฝังใกล้กับทะเลสาบประจิม (ซีหู) ส่วนความสัมพันธ์กับจินในยุคนี้ยังคงอิงอยู่กับข้อตกลงสันติภาพเซ่าซิง เวลานั้นจินเองก็มีจักรพรรดิที่สร้างยุคทองให้กับจินเช่นกัน

ทั้งสองฝ่ายจึงอยู่กันอย่างสงบ

 

อนึ่ง เรื่องของเยี่ว์ยเฟยนี้มีประเด็นที่ควรกล่าวด้วยว่า ในชั้นหลังต่อมายังได้มีการแต่งตั้งให้เขาเป็นกษัตริย์ (หวัง) พร้อมทั้งสร้างอารามเยี่ว์ยหวังให้กับเขา ภายในอารามนอกจากจะมีรูปเคารพของเขาแล้ว ก็ยังมีรูปปั้นหล่อเหล็กของฉินฮุ่ยกับภรรยาในสภาพที่คุกเข่า และถูกมัดมือไพล่หลังอยู่หน้าหลุมศพของเขา นัยว่าเป็นขอขมาลาโทษต่อเยี่ว์ยเฟย

ในสมัยราชวงศ์ชิงบัณฑิตฉินต้าซื่อ (ค.ศ.1715-1777) กับกวีหยวนเหมย (ค.ศ.1716-1797) ได้มาเยือนอารามแห่งนี้ ทั้งสองได้เขียนคำกวีประดับที่หน้าสุสานเอาไว้ด้วย

โดยหยวนเขียนว่า “หลังซ่งสืบมามีน้อยบุคคลที่ใช้ชื่อว่าฮุ่ย” ฉินเขียนว่า “ข้าพเจ้าอยู่หน้าหลุมศพให้รู้สึกอับอายที่มีสกุลว่าฉิน”

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วยุคทองของทุกสังคมมักมีตัวชี้วัดครอบคลุมในหลายด้าน แต่ในบางครั้งก็มีบางด้านที่โดดเด่นเป็นพิเศษ

และในยุคซ่งเซี่ยวจงนี้ด้านที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ความรุ่งเรืองของลัทธิขงจื่อ ลัทธิเต้า และศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่ดำรงอยู่ในจีนมานาน

 

ซ่งเซี่ยวจงครองราชย์มาจนถึงช่วงสองปีสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงป่วยทางจิตจนต้องสละราชสมบัติเช่นเดียวกับราชบิดาบุญธรรมของพระองค์ โดยที่สี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้นจักรพรรดิจินก็สิ้นพระชนม์เช่นกัน

หลังจากนั้นซ่งก็หามีจักรพรรดิที่ปรีชาสามารถเช่นนี้อีก มีแต่จักรพรรดิที่อ่อนแอและยังความเสื่อมถอยมาให้แก่จีน ดังกรณีซ่งหนิงจง (ครองราชย์ ค.ศ.1194-1224) จักรพรรดิที่ทรงตรัสได้อย่างเชื่องช้า และไร้ซึ่งความคิดทางการเมืองที่เป็นของพระองค์เอง

พระองค์ทรงถูกครอบงำโดยมเหสีสกุลหัน พระนางทรงใช้อิทธิพลผลักดันให้ผู้เป็นลุงได้เข้ามามีบทบาทในราชสำนัก ลุงผู้นี้คือ หันทวอโจ้ว

หันทวอโจ้ว (ค.ศ.1151-1207) มีทัศนคติที่ต่อต้านลัทธิขงจื่อ ดังนั้น เมื่อเขาก้าวขึ้นมามีอำนาจจึงได้ขจัดขุนนางที่สมาทานลัทธินี้ในการปกครอง แต่กับราชวงศ์จินแล้วเขามีความคิดต่อต้าน

และในยุคซ่งหนิงจงนี้เองเหล่าเสนามาตย์ทุกระดับ และราษฎรในแดนใต้ต่างเรียกร้องให้ซ่งกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อยึดเอาดินแดนคืนจากหนี่ว์เจิน จากเหตุนี้ หันทวอโจ้วจึงใช้โอกาสนี้จัดทัพไปทำศึกกับจินอย่างเร่งรีบ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับฐานะทางการเมืองของตน

ทัพของเขาจึงขาดความพร้อม และเมื่อเข้าต่อกรกับทัพจินใน ค.ศ.1206 ทัพของเขาจึงพ่ายแพ้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนทัพจินเมื่อได้ชัยก็ถือโอกาสรุกตีลงมาทางใต้จนประชิดชายฝั่งแม่น้ำฉัง

เมื่อเป็นเช่นนี้ หันทวอโจ้วจึงขอเจรจาสงบศึกกับจิน แต่คำขอของเขาถูกปฏิเสธ ในปีถัดมาขุนนางกลุ่มหนึ่งก็ได้สมคบคิดกับมเหสีหยัง (ที่เข้ามาแทนที่มเหสีหันที่สิ้นพระชนม์ไป) และมีเรื่องบาดหมางกับหันทวอโจ้ว ทำการขจัดขุนศึกที่ต่อต้านจินออกไป

พร้อมกันนั้นก็ฆ่าหันทวอโจ้วแล้วตัดศีรษะของเขาไปมอบให้แก่ชาวหนี่ว์เจิน

ศีรษะของหันทวอโจ้วถูกเคลือบน้ำมันแล้วบรรจุลงกล่องในฐานะอาชญากรสงคราม และถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่อารามบรรพชนของตระกูลจักรพรรดิราชวงศ์จิน จากนั้นการเจรจาสงบศึกก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งและจบลงใน ค.ศ.1208

โดยจีนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่จิน 3,000,000 ตำลึง ส่งบรรณาการรายปีเพิ่มจากเดิมเป็นเงิน 300,000 ตำลึง และผ้าไหมอีก 300,000 พับ เพื่อไถ่โทษที่จีนได้ละเมิดข้อตกลงที่ทำกันไว้แต่เดิม จากนั้นทัพจินก็ถอนกำลังกลับไป

 

บุคคลที่ก้าวขึ้นมาแทนหันทวอโจ้วคือ สื่อหมีหย่วน (ค.ศ.1164-1233) ผู้มีส่วนร่วมในแผนสังหารหันทวอโจ้วอย่างลับๆ ความจริงข้อนี้ได้ปกคลุมภาพลักษณ์ของเขาในประวัติศาสตร์จีน ในขณะที่บทบาทของเขาจัดว่ามีอิทธิพลและความเป็นตัวของตัวเองสูง

มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในงานบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา และจงรักภักดีต่อจักรพรรดิและราชวงศ์

เขาเป็นขุนนางที่ทำงานใกล้ชิดกับจักรพรรดินีหยัง ผู้ทรงปรีชาในงานศิลป์และดนตรี และทรงมีไหวพริบปฏิภาณและความมั่นใจทางการเมืองพระองค์หนึ่งของราชวงศ์ซ่ง

สื่อหมีหย่วนมีบทบาทอยู่ในราชสำนักซ่งยาวนาน 24 ปีจนสิ้นชีพใน ค.ศ.1233 โดยเมื่อซ่งหนิงจงสิ้นพระชนม์โดยที่มิได้ตั้งองค์รัชทายาทนั้น เขาได้ร่วมกับจักรพรรดินีหยังในการตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่

ผู้ที่ถูกเลือกให้เป็นจักรพรรดิเป็นเชื้อพระวงศ์ตระกูลเจ้ารุ่นที่สิบ ที่ซึ่งสืบเชื้อสายจากโอรสองค์ที่สองของซ่งไท่จู่ นั่นก็คือ ซ่งหลี่จง (ครองราชย์ ค.ศ.1224-1264) ตอนนั้นลมหายใจของซ่งกำลังแผ่วเต็มที

สัญญาณแห่งการล่มสลายของซ่งเริ่มปรากฏขึ้นอย่างช้าๆ